Stash แอพเพื่อการลงทุนสำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ และเตรียมขยายสู่ธุรกิจธนาคาร

กระแสฟินเทคสตาร์ทอัพยังคงมาแรง ล่าสุดมีสตาร์ทอัพ Collective Returns, Inc. ได้พัฒนาบริการที่ชื่อว่า Stash โดยมีแนวคิดตั้งต้นที่เน้นความง่ายในการลงทุน ปัจจุบันเริ่มเปิดให้บริการแล้วในสหรัฐฯ และเริ่มขยายสายของผลิตภัณฑ์ออกไปเรื่อย ๆ และเริ่มจะเข้าสู่ธุรกิจฝั่งธนาคารบ้างแล้ว

Stash

วันนี้ทีมงาน Brand Inside จะพามารู้จัก Stash และฟีเจอร์คร่าวๆ ของบริการจากสตาร์ทอัพฟินเทคด้านการลงทุนที่น่าสนใจนี้กัน

แอพ Stash เกิดจากแนวคิดทำให้การลงทุนเป็นเรื่องง่ายๆ ตัวแอพที่ดีไซน์ที่เน้นจับกลุ่มตลาดนักลงทุนรายย่อยหน้าใหม่ และไม่ค่อยถนัดการใช้เครื่องมือลงทุนแบบเดิมๆ สิ่งที่น่าสนใจของ Stash คือ ต้นทุนต่ำ ทำให้เหมาะกับนักลงทุนที่กำลังอยู่ระหว่างช่วงเรียนรู้และลองผิดลองถูก นักลงทุนสามารถสร้างพอร์ตการลงทุนได้โดยใช้เงินลงทุนน้อยสุดเพียง 5 ดอลลาร์เท่านั้น รวมถึงกำหนดให้เพิ่มเงินลงทุนเรื่อยๆ ได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มอัตโนมัติหรือเพิ่มด้วยตัวเอง

ส่วนด้านสไตล์การลงทุน Stash ก็มีให้เลือกได้ว่าจะลงทุนอย่างไรให้เป็นไปตามสไตล์ของผู้ใช้ และเป้าหมายที่ต้องการ มีธีมการลงทุนให้เลือกมากมายที่ Stash จะคัดสรร ETF มาให้ผู้ใช้ตามธีมการลงทุนนั้นๆ เช่น

  • The Techie เน้นลงทุนในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี
  • The Trendsetter เน้นลงทุนในกลุ่มธุรกิจสื่อสังคมหรือโฆษณาที่เน้นไปยังกลุ่มผู้บริโภค
  • The Globetrotter เน้นลงทุนในกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว, ความบันเทิง, การพักผ่อน
  • The Activist เน้นลงทุนในกลุ่มธุรกิจพลังงานสะอาด
ภาพจาก Shutterstock

Stash คิดค่าธรรมเนียมถูกมาก เริ่มต้นที่ 1 ดอลลาร์ต่อเดือนสำหรับบัญชีที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5 พันดอลลาร์ และ 0.25% ต่อเดือนสำหรับบัญชีที่มีมูลค่าสูงกว่า 5 พันดอลลาร์

เนื่องจาก Stash จับกลุ่มนักลงทุนที่ยังไม่มีความรู้เรื่องการลงทุนมากนัก การให้การศึกษากลุ่มนักลงทุนเหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น ผลิตภัณฑ์ของ Stash นั้นออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้เข้าใจเงินของตัวเอง และเข้าร่วมในการลงทุนได้ Stash จึงมีคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ ใส่ไว้ในแอพหลายๆ จุด รวมถึงการให้การศึกษาอย่างจริงจังผ่าน StashLearn

StashLearn มีสอนตั้งแต่วิธีการใช้งานแอพ Stash ไปจนถึงการให้ความรู้ในเรื่องการลงทุนรอบด้านตั้งแต่ข่าวสารไปจนถึงบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจและเข้าใจได้ง่าย หรือเรื่องเกี่ยวเนื่องอย่างเช่นความรู้ด้านภาษีก็มีให้เช่นกัน ซึ่งเป็นความรู้ที่จำเป็นสำหรับนักลงทุนรายบุคคล

ภาพจาก Shutterstock

ปัจจุบัน Stash มีลูกค้า 1.7 ล้านคนและผู้สมัครสมาชิก 5 ล้านคน โดยในปี 2017 นั้น Stash มีผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นประมาณ 25,000 คนต่อสัปดาห์ ตอนนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นคนต่อสัปดาห์แล้ว และ 86% ของผู้ใช้ Stash นั้นเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ (first-time investor) ด้วย

นอกจากเรื่องการลงทุนสำหรับบุคคลทั่วไปแล้ว Stash ก็ยังมี Stash Retire บริการสำหรับการวางแผนเกษียณอายุอีกด้วย โดยใช้เงินทุนเริ่มต้นเพียง 15 ดอลลาร์ และมีค่าธรรมเนียมที่ 2 ดอลลาร์ต่อเดือนสำหรับเงินทุนไม่เกิน 5 พันดอลลาร์ และ 0.25% ต่อเดือนสำหรับเงินทุนเกิน 5 พันดอลลาร์

ล่าสุด Stash ได้ระดมทุนเพิ่มใน Series D โดยมี Union Square Ventures เพิ่มทุนให้ 37.5 ล้านดอลลาร์ ซึ่ง Stash จะนำเงินไปเพื่อพัฒนาฟีเจอร์และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยผู้ให้เงินทุนหนุนหลังของ Stash ในการระดมทุนรอบที่ผ่านๆ มา ได้แก่ Breyer Capital, Coatue Management, Entree Capital, Goodwater Capital และ Valar Ventures

Stash Banking ภาพจาก stashbanking.com

Stash คงจะยังไม่หยุดแค่นั้น เพราะว่าล่าสุดทางบริษัทก็เตรียมขยายให้บริการฝั่งธนาคารหรือ Stash Banking โดยร่วมมือกับธนาคารบางแห่งที่ยังไม่เปิดเผยชื่อ ซึ่งบริการ Stash Banking จะไปที่ซอฟต์แวร์ด้านการธนาคารที่ดียิ่งขึ้น คิดค่าธรรมเนียมถูกกว่าธนาคารทั่วๆ ไป ซึ่งแน่นอนว่า Stash จะใส่คำแนะนำและให้การศึกษากับกลุ่มลูกค้าของบริษัทด้วย

ปัจจุบัน บริการ Stash Banking ยังไม่ได้เปิดให้บริการแก่บุคคลทั่วไปอย่างเต็มตัว ผู้สนใจจะต้องลงชื่อเพื่อขอเข้าใช้งานก่อน

สรุป

Stash เป็นฟินเทคสตาร์ทอัพที่เกิดมาโดยเน้นตอบโจทย์การลงทุนให้รายย่อย และเริ่มมีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงให้การความรู้และเครื่องมือใช้งานง่ายก็ทำให้ Stash คงจะเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนรุ่นใหม่ และหาก Stash เปิดบริการอื่นๆ ได้เพิ่มเติมก็จะทำให้เป็นแอพเพื่อการลงทุนที่ครบวงจรมากยิ่งขึ้น

ข้อมูลจาก TechCrunch, Stash

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

คอลัมนิสต์ Brand Inside ผู้สนใจเรื่องของบริษัทเทคโนโลยี, ตลาดเงินตลาดทุน รวมถึงด้านธนาคาร และการปรับตัวด้านเทคโนโลยีมาใช้ของบริษัทต่าง ๆ