GMM Online Festival คอนเสิร์ตในแอปฯ V Live ความท้าทายกับความสำเร็จที่ต้องรอพิสูจน์

การจัดงานคอนเสิร์ต หรืองานอีเว้นท์ออนไลน์เป็นสิ่งที่เริ่มได้รับการพูดถึงในประเทศไทย ในยุคหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อรับมือกับการใช้ชีวิตแบบ New Normal แต่ความจริงแล้วในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเกาหลีใต้ การจัดงานคอนเสิร์ต หรืองานอีเว้นท์ออนไลน์เกิดขึ้นจริงได้ระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งในประเทศไทย GMM Grammy กำลังจะจัด GMM Online Festival ซึ่งเป็นงานคอนเสิร์ตออนไลน์ครั้งแรกขึ้น

ภาพจากแอปพลิเคชัน V Live

New Normal ช่วงโควิด ศิลปินจัดคอนเสิร์ตออนไลน์ผ่าน V Live

แอปพลิเคชัน V Live เป็นแอปพลิเคชันในเครือบริษัท NAVER ประเทศเกาหลีใต้ มีรูปแบบการหารายได้จากการสมัครสมาชิกของแฟนคลับที่ต้องการติดตามความบันเทิงจากศิลปิน ซึ่งมีทั้งแบบเสียเงิน และไม่เสียเงิน โดยศิลปินหรือค่ายเพลงจะเป็นผู้กำหนดเอง หากเสียเงินก็จะมีราคาประมาณ 139-159 บาทต่อเดือน และนอกจากนี้ยังมีการขายบัตรเข้าชมงานคอนเสิร์ต หรืออีเว้นท์ออนไลน์ด้วยเช่นกัน ซึ่งราคาก็จะแตกต่างกันไปแล้วแต่ค่ายเพลงจะเป็นผู้กำหนดเช่นกัน

ซึ่งงานคอนเสิร์ตออนไลน์บนแอปพลิเคชัน V Live ส่วนใหญ่จะมี Effect ประกอบอย่างสวยงาม เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับตัวคอนเสิร์ต

นอกจากนี้โดยปกติแล้วศิลปินเกาหลีมักจะมีการโปรโมทเพลง อัปโหลดคลิปวีดิโอ รวมถึงมา live พูดคุยกับแฟนคลับผ่านทางแอปพลิเคชัน V Live อยู่บ่อยครั้ง ด้วยจำนวนฐานแฟนคลับที่มีอยู่ทั่วโลก ทำให้เมื่อมีงานคอนเสิร์ตออนไลน์จึงประสบความสำเร็จทั้งในแง่จำนวนผู้ชมและรายได้อย่างสูง

ภาพจาก Facebook ของ SMTOWN

SuperM จัดคอนเสิร์ตออนไลน์ กวาดรายได้ 62.2 ล้านบาท

ตัวอย่างงานคอนเสิร์ตออนไลน์ที่น่าสนใจ เช่น SuperM – Beyond The Future จากวง SuperM บอยแบนด์สัญชาติเกาหลี ซึ่งงานนี้เป็นคอนเสิร์ตออนไลน์ผ่านทางแอปพลิเคชัน V Live ในวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา มีผู้เสียเงินจ่ายค่าบัตรเข้ามาชมกว่า 75,000 คนจาก 109 ประเทศทั่วโลก สร้างรายได้กว่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 62.2 ล้านบาท ซึ่งจำนวนผู้ชมกว่า 75,000 คนนี้ ถือว่ามากเมื่อเทียบกับงานคอนเสิร์ตปกติที่จัดขึ้นในเกาหลีใต้ ที่จะมีผู้ชมประมาณ 10,000 คน

งานคอนเสิร์ตออนไลน์ เรื่องใหม่ในไทย

แม้ว่าในต่างประเทศจะมีการจัดงานคอนเสิร์ตออนไลน์ขึ้นหลายครั้งแล้ว แต่สำหรับประเทศไทยยังคงเป็นเรื่องใหม่อยู่มาก เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่การจัดงานในรูปแบบออนไลน์ในไทย จะเป็นการจัดในรูปแบบงานอีเว้นท์ หรือให้ศิลปินไลฟ์สดผ่านทาง Facebook เพื่อสร้างปฎิสัมพันธ์และความมีส่วนร่วมกับกลุ่มแฟนคลับมากกว่า

ภาพจาก GMM Grammy

แต่ล่าสุด GMM Grammy กำลังจะเป็นผู้บุกเบิกจัดงานคอนเสิร์ตออนไลน์ครั้งแรกในประเทศไทยขึ้น ผ่านทางแอปพลิเคชัน V Live โดยมีศิลปินระดับแม่เหล็กดึงดูดแฟนคลับ คือ เป๊ก ผลิตโชค, Cocktail และ Lomoconic รวมถึงศิลปินอื่นๆ อีกมากมาย รวม 21 ศิลปิน โดยงานคอนเสิร์ตนี้จะจัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน คือวันที่ 4-5 กรกฎาคม ตั้งแต่เวลา 14.00-20.00 น. โดยผู้ที่ต้องการชมคอนเสิร์ตออนไลน์ครั้งนี้ต้องเสียเงินเพื่อซื้อบัตรเข้าชมในราคา 600 V Coin หรือคิดเป็น 350 บาท

ศิลปินแม่เหล็กดึงดูดคนดู

การจัดงานคอนเสิร์ตออนไลน์ของ GMM Grammy ครั้งนี้ มีศิลปินระดับแม่เหล็กอย่างเป๊ก ผลิตโชค ซึ่งถือว่าเป็นศิลปินคนสำคัญคนหนึ่ง ที่จะช่วยผลักดันให้คอนเสิร์ตออนไลน์ครั้งนี้มีผู้ตัดสินใจซื้อบัตรเข้าชมอย่างล้นหลามได้ เนื่องจากที่ผ่านมา “นุช” ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกแฟนคลับของเป๊ก ผลิตโชค มักให้การสนับสนุนเป๊ก ผลิตโชคอย่างดีเสมอมา

รวมถึงจุดเด่นของงานคอนเสิร์ตออนไลน์ครั้งนี้ คือการรวบรวมศิลปินชื่อดังมากมายกว่า 21 ศิลปิน ทำให้แฟนคลับของศิลปินคนใดคนหนึ่ง อาจตั้งใจอยากซื้อบัตรเพื่อชมศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบก็ได้ เพราะศิลปินบางคนก็ยังไม่เคยจัดงานคอนเสิร์ตที่ไหนมาก่อนเช่นกัน บวกกับปัจจัยด้านราคาบัตรที่ไม่ได้แพงมาก คอนเสิร์ตออนไลน์ครั้งนี้ก็อาจประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งไม่ยาก

V Live แอปพลิเคชันจุดแข็งแฟนคลับเกาหลี

การตัดสินใจจัดงานคอนเสิร์ตออนไลน์ของ GMM Grammy บนแอปพลิเคชัน V Live ครั้งนี้ เป็นเหมือนการใช้จุดแข็งของแอปพลิเคชัน V Live ที่เป็นที่รู้จักของกลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลีอยู่แล้ว เพราะที่ผ่านมาศิลปินเกาหลีก็จัดงานในรูปแบบออนไลน์อยู่บ่อยๆ จึงเป็นไปได้ว่ากลุ่มแฟนคลับศิลปินเกาหลีชาวไทย ที่ชอบศิลปินไทยด้วยเช่นกัน ก็อาจสนใจที่จะสนับสนุนเข้าชมงานคอนเสิร์ตของศิลปินไทยในช่องทางที่ตัวเองคุ้นเคย

ยิ่งไปกว่านั้นกลุ่มศิลปินที่เข้าร่วมในงานคอนเสิร์ตครั้งนี้ของ GMM Grammy เป็นศิลปินที่มีแฟนคลับผู้หญิงจำนวนมาก เช่น Cocktail, MeYou และ Tilly Birds ซึ่งที่ผ่านมาผู้หญิงมักมีแนวโน้มที่จะซื้อบัตรคอนเสิร์ต หรือให้การสนับสนุนศิลปินมากกว่าผู้ชายอยู่แล้ว

ภาพจาก pixabay.com

งานคอนเสิร์ตออนไลน์ ความสำเร็จที่อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด

แต่อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าความสำเร็จของคอนเสิร์ตออนไลน์ของศิลปินเกาหลี มีความแตกต่างกันกับศิลปินไทยพอสมควร โดยเฉพาะศิลปินเกาหลีส่วนใหญ่มีฐานแฟนคลับอยู่ทั่วทุกมุมโลก หากไม่ใช่การจัดคอนเสิร์ตในรูปแบบ World Tour แฟนคลับในต่างประเทศก็แทบจะไม่มีโอกาสที่จะได้สนับสนุนศิลปินที่เขารักเลย และยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งทำให้แฟนคลับทั่วโลกที่อาจต้องหยุดงาน อยู่บ้าน ตัดสินใจซื้อบัตรคอนเสิร์ตออนไลน์ง่ายขึ้น

การวางภาพลักษณ์ของศิลปินเกาหลีให้จับต้องยาก ก็มีส่วนทำให้แฟนคลับอยากซื้อบัตรคอนเสิร์ตออนไลน์ เพื่อชมศิลปินที่ตัวเองชอบเหมือนกัน เพราะโอกาสในการเข้าถึงตัวศิลปินเกาหลียากกว่าศิลปินไทยมาก เปรียบเทียบกับศิลปินไทย ที่แฟนคลับสามารถพบเจอได้ทั่วไปตามสถานที่สาธารณะ เข้าไปขอจับมือ ขอลายเซ็น และถ่ายรูปคู่ได้ แต่ศิลปินเกาหลีบางส่วนทำไม่ได้

นอกจากนี้ปัจจัยหลักๆ อีกข้อหนึ่งที่จะทำให้คนทั่วไปตัดสินใจซื้อบัตรคอนเสิร์ต คือ การได้เข้าไปอยู่ในสถานที่เดียวกับศิลปินตัวเป็นๆ ได้อยู่ท่ามกลางคนที่มีความชอบเหมือนๆ กันอีกหลายพันคน รวมถึงบรรยากาศอื่นๆ เช่น ภาพ แสง สี เสียง ที่สัมผัสได้จริงๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่การจัดงานคอนเสิร์ตออนไลน์ไม่สามารถทำได้เลย เพราะแม้แอปพลิเคชัน V Live จะมี Effect พิเศษประกอบการแสดง ช่วยเพิ่มความตื่นตาตื่นใจ แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าสุดท้ายแล้วผู้ชมก็ต้องรับชมผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือ หรือแทบเล็ตของตัวเองอยู่ดี

คอนเสิร์ตออนไลน์ต้องตอบคำถามคนที่กำลังลังเลในการซื้อบัตรได้ว่า คอนเสิร์ตออนไลน์ที่จะจัดขึ้น แตกต่างจากคลิปวิดีโอที่ถูกบันทึกไว้ แล้วเผยแพร่ให้ชมฟรีๆ ผ่านเว็บไซต์ YouTube อย่างไร?

ที่มา – GMM Grammy, Forbes

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา