งานไม่ประจำทำหลายจ๊อบ น่าจะเป็นนิยามของ “Gig Economy” ที่น่าสนใจทีเดียวในภาษาไทย คือเป็นการทำงานชั่วคราว ส่วนใหญ่รับงานต่อมาอีกทอดหนึ่ง เป็นลักษณะ Part-time หรือ Freelance ไม่ใช่ลูกจ้างในระบบ แต่ล่าสุด ส.ส. อังกฤษกำลังเรียกร้องให้มีสถานะเป็น “ลูกจ้าง” เพื่อจะได้รับสิทธิตามกฎหมาย
งานไม่ประจำทำหลายจ๊อบ รัฐเรียกร้องให้จ่ายภาษีด้วย
ก่อนจะเข้าไปถึงเนื้อหาข่าว เราต้องมาทำความรู้จัก “Gig Economy” กันก่อน Gig Economy คือระบบเศรษฐกิจแบบหนึ่งที่คนทำงานจะเป็นลักษณะชั่วคราว Part-time หรืองานที่รับต่อมาจากคนอื่นอีกที ออกแนว Outsource หรือจะรวม Freelance อยู่ในหมวดนี้ก็ได้ แต่จะต่างตรงที่ Freelance ครอบคลุมความหมายเน้นไปที่ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่โดยภาพรวมแล้ว ไม่ใช่ลูกจ้างในระบบงานประจำนั่นเอง
ล่าสุด สมาชิกสภาผู้แทนของอังกฤษเรียกร้องให้ออกกฎระบุให้ Gig Economy มีสถานะเป็น “ลูกจ้าง” ไม่ใช่จัดอยู่ในประเภทงานอิสระหรือจ้างตนเอง ข้อเสนอนี้ต้องการโจมตีบริษัทอย่าง Uber เพราะ Uber บอกว่าจัดประเภทงานให้เป็นเพียง “คู่ค้า/คู่สัญญาการทำงาน” คืออยู่ในหมวด “งานอิสระ/จ้างตนเอง” โดย Uber ระบุว่า จะทำให้มีเวลายืดหยุ่นในการทำงาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว “ประโยชน์จะตกอยู่ที่บริษัทเหล่านี้มากกว่า ไม่ใช่คนที่ทำงาน”
ข้อเรียกร้องของ ส.ส. อังกฤษ ระบุต่อว่า หากนำคนทำงานเหล่านี้เข้ามาอยู่ในสถานะลูกจ้างตามกฎหมาย จะทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์ เช่น การลาคลอดบุตร และได้รับปกป้องจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
“บริษัทส่วนใหญ่ไม่ได้ละเมิดกฎหมายใดๆ เพราะเข้าใจได้ว่า ธุรกิจในที่ไหนๆ ก็ต้องแสวงหากำไรกันทั้งนั้น”
แต่ในฐานะของรัฐบาล ส.ส. อังกฤษ เน้นย้ำว่า ต้องหามาตรการมาอุดช่องโหว่ของกฎหมายให้ได้ เพราะคนทำงานเหล่านี้เสียภาษีไม่สอดคล้องกับรายได้ ส่งผลต่อรายได้ภาษีของรัฐ หรือพูดอีกอย่างคือ ส.ส. อังกฤษมองว่า คนกลุ่มนี้ทำงานโดยพึ่งพาสวัสดิการของประเทศ แต่ไม่คิดจะจ่ายเงินให้กับรัฐ
ข้อเสนอของ ส.ส. อังกฤษ จึงต้องการให้คนที่อยู่ใน Gig Economy มีสถานะเป็น “ลูกจ้าง (Worker)” ที่ได้รับสิทธิ์ตามกฎหมายการจ้างงาน โดย ส.ส. อังกฤษระบุว่า ในอนาคตจะมีบริษัทด้านเทคโนโลยีเกิดขึ้นอีกมากมาย การอุดช่องโหว่ทางกฎหมายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
ที่มา – Engadget
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา