เปิด 8 ไลฟ์สไตล์ เข้าใจ ‘นักช็อปออนไลน์’ อาเซียน ผ่านรายงาน SYNC Southeast Asia 2021

เข้าใจ 8 เทรนด์สำคัญ เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของนักช็อปออนไลน์ในอาเซียน จากรายงาน SYNC Southeast Asia 2021 โดย Facebook และ Bain & Company

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน มีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และเป็นอีกหนึ่งภูมิภาคที่น่าจับตามอง แล้วรู้หรือไม่ว่า อาเซียน คือหนึ่งในภูมิภาคที่เศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตมีชีวิตชีวาอย่างมาก 

เพราะหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด ภาคธุรกิจต่างๆ สามารถปรับตัวจากออฟไลน์สู่ออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว แถมผู้บริโภคก็ปรับตัวตามได้ทัน ถ้าลองดูตัวเลขจะเห็นได้ชัด

  • อาเซียนมีผู้บริโภคที่เข้าถึงเศรษฐกิจดิจิทัล 70 ล้านคน หรือ พอๆ กับประชากรอังกฤษ ตั้งแต่ก่อนโควิดระบาด 
  • อาเซียนมีผู้บริโภคที่เข้าถึงเศรษฐกิจดิจิทัลเป็น 80% ของประชากร หรือประมาณ 380 ล้านคน ในปี 2021
  • ผู้บริโภคในอาเซียนมีการใช้จ่ายแบบออนไลน์ 381 ดอลลาร์ หรือ 12,650 บาท ต่อคน ในปี 2021

สรุปก็คือ ไลฟ์สไตล์ของหนึ่งในภูมิภาคที่สำคัญของโลกอย่างอาเซียนกำลังจะเปลี่ยนไป มีการโยกย้ายสู่โลกออนไลน์อย่างก้าวกระโดด ธุรกิจจำเป็นต้องมองเห็นความเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบรับความต้องการที่เปลี่ยนไป

Shopee Lazada ช็อปปี้ ลาซาด้า
ภาพจาก Shutterstock

Brand Inside จึงได้สรุป 8 เทรนด์สำคัญ จากรายงาน SYNC Southeast Asia 2021 โดย Facebook และ Bain & Company ช่วยให้ผู้อ่าน เข้าใจไลฟ์สไตล์ใหม่ของเหล่า ‘นักช็อปออนไลน์’ ในอาเซียนมากขึ้น

1. Discovery Generation คนยุคใหม่ หาซื้อ หาทำ

นักช็อปออนไลน์สมัยนี้ถือเป็น Discovery Generation ยังไม่รู้ว่าตัวเองต้องการจะซื้ออะไร แต่มักจะได้ของติดไม้ติดมือจากการส่องร้านออนไลน์ต่างๆ อยู่เสมอทั้งๆ ที่ไม่ได้วางแผนจะซื้อมาก่อน

ผู้รวมการสำรวจกว่า 65% ระบุว่า ยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากซื้ออะไรตอนช็อปสินค้าออนไลน์ แต่การท่อง (discover) แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ช่วยให้คนเหล่านี้เจอสินค้าใหม่ๆ 

2. มองมากกว่าแบรนด์ โซเชียลช่วยตัดสินใจ

ประเด็นสำคัญคือ ในการหาข้อมูลเพื่อการตัดสินใจซื้อสินค้าในยุคนี้ ผู้บริโภคมองมากกว่าแบรนด์ แต่มองหาประสบการณ์จากการใช้จริงของผู้อื่นในโลกออนไลน์

26% ระบุว่าพวกเขาหาข้อมูลของสินค้าจากโซเชียลมีเดีย และ 23% ระบุว่าหาข้อมูลภายในแพลตฟอร์ม marketplace และมีแค่ 11% ที่หาข้อมูลจากเว็บไซต์แบรนด์ (ซึ่งหมายถึงภาพที่แบรนด์พยายามนำเสนอ)

3. ประชากร 8 ใน 10 เป็นนักช็อปออนไลน์

อาเซียนเป็นภูมิภาคที่ปรับตัวกับเศรษฐกิจดิจิทัลได้เป็นอย่างดี โดยรายงานระบุว่า ประชากรในภูมิภาคประมาณ 95% สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน 

โดยภายในสิ้นปี 2021 มีการคาดการณ์ว่าคนกว่า 380 ล้านคน จะมีการใช้จ่ายในโลกออนไลน์ หรือมากกว่า 8 ใน 10 ของประชากรทั้งหมดเลยทีเดียว 

4. สัดส่วนร้านออนไลน์ โตแรงกว่า จีน

เป็นที่ทราบกันดีว่าว่า e-commerce ในจีนใหญ่ และเติบโตรวดเร็ว แต่ประเด็นก็คือในปี 2021 สัดส่วนร้านค้าออนไลน์ต่อร้านค้าออฟไลน์ในอาเซียนเติบโตเร็วกว่าอินเดีย หรือแม้แต่จีนเสียอีก

  • สัดส่วนร้านค้าออนไลน์ในจีนโตจาก 33% เป็น 35% ใน 1 ปี คิดเป็นการเติบโต 5%
  • สัดส่วนร้านค้าออนไลน์ในอินเดียโตจาก 3% เป็น 4% ใน 1 ปี คิดเป็นการเติบโต 10%
  • สัดส่วนร้านค้าออนไลน์ในอาเซียนโตจาก 5% เป็น 9% ใน 1 ปี คิดเป็นการเติบโต 85%

5. คนเกือบครึ่งซื้อของแทบทุกอย่างผ่านเน็ต

สำหรับหลายคนในอาเซียน โลก e-commerce แทบจะเป็นทุกอย่างของชีวิต เพราะรายงานดังกล่าวชี้ชัดว่า คนกว่า 45% บอกว่าซื้อของแทบทุกอย่างผ่านอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นอาหาร วัตถุดิบ เสื้อผ้า ของใช้ส่วนตัว

แถมในปี 2020 นักช็อปออนไลน์ซื้อของเฉลี่ย 5.1 หมวดหมู่/คน ส่วนในปี 2021 นักช็อปออนไลน์ซื้อของเฉลี่ย 8.1 หมวดหมู่/คน พูดง่ายๆ คือซื้อของออนไลน์หลากหลายกว่าเดิม 60%

เห็นได้ชัดว่า e-commerce เข้ามาอยู่ในไลฟ์สไตล์ของเรามากขึ้นเรื่อยๆ

6. ยอมจ่ายแพงเพื่อสินค้ารักษ์โลก

อีกไลฟ์สไตล์หนึ่งที่น่าสนใจของนักช็อปออนไลน์อาเซียนคือ การเปิดกว้างต่อสินค้าที่ผลิตอย่างเป็นนมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีจริยธรรม 

โดยกว่า 92% ระบุว่ายอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อซื้อสินค้าที่ถูกหลัก ESG โดย 80% ระบุว่า หากสินค้าแพงขึ้นกว่าเดิมไม่เกิน 10% ก็จะยอมซื้อสินค้าดังกล่าว

7. ความนิยมใน E-Wallet มากกว่า บัตรเครดิต โอน จ่ายสด

ต้องยอมรับว่าวงการการเงินการธนาคารเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ถูก disrupt จากเทคโนโลยี แต่การเข้ามาของโควิดซึ่งทำให้การค้าออนไลน์และกิจกรรมอื่นๆ บนโลกออนไลน์เติบโต ทำให้การชำระเงินที่มีความสะดวกรวดเร็วได้รับความนิยมมากขึ้นก้าวกระโดด

ในปี 2021 การใช้จ่ายผ่าน E-Wallet เป็นช่องทางเดียวที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ส่วนช่องทางอื่นๆ ทั้งบัตรเครดิต โอนเงิน จ่ายสด ต่างได้รับความนิยมลดลง ถ้าลองดูตัวเลขจะเห็นชัด

  • คนเลือกใช้ E-Wallet 37% ในปี 2021 เพิ่มขึ้น จาก 22% ในปี 2020
  • คนเลือกใช้ บัตรเครดิต 19% ในปี 2021 ลดลง จาก 23% ในปี 2020
  • คนเลือกใช้ การโอนเงิน 15% ในปี 2021 ลดลง จาก 19% ในปี 2020
  • คนเลือกใช้ การจ่ายเงินสด 28% ในปี 2021 ลดลง จาก 34% ในปี 2020

8. ไทยหาทำมากกว่าชาติไหน กล้าลองของใหม่มากสุดในอาเซียน

จริงๆ แล้วต้องบอกว่าประเทศในอาเซียนถือว่าเป็นประเทศที่ผู้บริโภคกล้าลองเสี่ยงกับร้านค้าใหม่ที่ไม่เคยลองมาก่อนทั้งหมด แต่ประเทศคือประเทศที่กล้าเสี่ยงกับร้านใหม่ๆ มากที่สุด 

ในปี 2021 ผู้เข้าร่วมการสำรวจคนไทยกว่า 64% ระบุว่า สนใจที่จะลองซื้อของจากร้านค้าใหม่ๆ ส่วนรองลงมาคือเวียดนาม 61% ส่วนประเทศที่กล้าน้อยสุดคือสิงคโปร์ อยู่ที่ 32%

สรุป

ทั้งหมดนี้คือ 8 เทรนด์สำคัญ เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์นักช็อปออนไลน์อาเซียน ซึ่งเป็นข้อมูลที่พลาดไม่ได้สำหรับธุรกิจต่างๆ ที่กำลังประกอบกิจการในภูมิภาคที่ถือว่าเป็นหนึ่งในภูมิภาคแห่งโอกาสที่มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด และปรับตัวเข้ากับยุคแห่งดิจิทัลได้อย่างไม่น้อยหน้าใคร

อ้างอิง – Southeast Asia, The Home For Digital Transformation | Report

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา