รู้จักมหาเศรษฐี Abramovich เจ้าของทีมเชลซี อดีตเด็กกำพร้า ปัจจุบันรวยอันดับ 142 ของโลก

Roman Abramovich เจ้าของสโมสรฟุตบอลเชลซีโดนเล่นซะแล้ว หลังปูตินมีคำสั่งให้ทหารปฏิบัติการพิเศษในยูเครน จนหุ้นร่วงกันทั่วโลก ราคาน้ำมันและทองคำและโลหะมีค่าขึ้นผันผวน เริ่มมีคำสั่งคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกแล้ว แต่ล่าสุดเศรษฐีที่เกี่ยวข้องกับปูตินก็เริ่มได้รับผลกระทบไปด้วย นั่นก็คือ Abramovich นั่นเอง

Roman Abramovich

Roman Abramovich อดีตเด็กกำพร้า เกิดในครอบครัวชาวยิว

สำหรับคนที่ไม่ได้ติดตามวงการฟุตบอล อาจไม่เข้าใจว่าเจ้าของทีมฟุตบอลอย่าง Abramovich (อับราโมวิช) ไปเกี่ยวอะไรกับรัสเซียและยูเครน อับราโมวิชไม่ได้เป็นแค่เพียงเศรษฐีชาวรัสเซีย แต่เป็นนักธุรกิจและยังเป็นนักการเมืองด้วย ก่อนหน้านี้เขาเกิดในตระกูลชาวยิว แม่ของเขาเป็นครูสอนดนตรีและเสียชีวิตไปตั้งแต่เขาอายุเพียง 1 ขวบ ขณะที่พ่อของเขานั้นทำงานอยู่ในสภาเศรษฐกิจในเขตปกครองตนเองสาธารณรัฐ Komi ของรัสเซีย พ่อของเขาเสียชีวิตไปในช่วงที่เขาอายุเพียง 4 ขวบเขาถูกเลี้ยงดูโดยญาติฝั่งแม่ของเขาหรือลุงนั่นเอง

เขาเข้าซื้อสโมสรฟุตบอลเชลซีในช่วงปี 2003 ในราคา 190 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 6.1 พันล้านบาท ในปี 2021 เชลซีถูกจัดอันดับให้เป็นทีมฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก อยู่ที่ 3.2 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1.04 แสนล้านบาท เฉพาะปี 2020 สามารถสร้างรายได้มากถึง 520 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1.69 หมื่นล้านบาท กำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 34.7 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 1.12 พันล้านบาท

Forbes ประเมินว่า อับราโมวิชเป็นมหาเศรษฐีรวยเป็นอันดับที่ 142 ของโลก มีสินทรัพย์ในครอบครองราว 1.36 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐหรือ 4.42 แสนล้านบาท เขาไม่ได้เป็นเจ้าของทีมฟุตบอลเชลซีอย่างเดียวแต่ยังเป็นเจ้าของบริษัทผลิตเหมืองแร่และเหล็ก EVRAZ ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในอังกฤษ และแหล่งผลิตอยู่ในรัสเซียเป็นหลักรวมทั้งในยูเครน คาซัคสถาน อิตาลี เชก สหรัฐอเมริกา แคนาดา และแอฟริกาใต้ ปี 2021 ทำรายได้มากถึง 1.32 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 4.29 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ อับราโมวิชยังมีหุ้นอยู่ในบริษัท Norilsk Nickel ซึ่งเป็นบริษัทถลุงแร่และโลหะมีค่า อาทิ นิกเกิล (nickel) และพาลาเดียม (palladium) ซึ่งมีมูลค่าสูงมาก ผลจากการบุกยูเครนวานนี้ก็ส่งผลให้ราคาแร่พาลาเดียมถีบตัวสูงขึ้นถึง 7% เฉพาะปี 2020 ทำรายได้มากถึง 1.55 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 5.03 แสนล้านบาท

ช่วงปี 2005 เขาขายหุ้นบริษัทน้ำมัน Sibneft ซึ่งปัจจุบันคือบริษัท Gazprom Neft กลายเป็นวิสาหกิจของรัฐไปแล้ว เขาขายหุ้นในสัดส่วน 73% ด้วยมูลค่า 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 4.22 แสนล้านบาท นอกจากจะเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลยักษ์ใหญ่ของโลก เป็นเจ้าของบริษัทน้ำมันและเหมืองแร่แล้ว เขายังเป็นเจ้าของเรือยอร์ชที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกซึ่งมีความยาวราว 533 ฟุต ช่วงที่ซื้อมาใช้งานในปี 2010 มีราคาอยู่ที่ 400 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท เคยมีข่าวระบุว่า เขามักใช้พื้นที่บนเรือยอร์ชแห่งนี้บริหารทีมฟุตบอลเชลซีด้วย

อับราโมวิชกำลังถูกคว่ำบาตรไม่ให้เป็นเจ้าของทีมฟุตบอลเชลซีอีกต่อไป

ชื่อของอับราโมวิชกลายเป็นที่สนใจของโลกอีกครั้งเมื่อ Chris Bryant ส.ส. จากพรรคแรงงานของอังกฤษกล่าวในสภาอังกฤษ โดยพยายามหาทางคว่ำบาตรรัสเซียหลังปูตินมีคำสั่งให้ปฏิบัติการทหารพิเศษในยูเครน โดยระบุว่าอับราโมวิชคือหนึ่งในผู้ที่มีความใกล้ชิดผู้นำรัสเซียและให้เงินสนับสนุนผู้นำรัสเซียด้วย เรียกอีกอย่างว่า เมื่อจัดการกับผู้นำรัสเซียอย่างปูตินโดยตรงไม่ได้ ก็ให้จัดการกับท่อน้ำเลี้ยงเสีย

Bryant ระบุว่า เขาได้ข้อมูลลับมาว่า อับราโมวิชใช้เงินไปกับการคอรัปชั่นและเพื่อให้ตัวเองมีอิทธิพลทางการเมืองในรัสเซีย เขาเห็นว่าอับราโมวิชไม่ควรได้เป็นเจ้าของทีมฟุตบอลในประเทศอังกฤษอีกต่อไป อังกฤษควรจะจัดการยึดสินทรัพย์ของเขา รวมถึงบ้านมูลค่า 152 ล้านปอนด์หรือประมาณ 4.9 พันล้านบาทด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่าคนที่รับวีซ่า tier 1 เช่นนี้ ไม่สามารถกระทำสิ่งเลวร้ายใดๆ ในอังกฤษได้ ด้าน Boris Johnson นายกรัฐมนตรีอังกฤษระบุว่าได้ทำการคว่ำบาตรอับราโมวิชแล้ว ก่อนจะกลับคำพูดในเวลาต่อมาว่า เขาพูดผิด

หนึ่งในผู้ใกล้ชิดผู้นำรัสเซียตั้งแต่สมัยเยลต์ซินถึงปูติน

ช่วงที่อับราโมวิชอายุ 30 ปี เขาก็เริ่มมีเครือข่ายทางการเมืองและใกล้ชิดกับอดีตประธานาธิบดี Boris Yeltsin เขาเริ่มย้ายอพาร์ทเมนท์ไปยังเครมลินโดยการเชื้อเชิญโดยครอบครัวเยลต์ซิน โดยในปี 1999 อับราโมวิชก็เริ่มได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าการเมือง Chukotka ของรัสซีย เขาไม่ได้มีอำนาจแค่อย่างเดียวแต่เริ่มมั่งคั่งขึ้นเรื่อยๆ เขาลงทุนกับพื้นที่นี้ไปมากถึง 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 4.22 หมื่นล้านบาทในการยกมาตรฐานชีวิตของผู้คน โรงเรียนและดึงนักลงทุนเข้ามาร่วมลงทุนที่นี่

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอับราโมวิชได้ผลประโยชน์จากการสานสัมพันธ์กับเยลต์ซิน ในปี 1995 เยลต์ซินมีคำสั่งพิเศษที่จะสร้างบริษัทน้ำมัน Sibneft โดยมีอับราโมวิชและเพื่อนได้เป็นผู้บริหารระดับสูง จากนั้นจึงมาทำความรู้จักกับปูตินและกลายเป็นหนึ่งในไม่กี่คนในรัสเซียที่ใกล้ชิดกับผู้นำของประเทศ

สำหรับประเทศโลกตะวันตกและประเทศพันธมิตรตอนนี้เริ่มประกาศคว่ำบาตรรัสเซียหลายแห่งแล้ว หนึ่งในมาตรการที่จะคว่ำบาตรผู้นำรัสเซียได้คือเรื่องเศรษฐกิจ การเงิน ดังนั้นการตัดอับราโมวิชหรือทำให้ผู้สนับสนุนรายใหญ่ของผู้นำรัสเซียตามที่ตะวันตกกล่าวอ้าง ทำให้เขามีปัญหาในการดำเนินธุรกิจก็อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยยับยั้งท่าทีแข็งกร้าวของปูตินได้บ้างไม่มากก็น้อย

ที่มา – Forbes (1), (2), (3)The Guardian, Fortune, The Gentleman’s Journal

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา