SweetChew ธุรกิจเบเกอรี่อบแห้ง ในโลกที่หมุนเร็วเกินจะจิบกาแฟ แต่คนยังโหยหาบรรยากาศเดิมๆ

รู้จัก SweetChew เจ้าของ Stroopwafel สไตล์ดัชต์ ธุรกิจเบเกอรี่อบแห้งในโลกที่หมุนเร็วขึ้นแต่ผู้คนก็ยังอยากจะมีช่วงเวลากาแฟที่ละเมียดละไมเหมือนเก่า

ถ้าพูดถึงกาแฟ สิ่งที่ตีคู่กันขึ้นมาสำหรับหลายๆ คนคงหนีไม่พ้นการดื่มกาแฟช้าๆ ในวันสบายๆ คู่ไปกับ ‘เบเกอรี่’ แต่ทุกวันนี้รูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปทีละเล็กทีละน้อย จากเดิมที่มีเวลาเหลือๆ กับการดื่มด่ำกับกาแฟ มาวันนี้กลายเป็นว่าต้องเร่งรีบเข้าร้านกาแฟซื้อเครื่องดื่มเติมพลังก่อนทำงาน

ดังนั้น ดูเหมือนว่าเบเกอรี่กลายเป็นสินค้าที่มีความ ‘ยาก’ ในการขายมากขึ้น วันนี้ Brand Inside จะพาไปคุยกับ SweetChew แบรนด์ที่เข้ามาเจาะตลาดในวันที่ผู้คนเร่งรีบขึ้นแต่ยังต้องการทานเบเกอรี่เพื่อเติมเต็มช่วงเวลากาแฟให้ครบถ้วนสมบูรณ์ด้วยสินค้าอย่างเบเกอรี่อบแห้ง

โลกหมุนเร็วขึ้น แต่เรายังอยากมี Coffee Moment แบบเดิมๆ

ถ้าพูดชื่อ SweetChew ขึ้นมา หลายคนอาจไม่คุ้นเคยกับชื่อนี้กันสักเท่าไหร่ แต่ถ้าบอกว่าแบรนด์นี้คือผู้ผลิตสโตรปวาฟเฟิล (Stroopwafel) หรือวาฟเฟิลอบแห้งที่รับประทานคู่กับกาแฟร้อนด้วยการนำแผ่นวาฟเฟิลไปอังบนแก้วกาแฟหลายคนก็คงนึกภาพออกทันที แถมยังจำได้อีกด้วยว่าไม่ว่าจะไปร้านกาแฟเจ้าดังที่ไหนก็จะเห็นขนมชนิดนี้อยู่เสมอ โดยนี่คือสินค้าชนิดแรกที่คุณพัทนุช ซ้ายขวัญ ผู้ก่อตั้งบริษัท สวีทชิว บาย เอ็มเอ็น จำกัด ริเริ่มขึ้นมา

พัทนุช ซ้ายขวัญ ผู้ก่อตั้ง (ซ้าย) และ วิศรุต สุคนธ์พงเผ่า กรรมการผู้จัดการและหุ้นส่วน บริษัท สวีทชิว บาย เอ็มเอ็น จำกัด (ขวา)

คุณวิศรุต สุคนธ์พงเผ่า กรรมการผู้จัดการและหุ้นส่วน บริษัท สวีทชิว บาย เอ็มเอ็น จำกัด เล่าให้ฟังว่า “ที่จริงแล้วการรับประทานกาแฟคู่กับขนมมีความเป็นมายาวนานกว่า 80 ปีแล้ว อย่างในอดีตก็มีการทานกาแฟดำคู่กับปาท่องโก๋ หรือที่เรียกกันว่าการกินโกปี๊ ทำให้ผู้คนคุ้นเคยกับวัฒนธรรมที่ว่านึกถึงกาแฟต้องนึกถึงขนม”

“แนวคิดของเบเกอรี่อบแห้งคือการตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการคง Coffee Moment เอาไว้ให้สมบูรณ์แม้จะชีวิตเร่งรีบขึ้น” คุณวิศรุตระบุ ซึ่งทุกวันนี้เบเกอรี่สดและขนมอบแห้ง (ที่ไม่ใช่เบเกอรี่) ไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องนี้ได้

และเอาเข้าจริงแล้ว ตลาดเบเกอรี่อบแห้ง หรือที่ SweetChew เรียกว่า Ambient Coffee Bakery ก็มีมูลค่าไม่น้อยสำหรับผู้เล่นระดับ SME โดยมีมูลค่าเกือบ 120 ล้านบาท จากรายงานประจำปีของ Cafe Amazon เมื่อหักยอดขายจากเครื่องดื่มโดยคาดว่าจะโตเป็น 130 ล้านบาทภายในอีก 2 ปี และถ้ามองกันแบบกว้างๆ ตลาดนี้ก็คิดเป็น 0.34% ของตลาดร้านกาแฟในภาพรวม 

เบื้องหลักเบเกอรี่อบแห้งในร้านกาแฟชั้นนำ

SweetChew คือผู้ผลิตและนำเข้าเบเกอรี่อบแห้ง โดยคุณวิศรุตอธิบายลงลึกว่า “เป็นขนมที่ช่วยเสริมสุนทรียรสในการดื่มกาแฟ ทั้งนี้เรามีการวางจำหน่ายสินค้าในลักษณะของ impulse snacks หรือพูดให้เห็นภาพคือเหมือนลูกอมที่วางจำหน่ายข้างเคาน์เตอร์ชำระเงินที่เมื่อลูกค้าเหลือบไปเห็นก็จะหยิบติดไม้ติดมือ”

ตอนนี้ SweetChew วางจำหน่ายสินค้าทั้งสิ้น 4 ชนิด คือ สโตรปวาฟเฟิล, มินิ สโตรปวาฟเฟิล, บราวนีอบกรอบ และคาราเมล คอร์นเฟลกส์ โดยในอนาคตยังมีแผนที่จะผลิตครัวซองต์อบกรอบและคิวบ์เค้กกรอบอีกด้วย โดยคุณวิศรุตย้ำว่า “สิ่งที่เราให้ความสำคัญก็คือการทำให้เบเกอรี่อบแห้งมีความใกล้เคียงกับเบเกอรี่สดแบบดั้งเดิม”

ตอนนี้บริษัทมีร้านค้าพาร์ทเนอร์กว่า 29 ร้านค้า เป็นเบื้องหลังในการผลิต Ambient Cafe Bakery หลากชนิดให้กับให้กับแบรนด์ร้านกาแฟเจ้าดังต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Cafe Amazon, Mezzo, Chao Doi, Doi Chaang เป็นต้น โดยสามารถผลิตสินค้าได้กว่า 8 ล้านชิ้น ทั่วประเทศ 

เบเกอรี่ ที่แก้ปัญหาให้ลูกค้าและร้านกาแฟ

คุณวิศรุตพูดถึงกลยุทธ์ในการทำธุรกิจของ SweetChew ว่าใช้วิธีแบบ Outside-In หรือการมองภายนอกว่าคนกำลังต้องการอะไรแล้วจึงสร้างสินค้า ไม่ใช่ Inside-Out หรือการสร้างสินค้าขึ้นมาแล้วค่อยใช้การตลาดไปประกาศให้คนอื่นรับรู้ว่าเราทำอะไร

แน่นอนว่ามุมมองแบบนี้ทำให้ SweetChew เห็นช่องว่างในตลาดร้านกาแฟในยุคที่ผู้คนต่างเร่งรีบแต่ก็ยังโหยหาช่วงเวลากาแฟที่สมบูรณ์ ซึ่งก็คือตลาด Ambient Bakery Coffee นั่นเอง

คุณวิศรุตยังเล่าอีกว่า นอกจากฝั่งลูกค้าแล้วฝั่งร้านกาแฟก็มี Pain Point ไม่น้อย “หลังจากที่ไปนั่งดูพฤติกรรมของคนตามร้านกาแฟอยู่หลายครั้งก็จะพบว่าน้อยมากที่คนจะซื้อกาแฟมากกว่าหนึ่งแก้ว ต่อให้มี 1 แถม 1 ลูกค้าก็จะหันไปถามเพื่อว่าจะทานอะไร จึงเป็นการยากมากที่ร้านจะเพิ่มการใช้จ่าย/หัว ของลูกค้า”

“เบเกอรี่อบแห้งที่ซื้อง่ายพกพาสะดวกคือสินค้าที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ร้านกาแฟในการเพิ่มการใช้จ่ายของลูกค้า 1 คน ที่สำคัญคือยังช่วยแก้ปัญหาในเรื่องการจัดการสต็อกเพราะเบเกอรี่อบแห้งเก็บรักษาได้ง่ายแกว่าและมีอายุยาวกว่าเบเกอรี่ทั่วไป” พูดให้เห็นภาพคือเบเกอรี่อบแห้งเก็บได้ 1 ปี ในอุณหภูมิห้อง ส่วนเบเกอรี่ทั่วไปต้องเก็บในตู้แช่แถมมีอายุแค่ 3-5 วัน เท่านั้น

ทั้งหมดนี้คือที่มาของเบเกอรี่อบแห้ง ที่เก็บรักษาง่าย มีแพ็คเกจเหมาะกับการวางจำหน่ายหน้าเคาน์เตอร์ ช่วยเพิ่มการใช้จ่ายของผู้ที่ทานกาแฟ โดยยังคงกลิ่นอายดั้งเดิมของการทานกาแฟควบคู่ไปกับขนม

และแน่นอนว่าด้วยกลยุทธ์นี้ ทำให้ SweetChew มาถึงน่านน้ำที่ยังไม่มีใครไปเจ้าของอย่างตลาด Ambient Coffee Bakery มียอดขายเติบโตกว่า 40% ในปี 2564 ทั้งๆ ที่โดยปกติแล้วตลาดขนมอบจะเติบโตตามตลาดร้านกาแฟที่โตได้ปีละ 9.5% เท่านั้น

ที่มา – SweetChew

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา