ใครจะมาแทน Yoon Suk Yeol ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ หลังทำพลาดครั้งใหญ่ด้วยการประกาศกฎอัยการศึกให้โลกตกใจกันไปหมด
แม้จะเป็นการประกาศกฎอัยการศึกในเวลาสั้นๆ ไม่กี่ชั่วโมง ก็ทำให้สถานะ Yoon สั่นคลอนได้มากกว่าเดิม ทั้งประชาชนและฝ่ายการเมืองต่างออกมาเรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่ง ล่าสุด พรรคฝ่ายค้านยังเดินหน้าจะถอดถอนเขาอีกด้วย
Yoon เองเพิ่งจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี 2022 นี่เอง กว่าจะหมดวาระก็คือปี 2027 นั่นหมายความว่า ถ้าเขาหลุดจากตำแหน่งผู้นำก่อน จะต้องมีการเลือกตั้งผู้สืบทอดตำแหน่งคนใหม่ขึ้นมาแทน และนี่คือ 3 ตัวเก็งที่น่าจะขึ้นมาแทนเขา Lee Jae-myung, Han Dong-hoon และ Cho Kuk
1) Lee Jae-myung ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน Democratic
Lee ถือว่าเป็นผู้นำที่พ่ายแพ้ให้กับ Yoon เดี๋ยวคะแนนที่ห่างกันเล็กน้อยเท่านั้น จากการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา แต่ชัยชนะที่ Lee ได้รับระดับแลนด์สไลด์ เมื่อครั้งเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ทำให้เขามีโอกาสลุ้นตำแหน่งในการช่วงชิงบัลลังก์ประธานาธิบดีกลับมา แต่ Lee เองก็ยังมีความเสี่ยงเรื่องการละเมิดกฎหมายเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
ความด่างพร้อยของ Lee ก็มีอยู่บ้าง เช่น การกล่าวเท็จในปี 2021 ขณะที่กำลังหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีและยังถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 1 ปี แต่ยังลงอาญา 2 ปี เนื่องจากมีการยื่นอุทธรณ์คำตัดสิน ซึ่งอาจทำให้เขาสูญเสียที่นั่งในสภาและไม่สามารถลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในครั้งถัดไปได้ แถมยังอาจโดนปรับอีก 1 ล้านวอน
นอกจากนี้ เขายังเคยถูกลอบแทงเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานี่เอง แถมยังมีประเด็นถูกกล่าวหาเรื่องเก็งกำไรที่ดินใน Seongnam ที่เขาเป็นนายกเทศมนตรีด้วย แต่เขาก็ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้และมองว่ามีการพยายามต้านเขาด้วยแรงจูงใจทางการเมือง
ในด้านนโยบาย Lee ถือว่าเป็นนักการเมืองอยู่ในหมู่หัวก้าวหน้า ในเรื่องความพยายามที่จะเรียกเก็บภาษีคนรวยเพิ่ม รวมถึงบรรดาเศรษฐียักษ์ใหญ่ที่กุมชะตาเศรษฐกิจประเทศผ่านเครือข่ายบริษัทขนาดใหญ่ของประเทศด้วย นอกจากนี้ เขายังสนับสนุนให้มี Universal Basic Income ด้วย (UBI คือจ่ายเงินให้ประชาชน เพื่อเป็นการประกันรายได้ให้ทุกคนโดยไม่ต้องมีการพิสูจน์คุณสมบัติว่าบุคคลเหล่านั้นควรได้รับหรือไม่)
Lee สนับสนุนให้มีการแจกเงินสดให้กับประชาชนรวม 13 ล้านล้านวอนหรือ 9.6 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 3.26 แสนล้านบาทเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
Lee สนับสนุนให้หาแนวทางเพื่อสนับสนุนความปรองดองให้เกิดขึ้นระหว่างเกาหลีเหนือมากกว่า Yoon ซึ่งก็สอดคล้องกับ Donald Trump ที่ต้องการฟื้นฟูการประชุมสุดยอดผู้นำด้วยการเจรจาทางการทูตกับ Kim Jong Un ผู้นำเกาหลีเหนือ ซึ่ง Lee เองก็ยังมีความระมัดระวังอยู่บ้างที่จะแสดงท่าทีแข็งกร้าวกับจีน และพยายามใกล้ชิดกับญี่ปุ่นมากขึ้น เป็นไปได้ว่าอาจจะร่วมมือกับสหรัฐฯ มากขึ้นเพื่อเป็นพันธมิตรกันในการร่วมมือกันรับมือความท้าทายในภูมิภาคมากขึ้น
2) Han Dong-hoon ผู้นำจากพรรค People Power
Han ร่วมอยู่ในพรรครัฐบาลร่วมกับ Yoon Suk Yeol ด้วย เขาเคลื่อนไหวทันทีหลังจากที่ประธานาธิบดีประกาศกฎอัยการศึก พร้อมประกาศกร้าวว่า เขาจะหยุดเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กับประชาชนให้ได้ เขาออกมาโพสต์ผ่าน facebook ทันทีที่ Yoon ออกมาประกาศฯ
นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจที่ออกมาเปิดเผยด้วยว่า Han คือหนึ่งในตัวเลือกที่ฮอตและคนนิยมสุดๆ หากจะขึ้นมาแทนที่ Yoon ได้ ก็ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เขามีอายุ 51 ปีเท่านั้น ทำงานเป็นอัยการร่วมกับ Yoon มา ก่อนที่ทั้งคู่จะเข้าสู่แวดวงการเมือง และเขาก็ได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมคนแรกของ Yoon ด้วย
ถ้า Han ได้เป็นประธานาธิบดีคนถัดไป นโยบายที่มีอยู่เดิมน่าจะได้สานต่อจาก Yoon แน่นอนว่ารวมถึงแนวทางที่เป็นมิตรกับธุรกิจ และท่าทีที่แข็งกร้าวกับเกาหลีเหนือจะคงอยู่ต่อไป แต่เน้นให้ความสำคัญใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา พันธมิตรประเทศอื่นๆ รวมทั้งญี่ปุ่นด้วย
Han คือหนึ่งในดาวรุ่งของการเมืองอนุรักษ์นิยมของเกาหลีใต้ที่ต้องการลดสิทธิพิเศษทั้งหลายของเหล่าสมาชิกรัฐสภา และยังมีบทบาทสำคัญในการสืบสวนและพิพากษาอดีตประธานาธิบดีสองราย ก็คือ Lee Myung-bak และ Park Geun-hye ด้วย
3) Cho Kuk สมาชิกสมัชชาเกาหลีใต้
นี่คือศัตรูของ Yoon เป็นไปได้ว่าจะเป็นตัวเก็งของแท้ที่จะเข้ามาแทนที่ประธานาธิบดี Yoon ได้เลย เขาเป็นผู้นำพรรคฝ่ายซ้าย พรรค Rebuilding Korea และยังเคยเป็นเลขาธิการอาวุโสของประธานาธิบดี (Senior Secretary to the President for Civil Affairs) สมัยประธานาธิบดี Moon Jae-in เคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมมาก่อนด้วย
Cho เคยจ้าง Yoon ให้เป็นอัยการสูงสุดในปี 2019 ขณะที่ Yoon เองก็ผลักดันให้มีการสอบสวน Cho กรณีที่เขาและภรรยาปลอมแปลงเอกสารทางวิชาการเพื่อให้ลูกสาวได้เข้าเรียนในโรงเรียนทางการแพทย์ ทั้งคู่ถูกพิสูจน์ว่ามีความผิดจริงทำให้ Cho หลุดจากตำแหน่งอาจารย์จากมหาวิทยาลัย จากนั้นเขาก็กลับเข้ามาสู่วงการการเมืองอีกครั้ง ซึ่งการัดสินจากศาลฎีกายังพิจารณาว่าจะยืนตามคำตัดสินก่อนหน้าหรือไม่ ทำให้เขาอาจไม่ได้มีโอกาสทางการเมืองจนกว่าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งถัดไป
ที่มา – Bloomberg
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา