ในช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหม่ ทั้งกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง เม็ดเงินโฆษณา และกระแสที่ธุรกิจที่ปรับตัวไม่ทันถูก Disruption แต่ไม่น่าเชื่อว่าธุรกิจเพลงยังคงมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจ
ในปี 2562 ที่ผ่านมา จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) มีรายได้รวมสูงถึง 4,014 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากที่สุดในรอบ 10 ปี กำไร 472 ล้านบาท หรือเติบโต 13.2% เทียบกับปี 2561
ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า ธุรกิจที่เติบโตได้ดีของ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ประกอบด้วย
- ธุรกิจ Digital Music มีรายได้ 1,123 ล้านบาท เติบโต 31% จากปีก่อน
- ธุรกิจ Showbiz มีรายได้ 524 ล้านบาท เติบโต 36% เติบโตสูงที่สุดในกลุ่มธุรกิจเพลง ซึ่งในปีนี้ตั้งเป้าว่าจะเติบโตเพิ่มอีก 10%
- ธุรกิจการบริหารลิขสิทธิ์ มีรายได้ 313 ล้านบาท เติบโต 25% จากปีก่อน
ในเชิงของสัดส่วนรายได้ของ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ในปี 2562 ประกอบด้วย
- ธุรกิจ Sponsorship & Artist Management มีรายได้ 1,408 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 35%
- ธุรกิจ Digital Music มีรายได้ 1,123 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 28%
- ธุรกิจ Showbiz มีรายได้ 524 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 13%
- ธุรกิจการบริหารลิขสิทธิ์ มีรายได้ 313 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 8%
- ธุรกิจ Trading มีรายได้ 301 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7%
- ธุรกิจอื่นๆ มีรายได้ 345 ล้านบาท คิดเป็นส่ดส่วน 9%
ส่วนสภาวะเศรษฐกิจ และสถานการณ์ไวรัส COVID-19 ในปัจจุบัน ภาวิต จิตรกร มองว่าได้รับผลกระทบไม่มาก เพราะงานคอนเสิร์ตส่วนจะจัดขึ้นในช่วงปลายปี และมียอดขอคืนบัตรเพียง 1% เท่านั้น แต่จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ต้องมีการเตรียมความพร้อมเรื่องมาตรการดูแลสุขภาพเช่นกัน ทั้งการติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย จัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และแจกหน้ากากอนามัยให้กับผู้เข้าชมคอนเสิร์ตทุกคน
ซึ่งความสำเร็จของจีเอ็มเอ็ม มิวสิค เกิดขึ้นได้เพราะกลยุทธ์ทางธุรกิจแบบบันได 3 ขั้น ซึ่งบันไดขั้นที่ 1 คือสิ่งที่ได้ทำมาตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ดำรงตำแหน่ง ได้แก่
- Restructure การปรับโครงสร้าง ต้องเป็นการปรับเพื่อร่วมมือกันระหว่างความเชี่ยวชาญแบบเดิม และความเชี่ยวชาญแบบใหม่ ให้ทุกคนทำหน้าที่ที่ตัวเองถนัดมากที่สุด
- Refocus การทำสิ่งเดียวให้ดีที่สุด จัดระบบทีมงานและองค์กรให้เน้นความสำคัญกับสิ่งเดียว แล้วทำให้ดี เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
- Restabilize การสร้างเสถียรภาพของรายได้และกำไรให้เติบโตอย่างมั่นคง รวมถึงการหาแหล่งรายได้ใหม่ มีการวัดผลที่ชัดเจน
ซึ่งในปี 2563 นี้ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค กำลังก้าวเข้าสู่กลยุทธ์บันไดขั้นที่ 2 เพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยมีทั้งหมด 7 องค์ประกอบ ดังนี้
1. New Content Strategy & New Artist Development คือการสร้างแนวเพลงใหม่ๆ ให้ครอบคลุมทุกหมวดหมู่ โดยจะเน้นไปที่การออกเพลงแบบ Full Album อีกครั้งหนึ่ง โดยไม่จำกัดว่าศิลปินจะต้องอยู่ภายใต้สังกัดของ จีเอ็มเอ็ม มิวสิคเท่านั้น แต่จะเป็นการร่วมมือกับศิลปินจากทุกค่ายในไทย รวมถึงจะมีการร่วมมือตลาดภาพยนตร์ และละคร เพื่อทำ Original Sound Track ซึ่งในปัจจุบันได้เริ่มทำกับช่อง 7 ไปแล้ว
นอกจากนี้การสร้างศิลปินใหม่ๆ ก็มีความสำคัญเช่นกัน จีเอ็มเอ็ม มิวสิค เตรียมใช้เงินกว่า 300 ล้านบาทเพื่อสร้างศิลปินใหม่ๆ อีกกว่า 300 คน ทั้งในรูปแบบของศิลปินเดี่ยว และกลุ่ม
2. Showbiz Expansion ที่ผ่านมาจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ถือว่าเป็นผู้นำในธุรกิจ Showbiz ซึ่งในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ จะมีการขยายธุรกิจ Showbiz ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ Music Festival, Solo Concert, Them Concert, และ Promoter ซึ่งในปีนี้วางแผนจะจัดทั้งหมด 40 งาน มากกว่าปีที่แล้วที่จัดประมาณ 30 งาน
3. Artist Product สินค้าศิลปิน คือสินค้าที่ศิลปินเป็นเจ้าของสินค้านั้นจริงๆ แต่จะมีทาง จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่เป็นผู้ลงทุนให้ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเปิดตัวสินค้าศิลปินไปแล้ว 1 ตัว คือน้ำหอมของเป๊ก ผลิตโชค และประสบความสำเร็จอย่างดี และในปีนี้จะวางแผนเปิดตัวสินค้าศิลปินอีก 4 ชิ้น
4. Industry Aggregation คือการรวบรวมพันธมิตรในการทำธุรกิจร่วมกันเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งที่ผ่านมาจีเอ็มเอ็ม มิวสิค ได้ร่วมมือกับค่ายเพลงเกือบทุกค่ายเพื่อจัดหน่าย MP3 แต่ในอนาคตจะจับมือกันทำ Digital Platform ด้วย
5. Media Partnership ในปีนี้ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จะจับมือกับสื่อชั้นนำทั่วประเทศ ทั้งสื่อทีวี วิทยุ สื่อ Outdoor รวมถึงสื่อภาพยนตร์ เพื่อสร้างการเข้าถึง และการรับรู้ทั่วประเทศ
6. Mergers & Acquisitions
จีเอ็มเอ็ม มิวสิค มีกลยุทธ์ที่จะเข้าซื้อกิจการเพื่อสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว โดยในอนาคตจะมีการเข้าซื้อกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ Showbiz และ Event เพื่อสร้างการเติบโต
7. Data Creativity ในปัจจุบัน จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ให้ความสำคัญกับ Data หรือข้อมูลไม่ใช่แค่ในเชิงสถิติ แต่รวมถึงด้านการสร้างสรรค์ด้วย โดยมี Data Scientist ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจเพลง เพราะ Data สามารถนำมาคาดการณ์ได้ว่าโอกาสทางการค้า การทำเพลงให้ได้รับความนิยม การสร้างคอนเสิร์ตให้ขายบัตรได้หมด รวมถึงสร้างรูปแบบเพลงที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่มได้
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา