ทางรอด Gig Worker ไทย: ความท้าทายใหม่ของแรงงานนอกระบบภายใต้วิถีชีวิต New Normal

โดยอภิชญา ฉกาจธรรม และปาจรีย์ รอดพ่าย

CU-ColLaR จัดงานเสวนาออนไลน์เกี่ยวกับทิศทางในอนาคตของ Gig Worker เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยพูดถึงรูปแบบแรงงานแบบ Gig worker ที่มีความหลากหลายมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความท้าทายใหม่ๆ ทั้งต่อตัวแรงงาน คือต้องพัฒนาทักษะให้ทันต่อความต้องการของตลาด และต่อภาครัฐว่าจะจัดการเรื่องสวัสดิการให้แก่แรงงานรูปแบบใหม่นี้อย่างไร ทั้งนี้ แรงงานของไทยยังมีโอกาสอีกมากที่จะเติบโตในสังคมการทำงานแบบ Gig Economy ในอนาคต

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เรามักจะได้ยินคำว่า Gig worker กันอยู่บ่อยๆ จนหลายคนอาจจะสงสัยว่าสองคำนี้มีความหมายว่าอะไร อันที่จริงแล้ว ถ้าแปลให้เข้าใจง่ายๆ Gig worker ก็คือ แรงงานนอกระบบที่หลายๆ คนให้คำนิยามกันนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น วินขับมอเตอร์ไซค์ คนขับ grab คนขับ Uber ฟรีแลนซ์ และถ้าแปลจากบริบทสากล Gig worker  คือการจ้างงานแบบจบเป็นครั้ง ซึ่งผู้จ้างและผู้รับงานจะจับคู่กันผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ 

ปัญหาก็คือ ตั้งแต่ในอดีตสังคมไทยแบ่งแรงงานออกเป็นแค่ 2 ประเภท คือแรงงานในระบบ และแรงงานนอกระบบ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ตัวเลขการจ้างงานในระบบน้อยลงจนทำให้เกิดปัญหาเรื่องสวัสดิการของแรงงานนอกระบบตามมา 

รูปแบบงานในอนาคตของ Gig worker

รูปแบบงานจะไม่ได้แบ่งแค่งานแบบใหม่หรืองานแบบเก่าที่ทำนอกระบบเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป แต่จะมีรูปแบบของงานที่ทำผ่านแพลตฟอร์มมากขึ้น ทำให้โครงสร้างแรงงานของ Gig worker ในอนาคตจะถูกแบ่งออกเป็น  3 กลุ่ม คือ

  • Digital natives หรือกลุ่มที่มีความพร้อมในการทำงานแบบ digital บนแพลตฟอร์มออนไลน์ สามารถใช้ internet ได้คล่อง และไม่มีปัญหากับการ work from home
  • Physical natives หรือกลุ่มที่เน้นใช้เทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารหรือรับคำสั่งจาก outsource เพื่อทำงานเท่านั้น เช่น การขนของ หรือการติดต่อทำความสะอาด
  • Migrants เป็นกลุ่มที่สามารถเคลื่อนย้ายไปมาได้ระหว่างสองกลุ่มแรกขึ้นอยู่กับทักษะของบุคคลและอาจต้องการการพัฒนา(Re-Skill/Up-Skill) เพื่อย้ายกลุ่ม

ความท้าทายของ Gig worker ในปัจจุบัน

การนิยามแรงงานและการคุ้มครองสวัสดิการ การจ้างงานนอกระบบและการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการทำงานทำให้การนิยามแรงงานที่จำกัดแค่ในและนอกระบบไม่สามารถครอบคลุมประเภทของแรงงานใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดแรงงานได้ การนิยามที่ไม่ครอบคลุมนี้ส่งผลให้เกิดความท้าทายในแง่ของการให้ความคุ้มครองทางด้านสวัสดิการของแรงงานโดยตรง เกิดเป็นปัญหาด้านการดูแลสิทธิของแรงงาน และไม่ใช่แค่รัฐที่ไม่สามารถกำกับดูแลสิทธ์ของ Gig worker ได้เท่านั้น แต่ตัวแรงงานเองก็ไม่ทราบด้วยเหมือนกันว่าตัวเองมีสิทธิ์อะไรบ้าง

ความท้าทายเกี่ยวกับคน ในประเทศไทยยังมีคนที่ทักษะไม่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานอีกมาก ทั้งนี้อาจมาจากสาเหตุที่ว่า คนไทยกว่า 50 % เรียนจบแค่ระดับชั้นมัธยมต้น ทำให้เกิดปัญหาช่องวางทางโอกาสของคนตามมา โดยเฉพาะคนในต่างจังหวัดหรือชนบทที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของ Gig Economy และที่สำคัญ คือในตอนนี้สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้มีจำนวนคนวัยทำงานไม่เพียงพอกับความต้องการจ้างงานในระบบ ทั้งนี้ภาครัฐก็ยังไม่ได้ให้การช่วยเหลือในด้านต่างๆ เท่าที่ควร

uber
ภาพจาก Shutterstock

ความท้าทายของรัฐ อีกหนึ่งความท้าทายเชิงโครงสร้างของกลุ่มแรงงานแบบ gig คือความท้าทายในด้านการส่งเสริมและสนับสนุนของรัฐบาล รัฐจะออกแบบโครงการและและสร้างสวัสดิการเพื่อรองรับต่อคนกลุ่มนี้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไรบนโจทย์ของความเสมอภาคและความเท่าเทียม รัฐจะสามารถออกแบบระบบเพื่อรองรับการทำงานของอาชีพที่มีความลื่นไหลทั้งตัวอาชีพและรูปแบบของสังกัดมากขึ้นในปัจจุบันได้อย่างไร

โอกาสของ Gig worker ในสังคมไทย

Welfare Package เดิม รูปแบบการจัดการระบบสวัสดิการของรัฐจะอ้างอิงจากตัวอาชีพและสังกัดเป็นหลัก แต่รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปมากขึ้นโดยเฉพาะรูปแบบการทำงานของ Gig worker รัฐบาลอาจจะต้องปรับโครงสร้างสวัสดิการแรงงานให้มีเหมาะสมและยืดหยุ่นสำหรับแต่ละกลุ่มแรงงานมากขึ้น

หนึ่งในแนวคิดโครงสร้างสวัสดิการที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตสำหรับกลุ่มแรงงาน gig คือแนวคิดเรื่องสวัสดิการหรือ welfare package แบบ tailor made ที่ทำให้แรงงานสามารถเลือกรับสวัสดิการตามกลุ่มได้อย่างเหมาะสม เช่น 

  1. กลุ่ม digital natives ที่อาจจะต้องการสวัสดิการแบบที่ personalized มากขึ้น 
  2. กลุ่ม physical natives ที่ต้องการการจัดการระบบฐานข้อมูลที่ดีจากภาครัฐและการควบคุมดูแลในส่วนของสัญญาการจ้างงานที่มีความเป็นธรรม
  3. กลุ่ม migrant ที่อาจต้องการระบบการ Up-skill และ Re-skill ที่มีประสิทธิภาพ

การ Up-skill และ Re-skill มีหลายวิธีที่สามารถใช้พัฒนาคนให้พร้อมเป็น Gig worker และมีคุณสมบัติพร้อมสำหรับทำงานใน Gig Economy ได้ โดยควรเริ่มต้นจากการพัฒนาทักษะของตนเองด้วยการ Up-skill และ Re-skill ให้ทันกับความต้องการของตลาด

GrabFood

โดยภาครัฐควรทำหลักสูตรที่มีคนคอยประเมินคุณภาพมารองรับความต้องการของประชาชน รวมถึงใช้โปรแกรมประเมินข้อมูลรายบุคคล และวิเคราะห์ศักยภาพว่าแต่ละคนเหมาะกับงานแบบไหน เพื่อให้แต่ละคนได้ทำงานที่เหมาะสมกับทักษะของตนเอง ทั้งนี้ ภาครัฐควรสร้างตลาดแรงงานที่รองรับคนกลุ่มใหญ่ในสังคมที่มีทักษะไม่สูงมาก และผู้สูงอายุ รวมถึงเปิดตลาดเพื่อฝึก และพัฒนาคนไปสู่ระดับที่ต้องการด้วยเช่นกัน

การจัดเก็บ Database ของภาครัฐ ปัจจุบัน ภาครัฐยังคงจัดเก็บ Database ของประชาชนอย่างกระจัดกระจาย ทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลที่มีไปใช้ประโยชน์ได้เท่าที่ควร ภาครัฐจึงควรนำเทคโนโลยี เช่น Big Data หรือ Blockchain เข้ามาช่วยทำให้การจัดเก็บข้อมูลของประชาชนเป็นระบบ และง่ายต่อการนำไปใช้งานมากขึ้น 

สรุป 

มุมมองเกี่ยวกับการทำงานในอนาคตกำลังจะเปลี่ยนไป งานที่เคยมองว่ามั่นคง เช่น งานออฟฟิศหรืองานประจำอาจจะไม่มั่นคงอีกต่อไป และงานฟรีแลนซ์ หรืองานอิสระอื่นๆ ที่พึ่งพารายได้หลายทางอาจจะเป็นทางเลือกที่มั่นคงมากกว่าในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน การทำงานแบบ gig อาจจะกลายเป็นตัวเลือกใหม่หรือ new normal ของการทำงานในอนาคตหลังยุคโควิด-19 ก็เป็นได้

**

ศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU-ColLaR: Collaborating centre for labour research, Chulalongkorn University) จัดงานเสวนาออนไลน์เรื่อง “Build Back Better: Gig Worker in the world after COVID-19” เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ และทิศทางในอนาคตของ gig worker ไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน 2563

โดยมีวิทยากรทั้งหมด 6 คน ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ, อาจารย์ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตฯ จุฬาฯ, อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ จากศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬา ฯ, ภัทรพร เล้าวงค์ รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนพัฒนาสังคม สภาพัฒน์, นพพร เพริศแพร้ว ศิลปินและนักดนตรี และอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Blognone ดำเนินรายการโดย คุณอนรรฆ พิทักษ์ธานิน จากศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬา ฯ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา