GMM Music หนึ่งในธุรกิจหลักของ GMM Grammy เปิดผลประกอบการปี 2018 มีการเติบโต 22% เป็นการโตมากกว่าตลาดเพลงโลก เป็นผลจากการที่พยายามทรานส์ฟอร์มธุรกิจให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน
เริ่มจากปรับโครงสร้าง แล้วหาโซลูชั่นตอบสนองการ Disruption
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้เป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงของโลก เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาท ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในหลายๆ อุตสาหกรรม แน่นอนว่าธุรกิจ “เพลง” เป็นธุรกิจอันดับต้นๆ ที่ถูกเทคโนโลยีเข้ามา Disrupt เริ่มมีวิวัฒนาการตั้งแต่เทป ซีดี MP3 วอล์กแมน ไอพอด มาจนถึงการสตรีมมิ่งในปัจจุบัน
GMM Grammy หนึ่งในผู้เล่นในตลาดเพลงในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากการเทคโนโลยีเข้ามา Disrupt ตลาดเพลงเช่นกัน ในภายหลังได้ขยายคอนเทนต์ไปยังกลุ่มอื่นๆ มากขึ้น และได้ทำการปรับกลยุทธ์ให้กับหน่วยงาน GMM Music เพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด
ผู้ที่จะมาเล่าเรื่องราวของการปรับตัวครั้งใหญ่ครั้งนี้คงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “ภาวิต จิตรกร” หรือพี่เจ๋อ CEO ของสายธุรกิจ GMM Music บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับตำแหน่งนี้ได้ 2 ปีแล้ว
ภาวิตเริ่มเล่ากระบวนการในการทรานส์ฟอร์มของ GMM Music ว่าได้เริ่มตั้งแต่ปรังโครงสร้างองค์กรก่อนเป็นอย่างแรก ปรับโครงสร้างให้ง่ายขึ้น จากนั้นได้เพิ่มบุคลากรที่มีศักยภาพ เสริมธุรกิจ ปรับคอนเทนต์ให้เข้ากับยุคสมัย
“จริงๆ ตอนนี้ GMM Music ก็ยังอยู่ในช่วงการ Disruption เพียงแต่เราเจอเร็วกว่าธุริจอื่น ขายเทป ซีดีรวยๆ อยู่ดีๆ ก็มีสตรีมมิ่งเข้ามา มีพฤติกรรมใหม่ๆ เราเริ่มจากการปรับโครงสร้างองค์กรที่เป็นรูปธรรมที่สุด 1. เปลี่ยนระบบทั้งหมดให้เป็น One P&L (Profit & Lost) แต่ก่อนมีบริษัทย่อยเยอะ ก็เปลี่ยนเอากำไรมารวมกันทั้งหมด 2. ปรับโครงสร้างให้ง่ายขึ้น และ 3. เติมบุคลากรที่มีศักยภาพของโลกใหม่ คนที่เข้าใจธุรกิจโลกใหม่”
ภาวิตเสริมในเรื่องของการปรับโครงสร้างองค์กรให้เป็นโมเดลง่ายขึ้นนั้น มีเพียงแค่ 3 ฝ่าย ก็คือ ฝ่ายผลิต การตลาด และฝ่ายขายเท่านั้น จากนั้นก็เติมบุคลากรทุกเซ็กเมนต์ เติมให้กว้างขึ้น เติมทีมในธุรกิจโชว์บิซ ดิจิทัล การตลาด มีทีมที่ดูเรื่องบิ๊กดาต้า CRM การสื่อสาร ฝ่ายขาย เป็นการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสำหรับในอนาคตจะเริ่มต่อยอดสร้างธุรกิจใหม่ๆทำธุรกิจร่วมกับแพลตฟอร์ม
ซึ่งภาวิตได้บอกว่า “ตอนนี้สามารถอยู่กับ Disruption ได้อย่างมีความสุขแล้ว มีแนวทางที่ตอบสนองการ Disrupt ได้อย่างดี ต้องดูในอนาคตว่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงอีก”
อัพรายได้โต 22% สวนกระแสตลาดเพลงโลก!
ในปี 2018 ที่ผ่านมาธุรกิจ GMM Music มีรายได้ 3,738 ล้านบาท หรือมีการเติบโต 22% จาก 3,061 ล้านบาทในปี 2017 เรียกว่าเป็นการเติบโตที่มากกว่าปี 2017 ที่โตเพียง 4% เท่านั้น แถมยังเป็นการโตสวนกระแสตลาดเพลงโลกที่โตเพียง 8.1%
ปัจจัยสำคัญที่สร้างการเติบโตมาจากธุรกิจดิจิทัลมูลค่า 860 ล้านบาท เติบโต 37% ธุรกิจ Digital Platform เติบโต 83% เป็นการทำคอนเทนต์ร่วมกับแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Joox, Spotify, LINE TV, Netflix และ AIS Play
ส่วนธุรกิจ Showbiz เติบโตถึง 113% เป็นรายได้ที่รวมทั้งขายบัตร และสปอนเซอร์ ในปีที่ผ่านมามีจัดเฟสติวัลทั้งหมด 3 งาน ได้แก่ Big Mountain Music Festival, นั่งเล่น และ What The Fest
สำหรับธุรกิจลิขสิทธิ์เติบโต 19% ธุรกิจอีเวนต์ และสปอนเซอร์ เติบโต 10% และธุรกิจโรงเรียนดนตรี Academy Business เติบโต 12%
โดยที่ 3 ธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้ GMM Music ได้แก่ ธุรกิจอีเวนต์ และสปอนเซอร์สัดส่วน 40% ธุรกิจดิจิทัล 25% ธุรกิจ Showbiz 15% และอื่นๆ 20%
มีการตั้งเป้าว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ธุรกิจดิจิทัลจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 45% และจะเป็นธุรกิจหลักของ GMM Music ได้แน่นอน
ปัจจุบันหน่วยงาน GMM Music คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 50-55% ของแกรมมี่ กรุ๊ป ในปีนี้ได้ตั้งเป้าการเติบโตที่ 2 หลัก หรือ 10% มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท
เปิด 5 กลยุทธ์ของ GMM Music ปี 2019
- Hit Song สร้างเพลงใหม่มากกว่า 500 เพลง เมื่อสร้างเพลงฮิตก็สามารถสร้างรายได้ต่อไปได้ทั้งในช่องทางดิจิทัล และงานจ้าง งานสปอนเซอร์เน้นเพลงลูกทุ่ง ป็อป ร็อค และอินดี้
2. สร้าง Original Content เป็นการสร้างคอนเทนต์พิเศษเฉพาะแพลตฟอร์มที่เป็นพันธมิตร Joox, Spotify, LINE TV, Netflix และ AIS Play จะมี 100 เพลงในปีนี้ รวมถึงการทำ Collaboration กับศิลปินทั้งในและนอกค่ายทำให้เพลงและศิลปินเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย
3. Showbiz & Merchandising เป็นกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจ Showbiz อีกเท่าตัว เพิ่มการจัดเฟสติวัลขึ้น เพิ่มจัดคอนเสิร์ต และยังมีการผลิตสินค้าเมอร์เชนไดร์สให้โดนใจผู้บริโภคที่จะสามารถจำหน่ายควบคู่กับงานเฟสติวัล หรืองานคอนเสิร์ตได้
4. ธุรกิจลิขสิทธิ์ จะทำให้รูปแบบบริการกับธุรกิจต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่คืนรายได้ให้คนเบื้องหน้า และเบื้องหลัง ล่าสุด GMM Music ได้จับมือกับ Facebook ในเรื่องสิทธิ์การใช้เพลงบนแพลตฟอร์ม เพื่อสนับสนุนให้ผู้ใช้งานได้ใช้เพลงในการประกอบคอนเทนต์ได้อย่างถูกลิขสิทธิ์
5. Online Content ได้รุกธุรกิจออนไลน์ คอนเทนต์เต็มตัว เพื่อขยายฐานลูกค้า มีการเปิดยูนิตใหม่ “ซน” เป็น Online Creator Hub เป็นฮับของคนรุ่นใหม่ในการสร้างสรรค์ออนไลน์คอนเทนต์ของศิลปิน ในปีที่แล้วซนได้ผลิตคอนเทนต์ 13 รายการ ปีนี้จะเพิ่มเป็น 22 รายการ มีวาไรตี้ อาหาร ท่องเที่ยว โฟกัสศิลปิน เอาบิ๊กดาต้าจากคนโซเชียลว่าชอบแบบไหน จริตแบบไหนมาทำเป็นคอนเทนต์
สรุป
ธุรกิจเพลงเป็นธุรกิจที่โดนเทคโนโลยี Disruption เป็นอันดับต้นๆ ซึ่งทางแกรมมี่เองก็มีการปรับตัวมาตลอด ขยายไปยังคอนเทนต์ทีวี ออนไลน์ แต่การปรับให้ธุรกิจเพลงอยู่รอดได้ถือว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก เรียกว่าเป้นการทรานส์ฟอร์มตัวเองเรื่อยๆ ต้องดูต่อไปว่าธุรกิจนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปทางไหนอีก
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา