CGTN สื่อรัฐบาลจีนรายงานถึงเศรษฐกิจหลายประเทศในโลกได้รับผลกระทบหนักหลังโควิด-19 ระบาด คาดว่าน่าจะฟื้นตัวได้ครึ่งปีหลังจากนี้ ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศด้วย ทั้งค้าปลีก ธุรกิจการบิน การท่องเที่ยว การค้าล้วนได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดประเทศทั้งหลาย
ในเอเชีย CGTN เริ่มรายงานจากประเทศไทยก่อน โดยระบุว่า GDP ไทยหดตัวอยู่ที่ -12.2% ถือเป็นการหดตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงิน 1997 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศและการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ในไตรมาส 2 นี้ ตัวเลขของนักท่องเที่ยวที่เข้าประเทศแทบจะเป็น 0 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงหลังโควิด-19 ระบาดอย่างรวดเร็ว จนต้องใช้มาตรการควบคุม
สิงคโปร์ก็มีการพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศและการท่องเที่ยวเช่นกัน GDP หดตัวอยู่ที่ -13.2% YOY และหดตัวอยู่ที่ -42.9% เทียบไตรมาสต่อไตรมาส เศรษฐกิจสิงคโปร์หดตัวต่อเนื่องกัน นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค (technical recession) นับว่าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2009 (ที่มีวิกฤตการเงินเช่นกัน)
ขณะที่มาเลเซียนั้น เศรษฐกิจหดตัวไม่แพ้กัน อยู่ที่ -17.1% YOY และเป็นการหดตัวครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินช่วง 1998 (เหมือนไทย) มาตรการและข้อจำกัดต่างๆ เพื่อป้องกันโรคระบาด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นการผลิตหรือการบริโภคถูกจำกัดลง ผลก็คือทำให้เกิดภาวะช็อกต่อความต้องการซัพพลายรวมถึงการลงทุนทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชนด้วย
ด้านอินโดนีเซียนั้น ถือว่าเศรษฐกิจหดตัวเบาสุดถ้าเทียบกับหลายประเทศที่ระบุไว้ข้างต้น อยู่ที่ -5.32% YOY ในไตรมาสสอง หดตัวแย่ที่สุดนับตั้งแต่ 1999 (หลังเกิดวิกฤตการเงินได้ 2 ปี)
ไม่ใช่แค่ในเอเชียที่มีเศรษฐกิจเสียหายอย่างหนักกันถ้วนหน้า แต่ยังมีมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาด้วย ซึ่งถ้าเทียบระหว่างเศรษฐกิจยุโรปและอเมริกานั้น CGTN ระบุว่า แย่พอๆ กัน
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาสสองจีดีพี -32.9% สูงกว่าไตรมาสแรกที่หดตัวเกือบ -4.8% นับเป็นภาวะเศรษฐกิจที่แย่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 1947 (ช่วงสงครามเย็น โลกแบ่งเป็นสองฝ่ายระหว่างมหาอำนาจฝ่ายเสรีนิยม: สหรัฐอเมริกา และฝ่ายสังคมนิยม: สหภาพโซเวียต/ รัสเซียและอดีตพันธมิตรเก่า)
ขณะที่เศรษฐกิจของฝั่งประเทศยุโรป ไตรมาส 2 ของปีนี้ เศรษฐกิจหดตัวอยู่ที่ -11.9% ไตรมาสก่อนหน้าหดตัวอยู่ที่ -14.4% ถือเป็นการหดตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 1995 ทั้งนี้ เศรษฐกิจอังกฤษหดตัวสูงถึง -20.4% ถือว่าหดตัวครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่ปี 1955 ขณะที่ไตรมาสแรกนั้นหดตัวอยู่ที่ -2.2% เท่านั้น เศรษฐกิจของอังกฤษก็เข้าสู่ภาวะถดถอยเช่นกัน ด้านอิสราเอล เศรษฐกิจหดตัวอยู่ที่ -28.7% หดตัวครั้งใหญ่สุดในรอบกว่า 40 ปี
เศรษฐกิจนานาประเทศจะฟื้นตัวกลับมาได้ต้องอาศัยมาตรการและความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของรัฐด้วย ในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 นี้ คาดว่าเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น ในส่วนของรัฐบาลเยอรมนีกำลังพิจารณาขยายการสนับสนุนให้มีการจ้างงานระยะสั้นเพิ่มขึ้นอีก 24 เดือนและอาจต้องใช้งบราว 1 หมื่นล้านยูโร หรือประมาณ 3.71 แสนล้านบาท
ขณะเดียวกันสิงคโปร์ก็ประกาศมาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อต่อสู้กับโควิด-19 เช่นกัน อยู่ที่ 5.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.86 แสนล้านบาท ด้านอิสราเอลก็เตรียมงบสำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจอยู่ที่ 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7.88 หมื่นล้านบาท
ส่วนจีน เศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว จากไตรมาสแรกหดตัวอยู่ที่ -6.8% กลับมาเติบโตอยู่ที่ไตรมาสสองราว 3.2% นอกจากนี้ CGTN ยังอ้างถึงผลสำรวจจาก AFP ที่มีการคาดการณ์ว่าจีนจะเป็นประเทศเดียวที่มีเศรษฐกิจเติบโตในปีนี้ เศรษฐกิจจีนเริ่มกลับมาดีขึ้นช่วงกลางเดือนมีนาคม หลังจากที่มีการส่งออกสินค้าด้านการแพทย์อย่างมาก ตลอดจนการสนับสนุนใช้สินค้าที่ทำจากจีนก็ส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้นด้วย Lu Ting นักเศรษฐศาสตร์จีนจาก Nomura กล่าว
ที่มา – CGTN
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา