ถึงนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาในประเทศไทยปีนี้ที่ 10 ล้านคน แต่ความจริงควรมากกว่านั้น เพราะรัฐบาลทำการปราบทัวร์ศูนย์เหรียญ หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่ไม่นำเงินเข้ามาในระบบ ดังนั้นกลุ่มร้านขายสินค้า หรือบริการที่เจาะกลุ่มนี้คงสูญเสียโอกาสทางธุรกิจไม่มากก็น้อย แต่จริงๆ ยังมีช่องทางอื่นที่ช่วยสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
ออนไลน์คือช่องทางใหม่ที่ควรศึกษา
การขายสินค้าผ่านออนไลน์ในปัจจุบันไม่ได้ขายแค่เฉพาะคนไทย แต่ยังขายไปยังประเทศต่างๆ ผ่านหลากหลายแพลตฟอร์มที่รองรับ และไม่ต้องลงทุนเรื่องระบบขนส่ง รวมถึงสต๊อกสินค้าด้วยตนเอง
หลุ่ย แซ่กั๊ว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย วัน มอลล์ จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์ thaionemall.com บอกว่า การจำหน่ายสินค้าผ่านออนไลน์ไปต่างประเทศนั้นทำได้มานานแล้ว แต่ผู้ประกอบการไทยยังไม่มีความรู้เรื่องนี้มากพอ โดยเฉพาะร้านขายสินค้า และบริการที่เจาะกลุ่มชาวต่างชาติ เนื่องจากพวกเขายังเน้นทำตลาดแค่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศ แต่หากนักท่องเที่ยวเหล่านั้นไม่เข้ามา แล้วร้านจะอยู่อย่างไร ดังนั้นการหาแพลตฟอร์มใหม่ เช่นร่วมกับแพลตฟอร์มจองโรงแรม หรือการนำสินค้าขึ้นไปขายบนเว็บไซต์ก็เป็นเรื่องเป็นไปได้
“ก่อนหน้านี้ไทยวันมอลล์ก็ช่วยผู้ค้าไทย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารให้ไปจำหน่ายในจีนได้ ผ่านการตั้งร้านย่อยอยู่บนเว็บไซต์ tmall.hk ในเครือ Alibaba (อาลีบาบา) มีกลุ่มสหพัฒน์ฯ และผู้ผลิตรายอื่นๆ เข้ามาขายสินค้ากับเราเป็นกลุ่มแรกๆ แต่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจำหน่าย จึงยกระดับตัวเองเป็นเว็บไซต์ thaionemall.com เพื่อรองรับสินค้า และบริการอื่นๆ ได้ เพราะช่วงที่อยู่กับเว็บไซต์ tmall.hk ถูกตั้งหมวดหมู่ให้เป็นร้านจำหน่ายเฉพาะสินค้าอาหาร”
ความเป็นไทยคือจุดแข็งถ้าต้องการเจาะจีน
อย่างไรก็ตาม สินค้าที่มีรสชาติไทยๆ หรือมีเอกลักษณ์ไทยอย่างชัดเจน จะช่วยให้การทำตลาดในประเทศจีนง่ายขึ้น เช่นปัจจุบัน “มาม่า” หรือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทย ที่มีรสชาติไทยๆ เป็นที่นิยมในประเทศจีนมาก นอกจากนี้นักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาด้วยตนเองยังมีมากขึ้น และพวกเขาต่างต้องการซึมซับบรรยากาศแบบไทย ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ก็ควรทำตลาดออนไลน์ และเปิดการจองผ่านระบบออนไลน์เช่นกัน เพราะช่วยเพิ่มความชัดเจนในการใช้บริการ และฝั่งเจ้าของกิจการยังคารดการณ์การเข้ามาของนักท่องเที่ยวได้อีกด้วย
สำหรับเว็บไซต์ thaionemall.com รองรับการทำตลาดกับนักท่องเที่ยวชาวจีนเต็มรูปแบบ โดยฝั่งสินค้าจับต้องได้ จะมีคลังสินค้า และพนักงานกว่า 50 คน เพื่อตรวจรับสินค้า และบริหารสต๊อกให้ เช่นกันกับการส่งสินค้าไปประเทศจีน ทางบริษัทจะเป็นผู้ช่วยเหลือให้ทั้งหมดเช่นกัน ส่วนฝั่งสินค้าบริการ ทางเว็บไซต์เริ่มเปิดให้บริการแพลตฟอร์มขายตั๋วใช้บริการต่างๆ เช่นบริการท่องเที่ยว, ที่พัก และบริการความสวยความงาม ตั้งเป้ารายได้ไตรมาสแรกปี 2560 ที่ 50 ล้านบาท ใช้งบการตลาดราว 30 ล้านบาท เพื่อโปรโมทบนสื่อต่างๆ ในจีน
จัดกิจกรรม – ใช้เน็ตไอดอลปั๊มยอดขายก็มี
ขณะเดียวกันไม่ได้มีแค่แพลตฟอร์มการทำตลาดออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ หรือดิจิทัลต่างๆ แต่ยังมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าในประเทศจีนบางรายให้บริการได้มากกว่านั้น
เช่นการจัดกิจกรรมลดราคาสินค้าผลไม้ไทยบนเว็บไซต์ tmall.com และการช่วยโปรโมทผลไม้ไทยในช่องทางดั้งเดิมต่างๆ นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการที่จ้างเน็ตไอดอลชาวจีนเข้ามาช่วยโปรโมทสินค้าให้ แต่ไม่ใช่แบบไทยๆ ที่ให้เน็ตไอดอลถือสินค้า และโพสต์ลงบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก แต่จะใช้วิธีให้เน็ตไอดอลจีนเหล่านั้นไปออกรายการโทรทัศน์ต่างๆ เพื่อนำสินค้าเข้าไปโปรโมท และหากผู้ชมมีความต้องการซื้อ การสามารถกดสั่งซื้อได้ทันที ถือเป็นการทำตลาดอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยเพิ่มยอดขายสินค้าที่เจาะตลาดนักท่องเที่ยวจีนได้
สรุป
การเข้าไปทำตลาดในประเทศจีน จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องยาก เพราะปัจจุบันออนไลน์เข้ามาทำให้โลกไรพรมแดนกว่าเดิม ดังนั้นอยู่ที่ว่าใครจะปรับตัวได้เร็วกว่า ยิ่งสถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ปกติเต็มที่ ดังนั้นการคว้าโอกาสทางธุรกิจดีๆ ไว้ก่อน จึงเป็นเรื่องสำคัญ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา