เพลงไทยยังไม่ตาย GMM MUSIC เปิดกลยุทธ์การเติบโต ปี 62 ทำกำไร 472 ล้านบาท เติบโต 13.2%

ในช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหม่ ทั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง เม็ดเงินโฆษณา และกระแสที่ธุรกิจที่ปรับตัวไม่ทันถูก Disruption แต่ไม่น่าเชื่อว่าธุรกิจเพลงยังคงมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจ

ในปี 2562 ที่ผ่านมา จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) มีรายได้รวมสูงถึง 4,014 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากที่สุดในรอบ 10 ปี กำไร 472 ล้านบาท หรือเติบโต 13.2% เทียบกับปี 2561

ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ธุรกิจที่เติบโตได้ดีของ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ประกอบด้วย

  • ธุรกิจ Digital Music มีรายได้ 1,123 ล้านบาท เติบโต 31% จากปีก่อน
  • ธุรกิจ Showbiz มีรายได้ 524 ล้านบาท เติบโต 36% เติบโตสูงที่สุดในกลุ่มธุรกิจเพลง ซึ่งในปีนี้ตั้งเป้าว่าจะเติบโตเพิ่มอีก 10%
  • ธุรกิจการบริหารลิขสิทธิ์ มีรายได้ 313 ล้านบาท เติบโต 25% จากปีก่อน

ในเชิงของสัดส่วนรายได้ของ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ในปี 2562 ประกอบด้วย

  • ธุรกิจ Sponsorship & Artist Management มีรายได้ 1,408 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 35%
  • ธุรกิจ Digital Music มีรายได้ 1,123 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 28%
  • ธุรกิจ Showbiz มีรายได้ 524 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13%
  • ธุรกิจการบริหารลิขสิทธิ์ มีรายได้ 313 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8%
  • ธุรกิจ Trading มีรายได้ 301 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7%
  • ธุรกิจอื่นๆ มีรายได้ 345 ล้านบาท คิดเป็นส่ดส่วน 9%

ส่วนสภาวะเศรษฐกิจ และสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ในปัจจุบัน ภาวิต จิตรกร มองว่าได้รับผลกระทบไม่มาก เพราะงานคอนเสิร์ตส่วนจะจัดขึ้นในช่วงปลายปี  และมียอดขอคืนบัตรเพียง 1% เท่านั้น แต่จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ต้องมีการเตรียมความพร้อมเรื่องมาตรการดูแลสุขภาพเช่นกัน ทั้งการติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย จัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และแจกหน้ากากอนามัยให้กับผู้เข้าชมคอนเสิร์ตทุกคน

กลยุทธ์ทางธุรกิจแบบบันได 3 ขั้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นที่ 2

ซึ่งความสำเร็จของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค เกิดขึ้นได้เพราะกลยุทธ์ทางธุรกิจแบบบันได 3 ขั้น ซึ่งบันไดขั้นที่ 1 คือสิ่งที่ได้ทำมาตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ดำรงตำแหน่ง ได้แก่

  • Restructure การปรับโครงสร้าง ต้องเป็นการปรับเพื่อร่วมมือกันระหว่างความเชี่ยวชาญแบบเดิม และความเชี่ยวชาญแบบใหม่ ให้ทุกคนทำหน้าที่ที่ตัวเองถนัดมากที่สุด
  • Refocus การทำสิ่งเดียวให้ดีที่สุด จัดระบบทีมงานและองค์กรให้เน้นความสำคัญกับสิ่งเดียว แล้วทำให้ดี เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
  • Restabilize การสร้างเสถียรภาพของรายได้และกำไรให้เติบโตอย่างมั่นคง รวมถึงการหาแหล่งรายได้ใหม่ มีการวัดผลที่ชัดเจน

ซึ่งในปี 2563 นี้ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค กำลังก้าวเข้าสู่กลยุทธ์บันไดขั้นที่ 2 เพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยมีทั้งหมด 7 องค์ประกอบ ดังนี้

7 กลยุทธ์ในบันไดขั้นที่ 2 ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างการเติบโตใน 5 ปีต่อจากนี้

1. New Content Strategy & New Artist Development คือการสร้างแนวเพลงใหม่ๆ ให้ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ โดยจะเน้นไปที่การออกเพลงแบบ Full Album อีกครั้งหนึ่ง โดยไม่จำกัดว่าศิลปินจะต้องอยู่ภายใต้สังกัดของ จีเอ็มเอ็ม มิวสิคเท่านั้น แต่จะเป็นการร่วมมือกับศิลปินจากทุกค่ายในไทย รวมถึงจะมีการร่วมมือตลาดภาพยนตร์ และละคร เพื่อทำ Original Sound Track ซึ่งในปัจจุบันได้เริ่มทำกับช่อง 7 ไปแล้ว

นอกจากนี้การสร้างศิลปินใหม่ๆ ก็มีความสำคัญเช่นกัน จีเอ็มเอ็ม มิวสิค เตรียมใช้เงินกว่า 300 ล้านบาทเพื่อสร้างศิลปินใหม่ๆ อีกกว่า 300 คน ทั้งในรูปแบบของศิลปินเดี่ยว และกลุ่ม

2. Showbiz Expansion ที่ผ่านมาจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ถือว่าเป็นผู้นำในธุรกิจ Showbiz ซึ่งในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ จะมีการขยายธุรกิจ Showbiz ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ Music Festival, Solo Concert, Them Concert, และ Promoter ซึ่งในปีนี้วางแผนจะจัดทั้งหมด 40 งาน มากกว่าปีที่แล้วที่จัดประมาณ 30 งาน

ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)

3. Artist Product สินค้าศิลปิน คือสินค้าที่ศิลปินเป็นเจ้าของสินค้านั้นจริงๆ แต่จะมีทาง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่เป็นผู้ลงทุนให้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเปิดตัวสินค้าศิลปินไปแล้ว 1 ตัว คือน้ำหอมของเป๊ก ผลิตโชค และประสบความสำเร็จอย่างดี และในปีนี้จะวางแผนเปิดตัวสินค้าศิลปินอีก 4 ชิ้น

4. Industry Aggregation คือการรวบรวมพันธมิตรในการทำธุรกิจร่วมกันเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งที่ผ่านมาจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ได้ร่วมมือกับค่ายเพลงเกือบทุกค่ายเพื่อจัดหน่าย MP3 แต่ในอนาคตจะจับมือกันทำ Digital Platform ด้วย

5. Media Partnership ในปีนี้ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จะจับมือกับสื่อชั้นนำทั่วประเทศ ทั้งสื่อทีวี วิทยุ สื่อ Outdoor รวมถึงสื่อภาพยนตร์ เพื่อสร้างการเข้าถึง และการรับรู้ทั่วประเทศ

6. Mergers & Acquisitions

จีเอ็มเอ็ม มิวสิค มีกลยุทธ์ที่จะเข้าซื้อกิจการเพื่อสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว โดยในอนาคตจะมีการเข้าซื้อกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ Showbiz และ Event เพื่อสร้างการเติบโต

7. Data Creativity ในปัจจุบัน จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ให้ความสำคัญกับ Data หรือข้อมูลไม่ใช่แค่ในเชิงสถิติ แต่รวมถึงด้านการสร้างสรรค์ด้วย โดยมี Data Scientist ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจเพลง เพราะ Data สามารถนำมาคาดการณ์ได้ว่าโอกาสทางการค้า การทำเพลงให้ได้รับความนิยม การสร้างคอนเสิร์ตให้ขายบัตรได้หมด รวมถึงสร้างรูปแบบเพลงที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่มได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา