รู้จัก Venmo ทำไมระบบจ่ายเงินแบบคนต่อคนจึงเป็นที่นิยมขึ้นมาได้

หากพูดถึงระบบการจ่ายเงินผ่านมือถือแบบคนต่อคน ปัจจุบันผู้ที่โด่งดังในตลาดนี้ก็คือ Venmo ซึ่งถูกซื้อโดย Braintree และภายหลัง Braintree ก็ถูกซื้อโดย PayPal อีกต่อหนึ่ง เท่ากับว่าตอนนี้ Venmo ก็เป็นส่วนหนึ่งของ PayPal บริการด้านการเงินยักษ์ใหญ่ของโลกอินเทอร์เน็ตไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทำความรู้จัก Venmo

Venmo ก่อตั้งขึ้นในปี 2009 โดย Iqram Magdon-Ismail และ Andrew Kortina แนวคิดของบริการนี้คือการโอนเงินระหว่างเพื่อนฝูงแบบไม่มีค่าธรรมเนียม และ Venmo ยังเป็นผู้บุกเบิกไอเดียของ social payment เพราะตัวแอพจะมีการประกาศการติดต่อทางธุรกิจของผู้ใช้งานและบันทึกในรูปแบบสตรีมการสนทนา

social payment แนวคิดหนึ่งจาก Venmo

Bill Ready อดีตซีอีโอของ Braintee และปัจจุบันเป็นซีโอโอของ PayPal บอกว่าแนวคิดของ social payment ของ Venmo ถือเป็น crazy genius เพราะเป็นสถานที่ที่ทำให้ผู้ใช้เห็นเพื่อนกำลังจ่ายเงินให้คนอื่น เช่น เพื่อนหารค่าอาหาร, รูมเมทจ่ายค่าเครื่องมือเครื่องใช้ในห้อง, คู่รักร่วมกันจ่ายค่าอาหารที่ไปทานกันตอนกลางคืน

ก่อนหน้าที่จะมาทำงานกับ Braintree นั้น Ready เคยเป็นหัวหน้าระบบจ่ายเงินออนไลน์และระบบจัดการเงินของธนาคารมาก่อน ในช่วงนั้นเขาสังเกตว่าผู้ใช้ต้องการเข้าถึงบัญชีธนาคาร โดยเข้าเว็บจากเบราว์เซอร์มือถือ (ช่วงนั้นเป็นช่วงเริ่มต้นของสมาร์ทโฟน เว็บเพจยังไม่รองรับอุปกรณ์พกพา) และพยายามใส่ชื่อผู้ใช้กับรหัสผ่าน ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่น่าเอือมระอามาก แต่ผู้คนก็ยังอยากลองอยู่ดี

นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ Ready ก่อตั้ง Braintree ซึ่งเป็นระบบประมวลผลการจ่ายเงินให้กับบริษัทใหญ่ ๆ ขึ้นมา ปัจจุบันมีผู้ใช้งานเป็นบริษัทใหญ่จำนวนมาก เช่น Uber หรือ Airbnb แต่ในตอนนั้น Ready รู้สึกว่า Braintree ยังขาดผลิตภัณฑ์ของผู้ใช้ทั่วไปที่สามารถจ่ายเงินได้ในคลิกเดียว จึงทำให้เมื่อ Ready พบกับ Venmo เขาจึงสนใจในตัวแอพขึ้นมา (แม้ตอนนั้นจะมีผู้ใช้เพียง 3,000 คนก็ตาม)

Venmo ใหญ่แค่ไหน​

ปัจจุบัน Venmo เป็นบริการที่สามารถเติบโตสูงมากในแวดวงระบบจ่ายเงินแบบคนต่อคน จากสถิติปีที่แล้วพบว่ามีผู้ใช้จ่ายเงินผ่านระบบกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์ (เฉพาะไตรมาสแรก 5,600 ล้านดอลลาร์) เพิ่มขึ้นถึง 126% จากปีก่อนหน้า

ผู้ก่อตั้ง Venmo มีความรู้เกี่ยวกับการวางข้อบังคับด้านการเงินที่ใช้กับผลิตภัณฑ์น้อยมาก ในช่วงแรกของการเปิดใช้งาน ตัวบริการไม่มีการรักษาความปลอดภัยเลย จึงมีช่องทางให้โกงได้ง่าย เช่น นำบัตรเครดิตที่ถูกขโมยมาใส่ในแอพและถอนเงินจากวงเงินทั้งหมด, แฮกบัญชี หรือซื้อสินค้าโดยใช้ Venmo จ่ายเงิน และดึงเงินคืนเมื่อได้ของแล้ว

ในช่วงหลัง Venmo จึงได้เปลี่ยนมาจากบริการที่เคลื่อนไหวรวดเร็ว มาเป็นการบริการที่มั่นคงและแข็งแรง เมื่อเข้ามาอยู่กับ PayPal แล้ว ทางบริษัทก็เริ่มนำโครงสร้างพื้นฐานของ PayPal มาใช้ เพื่อให้มีระบบติดตามและดูแนวโน้มการโกงเงิน, ระบบล็อกอินสองปัจจัย และ Venmo ยังมีสิ่งที่ธนาคารแบบเดิม ๆ ให้ไม่ได้ คือถ้าผู้ใช้มีการทำธุรกรรมทางการเงินกับใครสักคนหนึ่ง Venmo จะเช็คว่าพวกเขามีเพื่อนที่เหมือนกันบ้างไหม เพื่อทำให้แน่ใจว่ากำลังโอนเงินถูกคนจริง

Venmo ในอนาคต

หลังจาก Venmo ได้เปิดตัวมาแล้ว 8 ปี ก็ถึงเวลาที่ผู้สร้างจะหาทางทำเงินจากบริการบ้าง เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว PayPal ก็ได้เปิดตัวบริการ Pay With Venmo ให้ผู้ใช้ซื้อสินค้าผ่านผู้ค้าด้วยบัญชีตัวเอง (และแอพจะเก็บค่าดำเนินการ) และตอนนี้ Venmo ก็มีปุ่ม tap-to-pay ให้ใช้กับแอพ 12 แบรนด์ เช่น Munchery, White Castle และ Delivery.com ซึ่ง Venmo หวังว่าจะเปิดบริการนี้ให้ใช้กับธุรกิจอีกหลายแห่งในเดือนหน้า

นอกจากนี้ แผนธุรกิจของ Venmo ที่ PayPal คิดไว้คือการใช้โซเชียลของ Venmo ให้เป็นประโยชน์ต่อการซื้อสินค้า โดยมีการหน้าตัวพนักงานที่ทำการเชื่อมต่อผู้ใช้เข้ากับธุรกิจ และพนักงานฝ่ายผลิตภัณฑ์ในด้านโซเชียลของ Braintree ก็ได้ย้ายไปทำงานกับ Venmo แล้ว และล่าสุด Venmo ก็เพิ่งเปิดตัว emoji เฉพาะบนแพลตฟอร์มตัวเองเป็นในธีมเทศกาล ซึ่งก็น่าคิดว่าต่อไป Venmo อาจจะเปิดตัว emoji ที่เป็นรูปแบรนด์ก็เป็นได้

emoji บน Venmo

อนาคตของ ​Venmo ก็ยังไม่ราบรื่นนัก เพราะเมื่อมีการเติบโตแล้วก็มักจะมีคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็น Facebook Messenger หรือแม้กระทั่งธนาคารเองก็ตาม ที่จะสร้างบริการแข่งกับ Venmo

ช่วงหนึ่ง Bank of Amierica, U.S. Bancorp, Wells Fargo, Chase และ Capital One ได้รวมกันเปิดตัว Zelle ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับ Venmo คือผู้ใช้สามารถโอนเงินไปยังบัญชีของผู้ใช้คนอื่น ๆ ตอนแรก Zelle ถูกใช้เฉพาะบนแอพธนาคารเท่านั้น ภายหลังจึงมีแอพแยกแต่ก็ยังคงจำกัดธนาคาร ขณะที่ Venmo ทำงานได้ไม่จำกัดธนาคาร และล่าสุด PayPal ก็ยังเซ็นสัญญากับ MasterCard และ Visa เพื่อให้ผู้ใช้ส่งเงินและฝ่ายผู้ใช้ก็ได้รับทันที แตกต่างจากเดิมที่ต้องรอ 1-2 วันก่อนที่เงินจะเข้า

สรุป

Venmo ถือเป็นผู้บุกเบิกรายแรกๆ ของวงการจ่ายโอนเงินแบบคนต่อคน และยังเป็นผู้บุกเบิกแนวคิดของระบบ social payment ซึ่งในช่วงหลัง Venmo เติบโตสูงขึ้นมาก และยังมีความน่าเชื่อถือสูงขึ้นจากการที่เข้ามาอยู่กับ PayPal ทำให้สามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัทแม่ได้ และในอนาคต Venmo ก็จะเริ่มพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อทำการหาเงินจากบริการ แม้จะมีคู่แข่งหลายรายตั้งแต่ยักษ์ใหญ่ด้าน social network อย่าง Facebok ไปจนถึงธนาคาร

ที่มา – Fast Company

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

คอลัมนิสต์ Brand Inside ผู้สนใจเรื่องของบริษัทเทคโนโลยี, ตลาดเงินตลาดทุน รวมถึงด้านธนาคาร และการปรับตัวด้านเทคโนโลยีมาใช้ของบริษัทต่าง ๆ