รู้จัก น้ำมัน SAF ที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนฯ ในเครื่องบิน

รู้จัก น้ำมัน SAF เชื้องเพลิงชีวมวล จากน้ำมันใช้แล้ว ที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนฯ ในอุตสาหกรรมการบิน ได้มากถึง 80% แต่ต้นทุนจะสูงกว่าน้ำมันทั่วไป

องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เปิดเผยว่า ในปี 2019 อุตสาหกรรมการบินปล่อยก๊าซคาร์บอนมากถึง 920 ล้านตัน หรือคิดเป็น 2-3% ของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมด

กระทั่ง องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จับมือกับสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) และสหภาพยุโรป (Europe) เพื่อตั้งเป้าหมายให้กับอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกว่าต้องบรรลุ Net Zero ในปี 2050 

ซึ่งแน่นอนว่าหากเครื่องบินยังใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลอยู่ อัตราการปล่อยคาร์บอนนอกจากจะไม่ลดลงแล้ว จะเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากที่ปล่อยอยู่ในปีนี้ ตามการคาดการณ์ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)

ธุรกิจอุตสาหกรรมการบิน จึงมองหาทางเลือกอย่างน้ำมัน SAF ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  ได้มากถึง 80%

น้ำมัน SAF คืออะไร 

‘SAF’ Sustainable Aviation Fuel: SAF) หรือ ‘เชื้อเพลิงจากวัตถุดิบชีวมวล’ เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงจากวัตถุดิบชีวมวลที่มีคุณสมบัติทางเคมีคล้ายคลึงกับน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต SAF ได้แก่ น้ำมันทำอาหารใช้แล้ว ไขมันจากสัตว์ ของเสียจากการเกษตร และขยะเทศบาล เช่น บรรจุภัณฑ์ และเศษอาหาร 

อีกทั้ง SAF สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงอากาศยานได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนหรือปรับปรุงเครื่องยนต์ โดยการนำ SAF ไปผสมกับเชื้อเพลิงอากาศยานจากฟอสซิล ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับการผสมเอทานอลเข้าไปในน้ำมันเบนซิน หรือการผสมไบโอดีเซลเข้ากับน้ำมันดีเซล 

นอกจากนี้ ข้อดีของน้ำมัน SAF คือ จะช่วยลดการปล่อยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้มากถึง 80% เมื่อเทียบกับน้ำมันเครื่องบินที่ใช้อยู่เดิม

โดยประเทศที่ได้มีการศึกษาวิจัย และนำ SAF มาใช้ในอุตสาหกรรมการบินด้วยแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป อาทิ ฝรั่งเศส ได้มีมาตรการบังคับใช้ SAF อย่างเข้มงวด โดยให้ทุกเที่ยวบินที่เดินทางออกนอกประเทศใช้ SAF อย่างน้อย 1% ของการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานในปี 2565 และจะปรับสัดส่วนเพิ่มเป็น 50% ภายในปี 2593

การทดสอบเชื้อเพลิงที่ยั่งยืน

การทดสอบเชื้อเพลิง Sustainable Aviation Fuel และเชื้อเพลิง Jet Fuel ทั่วไป (เช่น Jet A-1) มีความแตกต่างกันในหลายแง่มุม เนื่องจากมีคุณสมบัติที่แตกต่างจากเชื้อเพลิงฟอสซิลปกติ ซึ่งทำให้ต้องมีการทดสอบเพิ่มเติมเพื่อให้มั่นใจว่าสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมการบิน และ Sustainable Aviation Fuel จะถูกผสมกับ Jet Fuel ทั่วไปในอัตราส่วนต่างๆ (เช่น 10%, 20%, 50%) ดังนั้นการทดสอบต้องมั่นใจว่าเชื้อเพลิงผสมสามารถใช้งานได้โดยไม่มีปัญหา

เชื้อเพลิง Jet Fuel ทั่วไปมีการทดสอบที่เข้มงวดอยู่แล้วเพื่อให้มั่นใจว่าเชื้อเพลิงมีคุณสมบัติที่ตรงตามมาตรฐานสากล เช่น ASTM D1655 สำหรับ Jet A-1 ในขณะที่การทดสอบ Sustainable Aviation Fuel และเชื้อเพลิงผสมระหว่าง Jet Fuel ทั่วไปนั้น ยังต้องมีการทดสอบตามมาตรฐานสากล เช่น ASTM D7566 เข้ามาด้วย

ทำไมธุรกิจสายการบินหันมาให้ความสำคัญกับการใช้น้ำมัน SAF 

ล่าสุด บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ร่วมมือกับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR นำร่องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ SAF ในเที่ยวบินของบางกอกแอร์เวย์สเส้นทางสมุย-กรุงเทพ 

โดย ​นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในเที่ยวบินนำร่องของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการสนับสนุนให้มีการใช้เชื้อเพลิงพลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซ CO2 สู่ชั้นบรรยากาศ และเพื่อให้สอดรับกับทุกภาคส่วนทั่วโลกที่ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเป็นศูนย์ในปี 2050 (Net Zero Carbon Emission 2050) และตามมาตรการขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) รวมถึงสมาคมการบินระหว่างประเทศ (IATA)

ในปี 2023 ที่ผ่านมาสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 สู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับ 11,321 ตัน หรือมากกว่า 200 กิโลกรัม/เที่ยวบิน และการเติมน้ำมัน SAF ในเที่ยวบินนำร่องของบางกอก แอร์เวย์สในครั้งนี้สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซ CO2 โดยประมาณ 1,346 กิโลกรัมต่อเที่ยวบิน”

ด้าน นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า การเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสู่โลกที่สะอาดและยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมการบิน โดยน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) เป็นน้ำมันที่มีคุณสมบัติทางเคมีที่คล้ายคลึงกับน้ำมันเจ็ท ผลิตจากน้ำมันทำอาหารที่ใช้แล้ว หรือที่เรียกว่า UCO (Used Cooking Oil) 

โดย SAF สามารถผสมเข้าไปกับน้ำมันเจ็ทเพื่อให้ใช้ในเครื่องบินได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนหรือปรับปรุงเครื่องยนต์ ถือว่าเป็นพลังงานที่ลดการปลดปล่อย Carbon ซึ่งเชื้อเพลิง SAF สำหรับเที่ยวบินปฐมฤกษ์นี้ ได้รับความร่วมมือจาก บริษัท ปตท. ค้าสากล จำกัด (PTTT) บริษัทในกลุ่ม ปตท. เป็นผู้จัดหาและนำเข้า 

แม้ปัจจุบันจะมีแนวคิดที่จะนำเอาแบตเตอร์รี่ หรือเทคโนโลยีไฮโดรเจน มาใช้ในอุตสาหกรรมการบิน แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ เพราะไฮโดรเจนจำเป็นต้องไปเก็บในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ

และทราบดีว่าถังเก็บไฮโดรเจนต้องมีความหนา ความหนาแน่นพลังงาน ไฮโดรเจน เป็น 1 ใน 4 ของพลังงานที่มาจากฟอสซิล ถ้าเราต้องการพลังงานที่เท่ากัน กับน้ำมันและฟอสซิล นั่นหมายความว่าต้องมีพื้นที่จัดเก็บใหญ่ถึง 4 เท่า แปลว่าเครื่องบินจะมีพื้นที่พื้นที่ในการขนส่งสัมภาระผู้โดยสารได้น้อยลง

หลายประเทศโดยเฉพาะอียู มองการปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด มากขึ้น หลายประเทศเร่งให้มีการใช้พลังงานสะอาดและเพิ่มเป็น 100% ภายในปี 2030 แล้วอะไรจะเกิดขึ้นถ้าทั่วโลกผลักดันการบินยั่งยืนโดยมี SAF เป็นกุญแจสำคัญ

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา