หนึ่งในจุดอ่อนของคนไทยคือ ภาษา ทุกวันนี้คนไทยอาจจะใช้งานภาษาอังกฤษได้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอ แหล่งความรู้ โอกาสในชีวิต มีอยู่มากมายหากเราสามารถใช้งานภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่ว นี่เป็นแนวคิดที่ ธกานต์ อานันโทไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ Globish บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจนี้
ย้อนเวลากลับไปสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ธกานต์ เป็นนักศึกษาไปออกค่ายทำอาสาสมัครสอนภาษาอังกฤษ พบว่า ในต่างจังหวัดของไทย ครูภาษาอังกฤษแต่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ และยังต้องสอนวิชาอื่นๆ อีกหลายวิชาด้วย ทำให้เห็นภาพว่าประเทศไทย ไทยมีครูไม่เพียงพอกับความต้องการ ไม่มีเวลาพัฒนาตัวเองเพราะต้องดูแลวิชาอื่นๆ ด้วย ทำให้การศึกษาไม่ได้คุณภาพเท่าที่ควร
ทางแก้ที่รวดเร็วคือ หาครูต่างชาติมาสอน แต่ก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงอยู่ดี
นี่คือสิ่งที่จุดประกายให้ ธกานต์ อยากยกระดับให้กับสังคมไทยเข้าถึง เรียนรู้ และสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น
จุดเริ่มต้น Globish กับการเป็น Social Enterprise
ธกานต์ เล่าว่า การเริ่มทำธุรกิจ มี 3 แนวทางให้เลือกคือ เป็น Social Enterprise หรือ SE ซึ่งสมัยนั้นยังใหม่มากในไทย หรือเป็น SME ทำธุรกิจเต็มๆ ตามปกติ หรือจะเป็น Startup สร้างการเติบโต ระดมทุนเพื่อให้เกิดธุรกิจ
สุดท้าย Globish เริ่มจากการเป็น SE ก่อน เพราะความต้องการของเราคือการสร้าง Impact ให้เกิดกับสังคม เราอยากช่วยสังคมให้เข้าถึงภาษาอังกฤษ เกิดเป็นคอร์สเรียนภาษาอังกฤษ 25 นาที ราคา 80 บาทเท่านั้น
“เวลาเรียน 25 นาที เพราะภาษาอังกฤษ เป็นทักษะที่ต้องเรียนบ่อยๆ เรียนเรื่อยๆ แต่ไม่ต้องเรียนนาน จะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า”
ผ่านไป 1 ปี Globish ได้รางวัลเยอะมาก เป็นธุรกิจที่ทำเพื่อสังคม ให้คนพิการ คนด้อยโอกาสได้เรียนภาษาอังกฤษ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ช่วยให้พวกเขามีงานทำที่มั่นคงเท่าที่ควร และที่สำคัญคือ ไม่สามารถสร้างการเติบโตและรายได้ได้ที่ดี
ก้าวที่สอง Globish กับการเป็น SME และเจอคู่แข่งทุ่มตลาด!
ธกานต์ บอกว่า มีการประชุมและตัดสินใจว่า จะเปลี่ยนมาเป็น SME ดีกว่า นั่นคือ ต้องมีความเป็นธุรกิจมากขึ้นเพื่อให้บริษัทอยู่รอด แต่เป้าหมายด้านการช่วยสังคมยังอยู่ ถือเป็น Passion หลักของทุกคน แต่ถ้าธุรกิจอยู่ไม่ได้ ก็ไม่สามารถช่วยสังคมได้ จากนั้น จึงเริ่มผลักดัน Globish เข้าสู่มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในหลักสูตรอินเตอร์ และเร่ิมจับกลุ่มคนทำงานที่อยากพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ แต่ไม่มีเวลาเรียน
กล่าวได้ว่า นี่คือการมี 2 ฐานลูกค้าสำคัญของ Globish กลุ่มแรกคือ การเข้าร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และกลุ่มที่สองคือคนทำงาน ที่สามารถเรียนออนไลน์เวลาไหนก็ได้ จะเรียนดึกๆ หรือเช้าๆ ก็ไม่มีปัญหา ทำให้ธุรกิจเริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้น
แต่แล้วเวลานั้น ก็มีคู่แข่งจากต่างประเทศเริ่มเข้ามา ต้องบอกว่า ในตลาดธุรกิจสอนภาษา จะมีกลุ่มสถาบันที่เรียนแบบออฟไลน์อยู่แล้ว ซึ่งหลายคนรู้จักดี แต่เป็นคนละกลุ่มเป้าหมายกัน ส่วน Globish จะเป็นแพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ ที่เจอคู่แข่งออนไลน์โดยตรง เข้ามาทุ่มใช้งบการตลาด
“เราเพิ่งเริ่มตั้งตัวได้ และรายได้ก็ยังน้อย งบการตลาดยังไม่มี แต่เจอกับคู่แข่งจากต่างประเทศที่ระดมทุนเข้าด้วยงบระดับสิบล้านร้อยล้าน และนั่นคือจุดที่รู้ว่า Globish ไม่สามารถแข่งด้วยได้”
ก้าวที่สามกับการเป็น Startup ระดมทุนเพื่อเติบโต
เป็นอีกครั้งที่ Globish ต้องประชุมหารือกัน และตัดสินใจว่า เราต้องเป็น Startup ต้องระดมทุนเพื่อสร้างธุรกิจให้เติบโตขึ้น ซึ่งในการไปงานระดมทุนครั้งแรก สิ่งที่ได้ไม่ใช่เงิน แต่เป็น Mentor ที่สอนการเป็น Startup ตั้งแต่แนวคิด เป้าหมาย และการลงมือทำ
ธกานต์ บอกว่า นั่นคือครั้งแรกที่รู้เลยว่า แนวคิดต่างกัน ไม่ได้มีแนวทางไหนผิด แต่อยู่ที่วางธุรกิจเราต้องการเดินไปในทิศทางไหน ถ้าเป็น Startup ต้องมองว่าจะเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้อย่างไร จะชนะคู่แข่งได้อย่างไร จะขยายตลาดต่างประเทศได้อย่างไร เป้าหมาย ไม่ได้อยู่ที่กำไร แต่คือการสร้างการเติบโตที่แข็งแรงและมั่นคง
จากนั้น หลายคนอาจจะเคยเห็น Globish ไปออกรายการเสือติดปีก นั่นคือครั้งแรกที่นำเสนอแผนธุรกิจ แล้วได้รับเงินทุน ได้สร้างการรับรู้ในวงกว้าง และได้มั่นใจว่า Startup คือทางที่ต้องเดินต่อไปในอนาคต
Globish กับจุดเด่นของธุรกิจที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
สิ่งที่โดดเด่นและแตกต่างของ Globish คือ นอกจากสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง 2-3 เท่าทุกปีแล้ว ต้องทำให้ถูกใจลูกค้าทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกคือ ผู้เรียน ตามแนวคิดว่า เรียนสั้นๆ แต่เรียนบ่อยๆ จะได้ผลดีกว่า ดังนั้น ต้องสามารถเลือกเรียนเวลาไหนก็ได้ มีการการันตีว่าเรียนแล้ว สามารถนำไปใช้งานได้จริง ค่าบริการถูกกว่าที่อื่น เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
การคิดค่าบริการ ประมาณ 30,000-36,000 บาทในระยะเวลา 6 เดือน สามารถเรียนแบบ 1-1 ได้ 24 ชั่วโมง, สามารถฝึกกับ AI ได้, มีระบบ e-Learning ช่วยในการเรียนรู้ มีวิดีโอสามารถดูย้อนหลังได้ และมีกลุ่ม Workshop ให้มาฝึกร่วมกันได้ด้วย จึงเรียกว่าคุ้มค่าที่สุด
ฝ่ายที่สองคือ ผู้สอน ที่มีอยู่ 400-500 คน ส่วนสำคัญคือต้องทำให้ผู้สอนมีรายได้ที่ดี ผู้สอน 1 คนสามารถสอนได้มากกว่า 2 คลาสต่อวัน ย่ิงสอนมากยิ่งมีรายได้มากขึ้น ปีที่ผ่านมา Globish มีจำนวนคลาสสอนมากกว่า 3 แสนคลาส เป็นเรื่องการันตีว่า ผู้เรียนเรียนเวลาไหนก็ได้ตามสะดวก ผู้สอนมีคลาสสอนมากพอเพื่อรายได้ที่ดี
นอกจากการเรียนแบบ B2C ที่กล่าวมาแล้ว ยังมีคลาสแบบ B2B คือเข้าไปสอนให้กับองค์กรที่ต้องการพัฒนาภาษาอังกฤษให้กับพนักงาน โดยจะออกแบบและพัฒนาหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการขององค์กรนั้นๆ โดยเฉพาะ ดังนั้น Globish จึงสามารถการันตีได้ว่า เมื่อเรียนจบแล้วจะสามารถใช้งานได้จริง
ก้าวต่อไปของ Globish กับการขยายธุรกิจ สร้างการเติบโต
Globish สอนภาษาอังกฤษออนไลน์ที่ไทย และขยายตลาดไปเวียดนามเรียบร้อยแล้ว เป็น SME จะทำสิ่งนี้ไม่ได้ ต้องเป็น Startup เท่านั้น
ส่วนการทำธุรกิจแบบ B2B นอกจากการเข้าไปสอนให้กับพนักงานองค์กร ยังมีการพัฒนาหลักสูตรสำหรับสถาบันการศึกษา คือ การเรียนเพื่อเป็น Entrepreneurship แต่เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจอย่างแท้จริง และต้องเรียนรู้เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อออกไปลุยตลาดโลกได้ตั้งแต่วันแรก
ธกานต์ บอกว่า ภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ทักษะ แต่เป็นวิธีคิด ถ้าสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ จะเปลี่ยนวิธีคิดให้กับคน เปลี่ยนบุคลิกใหม่ทั้งหมด จะมีความมั่นใจมากขึ้น และเป็นโอกาสไปสู่ความสำเร็จได้มากขึ้น
ฝากข้อคิดถึงคนทำธุรกิจ ยุคใหม่ต้อง Hybrid
จากประสบการณ์ที่ทำธุรกิจมา ข้อคิดที่อยากฝากถึงคนทำธุรกิจยุคใหม่ ต้องมีแนวคิดแบบ Hybrid คือมีความเป็น SME และ Startup ไปด้วยกัน จะมีแค่อย่างใดอย่างหนึ่งไม่เพียงพอแล้ว ต้องคิดถึงรายได้ กำไร ลูกค้า ตั้งแต่วันแรก และต้องคิดถึงการใช้เทคโนโลยี การเติบโตขยายตลาดและการระดมทุนไปด้วยเลย จะเพิ่มโอกาสได้มากกว่า
การสร้างคนเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากต้องหาคนเก่งมาร่วมงานแล้ว ต้องสร้างคนเก่งๆ ขึ้นมาด้วย และที่สำคัญมากๆ คือต้องมองหา Mentor เก่งๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศมาพัฒนาตัวเอง
สุดท้าย ธกานต์ บอกว่า Globish ยังมีความฝันมีเป้าหมายเดิม คือ การช่วยใหัคนไทย สังคมไทยเข้าถึง และใช้งานภาษาอังกฤษได้มากขึ้น ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แต่ต้องรู้ว่า การจะช่วยจุดนั้นได้ Globish ต้องแข็งแรงเพียงพอที่จะยืนหยัดด้วยตัวเองได้ด้วยเช่นกัน
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา