เปิดผลวิจัย 1 ใน 3 ของคนทั่วโลกเพิกเฉยกระแสรักษ์โลก ต้องใช้กฎหมายมาคุม!

กระแสการตื่นตัวสิ่งแวดล้อมทั่วโลกมาแรงมาก มาดูกันว่าตอนนี้คนทั่วโลกที่เป็นมนุษย์รักษ์สิ่งแวดล้อมตัวยงมีเท่าไร และกลุ่มที่ต่อต้านและเพิกเฉยก็ยังมีอยู่จำนวนไม่น้อย จากผลวิจัยผู้บริโภคทั่วโลกของเต็ดตรา แพ้ค ร่วมกับบริษัท อิปซอสส์ 

สุภนัฐ รัตนทิพ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด

สุภนัฐ รัตนทิพ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด เล่าว่า เทรนด์กลุ่มผู้บริโภคทั่วโลกในตอนนี้มีด้วยกัน 6 กลุ่มใหม่ โดยแต่ละกลุ่มมีทัศนคติที่แตกต่างกันในเรื่องของสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

กลุ่ม Active Ambassadors เปรียบเป็นผู้นำแนวคิดทางสิ่งแวดล้อม ยังมีสัดส่วนที่น้อยราว 8% กลุ่มนี้จะเป็นแกนนำตัวตั้งตัวตีการรณรงค์หรือจัดกิจกรรมสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผู้เอ็นเกจเมนต์ (ENGAGEMENT) หรือเชื่อมโยงระหว่างสิ่งแวดล้อมกับคนทั่วไป

สำหรับการเอ็นเกจเมนต์ กลุ่ม Active Ambassadors ต้องสื่อสารอนาคตของโลกในอนาคต หากมนุษย์ยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โลกจะเป็นอย่างไร หรือสื่อสารถึงชะตากรรมของสัตว์ที่ต้องเผชิญกับโลกที่สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย

กลุ่ม Planet Friends เป็นกลุ่มที่ตื่นตัวกับสิ่งแวดล้อม มีสัดส่วน 14% เมื่อมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับทางด้านสิ่งแวดล้อมก็พร้อมที่จะเข้าร่วมกิจกรรมทันที ไม่ลังเล ถือว่าเป็นกลุ่มที่พร้อมทำ เพราะมองว่าทำแล้วโลกที่อยู่จะดีขึ้น การเอ็นเกจเมนต์สำหรับคนกลุ่มนี้ ต้องสื่อสารว่าเมื่อลงมือทำแล้วจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร

กลุ่ม Followers เป็นกลุ่มที่ติดตามและรับรู้กระแสสิ่งแวดล้อม มีทัศนคติดี มีอยู่สัดส่วนสูงที่สุด 31% แต่พฤติกรรมไม่ได้เป็นกลุ่มที่แอคทีฟ ขณะเดียวกันพร้อมปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือสิ่งแวดล้อม สำหรับการสื่อสารทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกดี เป็นส่วนหนึ่งขับเคลื่อนเพื่อช่วยสิ่งแวดล้อมดีขึ้น

ลุ่ม Health Conscious คนกลุ่มนี้จะให้ความสำคัญสุขภาพนำก่อนสิ่งแวดล้อม มีสัดส่วน 14 % โดยมีพฤติกรรมการซื้ออาหารเพื่อบริโภคต้องดีต่อสุขภาพ จึงเกิดความเชื่อมโยงไปถึงสิ่งแวดล้อม

วิธีการสื่อสารสำหรับกลุ่ม Health Conscious โฟกัสเรื่องการบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือการให้ข้อมูลต่างๆ จะช่วยเปลี่ยนความคิดของคนกลุ่มนี้ให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น

กลุ่มที่ต้องถูกกดดัน ใช้กฎหมายหรือสร้างความอับอาย  มีด้วยกันสองกลุ่มรวมกันมีถึง 36% เมื่อโดนกดแล้ว ถึงจะยอมลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อสิ่งแวดล้อม

กลุ่ม Sceptics จัดว่าเป็นคนมองโลกในแง่ลบ มีสัดส่วน 18%  เชื่อว่ากระแสสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงแค่กระแสที่คนต้องทำตาม และไม่คิดว่าตนเองต้องลงมือทำ ไม่เชื่อเรื่องเทคโนโลยี ยังคงใช้ชีวิตแบบเดิมๆ

กลุ่ม Laggards ประเภทคนที่ไม่รับรู้ว่าต้องเปลี่ยนแปลงอะไร มีไลฟ์สไตล์สบายๆ มีสัดส่วน 18% แต่ถ้าพูดให้ฟังก็เห็นด้วย แต่ไม่ทำ ซึ่งก็ไม่ได้มีความคิดในแง่ลบเหมือนกลุ่ม Sceptics

สรุป

แนวโน้มในอนาคตกลุ่ม Active Ambassadors กับกลุ่ม Planet Friends จะเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนกลุ่ม Sceptics และกลุ่ม Laggards ลดลงอย่างแน่นอน และเมื่อคนทั่วโลกหันมาใส่ใจทางด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ย่อมเป็นโอกาสของสินค้าและบริการที่จะขับเคลื่อนสร้างแบรนด์ สินค้า บรรจุภัณฑ์ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะผู้บริโภคพร้อมยอมจ่ายเงินมากขึ้น หากผลิตภัณฑ์นั้นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากนี้โลกธุรกิจจะมองแต่เรื่องกำไรอย่างเดียวไม่ได้อีกต่อไป

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา