GMM Grammy ลุยตลาดสตรีมมิ่งด้วยการจับมือ OTV ส่ง OMU แอพพลิเคชั่นดู MV ฟรี ระบบคล้าย YouTube แต่จะจัดการโฆษณาได้เฉียบกว่า ขั้นแรกจะปั่นยอดสมาชิกด้วยโปรโมชั่นชมวิดีโอมาก รับสิทธิ์แลกของ
แม้จะได้ที่ 1 บน YouTube แต่ไม่นอนใจ เพราะในโลกธุรกิจทำที่เดียวไม่ได้
เพิ่งได้รับไปหมาดๆ กับรางวัล Diamond Play Button จาก Youtube เนื่องจาก GMM Grammy เป็น Channel รายแรกของไทยและอาเซียนที่มียอดสมาชิกติดตามสูงถึง 10 ล้านคน และแม้จะขึ้นเป็นเบอร์ 1 บน YouTube ของไทยและอาเซียน แต่ในแง่ธุรกิจจะหยุดอยู่กับที่ก็ไม่ได้
- ล่าสุด GMM ไปจับมือกับ OTV ผู้ให้บริการ VOD (Video On Demand) โดยในเดือนธันวาคมนี้จะออกมาในรูปแบบแพลตฟอร์มดูวิดีโอชื่อ OMU โดยจะเป็นแบบแอพพลิเคชั่นที่รองรับ iOS และ Android รวมถึงบนตัวเว็บไซต์ด้วย
ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) บอกว่า “การจับมือเป็นพันธมิตรกับ OTV เป็นไปตามแผนของแกรมมี่ ที่จะต้องหาช่องทาง Digital ใหม่ๆ ในการขยายฐานลูกค้าอยู่แล้ว”
GMM ค่อนข้างจะเชื่อมั่นในตัวของ OTV เพราะกว่า 4 ปีที่ได้ดำเนินธุรกิจวิดีโอออนดีมานด์ OTV มีพันธมิตรกว่า 200 ราย แถมมียอด UIP เข้าชมวิดีโอบน OTV ต่อเดือนกว่า 17 ล้านราย (ตัวเลขของ OTV เอง) ในตัวของ OTV เองมีคอนเทนต์หลากหลายมาก ทั้งภาพยนตร์ การ์ตูน กีฬา แต่ในส่วน OMU จะเน้นไปที่ตัว MV เป็นหลัก
ดังนั้น หาก OMU ออกมา GMM ก็เชื่อมั่นว่าจะช่วยทำฐานลูกค้าขยายไปมากขึ้น โดยเฉพาะหมวดเพลงไทย เพลงลูกทุ่ง-ลูกกรุง เพราะฐานลูกค้าของพาร์ทเนอร์คือคนไทยเป็นหลัก จากข้อมูลระบุว่า ลูกค้าของ OTV เป็นคนกรุงเทพ 45% ภาคกลาง 29% ภาคเหนือ 7% และที่เหลือเป็นภาคอื่นๆ ส่วนอายุอยู่ระหว่าง 18 – 44 ปี โดยจำนวนนี้ 57% ดูวิดีโอบนมือถือ และอีก 43% ดูบนคอมพิวเตอร์
OTV ส่ง OMU ไม่ใช่แค่ดูวิดีโอ แต่ชวนคนมาซื้อโฆษณาลงแพลตฟอร์มด้วย
ตัว OMU ด้วยรูปแบบแล้วคงไม่ต่างจาก YouTube มากนัก เพราะเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอที่มี channel นำเอาคอนเทนต์มาลง แต่สิ่งที่แตกต่างคือจะไม่มี user ที่เข้ามาใช้งานร่วมเหมือน YouTube จุดนี้ OMU มองว่าเป็นจุดแข็ง โดยเฉาะในการทำการตลาดและโฆษณา เพราะระบบหลังบ้านของ OMU จะสามารถจัดการโฆษณาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การตลาดแบบโปรโมชั่น ดูวิดีโอสะสมแต้ม-ลุ้นรับของ อาจมีปัญหาในระยะยาว?
ในด้านการตลาด OMU จะส่งแคมเปญ “ยิ่งดูมาก ยิ่งได้มาก” โดยจะให้ลูกค้าที่เข้ามารับชมวิดีโอ ใครที่รับชมมาก ก็จะมีสิทธิ์ในการลุ้นระบของรางวัล ผ่านการสะสมแต้มเพื่อแลกหรือลุ้นรับของรางวัล เช่น โทรศัพท์มือถือรุ่นล่าสุด บัตรกาแฟสตาร์บัคส์ ตั๋วหนังในเครือเมเจอร์ รวมถึงบัตรคอนเสิร์ตต่างๆ
แต่ปัญหาคือ ในระยะยาวการเล่นกับโปรโมชั่นเป็นปัญหาแน่ เพราะลูกค้าแทนที่จะจำตัวสินค้า (แพลตฟอร์ม) อาจจะไปจดจำตัวโปรโมชั่น แต่ด้วยฐานคิดของ OMU ที่มองด้วยสายตาแบบสตาร์ทอัพที่ต้องหารเร่งจำนวนฐานสมาชิก ก็ต้องมาวัดกันว่าในระยะสั้นจะได้ผลอย่างไรบ้าง เพราะทางผู้บริหารตั้งเป้าเอาไว้ว่าในปี 2017 นี้ จะต้องมียอดสมาชิกอย่างน้อย 3 – 5 แสนคน (และต้องไม่ลืมว่า OMU จะเปิดให้ใช้บริการกันจริงๆ คือต้นเดือนธันวาคม คำนวณง่ายๆ ก็คือมีเวลาประมาณ 1 เดือนเท่านั้น)
- ลองคิดคำนวณโปรโมชั่นกันง่ายๆ สมมติว่า ยอดวิวถ้าดูจาก YouTube ที่หลายแหล่งข่าวเฉลี่ยไว้ว่า 1,000 จะคิดเป็นเงินประมาณ 1 – 3 เหรียญ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการแสดงผลของโฆษณา แต่ถ้าเอาตัวเลขเฉลี่ยที่ 2 เหรียญ (66.33 บาท) ต่อ 1,000 ครั้ง : กาแฟสตาร์บัคส์ 1 แก้วตกที่ 120 – 150 บาท ก็หมายความว่า ถ้าคิดบนฐานนี้จะต้องมียอดวิวต่อคลิปที่ 2,000 ครั้ง (ซึ่งไม่ได้ยากเลย) แต่เอาเข้จริงทาง OMU ก็ไม่ได้บอกว่าจะคิดยอดวิวที่สอดคล้องกับโปรโมชั่นบนฐานแบบใด แต่ที่แน่ๆ หลักใหญ่ต้องมาจากการชมโฆษณาแน่นอน
ในโลกยุคที่ “คอนเทนต์” ไม่ใช่เจ้าครองนครแต่เพียงผู้เดียว
GMM Grammy ในฐานะเจ้าผู้ครองนครคอนเทนต์มาอย่างยาวนานในสมรภูมิความบันเทิง จนกระทั่งถูกท้าทายด้วยกระแส Digital Disruptive นั่นคือการเข้ามาของแพลตฟอร์มต่างๆ ได้แย่งพื้นที่ทำมาหากินไปไม่น้อย
แม้ว่าจะปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลแค่ไหน เงินรายได้ของแกรมมี่ตอนนี้ก็ยังมาจากสปอนเซอร์เสียเป็นส่วนใหญ่ หรือถ้าดูสัดส่วน (ซึ่งแกรมมี่ไม่บอกตัวเลขที่ชี้ชัด เพราะอ้างว่าบัญชีที่ต้องแยกระหว่างของเดิมกับดิจิทัลยังมีความซับซ้อน) ก็พบว่า ตัวเลขฝั่งดิจิทัลของแกรมมี่ตอนนี้คิดเป็น ครึ่ง-ครึ่งกับของเดิมคือ ซีดี, คอนเสริ์ต, ค่าลิขสิทธิ์ ฯ ความอยู่รอดของธุรกิจเพลงในยุคนี้ไม่ใช่เพียงคอนเทนต์อย่างเดียว แต่คือแพลตฟอร์มด้วย เพราะถ้าดูในสเกลระดับโลกด้าน Audio อย่าง Spotify หรือด้านวิดีโออย่าง YouTube ก็เป็นแพลตฟอร์มที่แกร่ง
แต่ถ้าพูดกันให้ถึงที่สุด มีแต่แพลตฟอร์มอย่างเดียวก็อยู่กันไม่ได้ เพราะคอนเทนต์ดีและมีคุณภาพยังเป็นสิ่งจำเป็น โดยทางแกรมมี่เองก็เชื่อว่า การพัฒนาคอนเทนต์ที่ดีจะเป็นตัวที่ทำให้แพลตฟอร์มอยู่ได้ แต่ถ้าพูดในแง่กลยุทธ์ทางธุรกิจ แกรมมี่ยืนยันเหมือนเคยว่า จะยังคงความเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ต่อไปก่อน ส่วนการขยายแพลตฟอร์ม (ที่ทั้งสำคัญและจำเป็น) ก็จะใช้วิธีจับมือกับผู้ให้บริการรายอื่นๆ ต่อไป
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา