ใครจะบอกขนลุกก็ตามใจ รู้จักอาชีพนักสร้าง ‘ตุ๊กตาทารก’ ผลิตปีละ 26 ตัว ตัวหนึ่งหลักแสนบาท

ในยุคนี้ ใครจะเลี้ยงหมา เลี้ยงลาบูบู้ก็ทำไป หรือจะเป็นทีมหน้าจอคอยเลี้ยงน้องหมีเนยผ่านโซเชียลมีเดียก็ย่อมได้ แต่สำหรับ ‘Andrea Lee’ แล้ว เธอขอเลี้ยง ‘ตุ๊กตารีบอร์น’ ก็พอ

Reborn Dolls

Andrea Lee คือหญิงชาวสิงคโปร์วัย 50 ปี ผู้มีอาชีพวาดหน้า ‘ตุ๊กตารีบอร์น’ หรือตุ๊กตาเด็กทารกหรือเด็กเล็กเสมือนจริง ที่มีใบหน้าใกล้เคียงกับทารกจนแทบแยกไม่ออก

Lee เริ่มขายตุ๊กตาเหล่านี้ผ่านทางเฟซบุ๊กในปี 2021 ก่อนจะมีผู้ติดตามเป็นนักสะสมทั่วโลก โดยเธอเชี่ยวชาญในตุ๊กตาที่ทำมาจาก

  • ไวนิล: ราคาขายตัวละ 14,000 – 140,000 บาท
  • ซิลิโคน: ราคาขายตัวละ 140,000 – 360,000 บาท

‘Jessica Wu’ หนึ่งในนักสะสมตุ๊กตารีบอร์นกล่าวว่า “ตุ๊กตาของ Lee ดูเป็นธรรมชาติ ละเอียด และสมจริงที่สุดแล้ว ใบหน้ามีความอมชมพู อีกทั้ง ผิวหนัง รวมถึงเล็บก็ยังเหมือนของทารกจริงๆ ด้วย”

ในทางกลับกัน เพื่อนๆ ที่มาเยี่ยมบ้าน Lee มักถามเธอว่า “เธอนอนหลับลงได้ยังไง แล้วเธอไม่กลัวตุ๊กตามาหลอกตอนกลางคืนหรอ?” แต่ Lee กลับมองว่าคำถามเหล่านี้คือคำชม เพราะยิ่งการที่ตุ๊กตาดูเหมือนมีชีวิตมากเท่าไหร่ ยิ่งการันตีได้ว่าทักษะการวาดของเธอดีเลิศขนาดนั้น

ผลิตปีละ 26 ตัว แรร์ไอเท็มจนเจอมิจฉาชีพ

Reborn Doll
ภาพจากเพจ Andrea Lee Mun

Lee จะผลิตตุ๊กตารีบอร์นออกมาแค่ 26 ตัวต่อปีเท่านั้น และเมื่อไหร่ก็ตามที่วางขาย สินค้าทุกชิ้นจะหมดลงภายในเวลาไม่กี่นาที โดยราคาที่แพงที่สุดที่เคยขายได้คือประมาณ 210,000 บาท

แน่นอนว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่สินค้าบางอย่างกำลังฮิต มันก็ต้องมีมิจฉาชีพมาคอยหลอกขายอยู่เรื่อยไป ครั้งหนึ่ง เคยมีคนสร้างบัญชีปลอมขึ้นมา แล้วแอบอ้างว่าเป็น Lee แถมยังนำรูปสินค้าของเธอมาโพสต์ขายอีกด้วย

โชคยังดีที่มีลูกค้ามาเห็นเข้า จึงรีบทักมาบอก Lee ส่งผลให้เธอต้องออกมาประกาศว่าบัญชีนี้เป็นแอคเคาท์ปลอม และสินค้าในรูปก็มีเจ้าของหมดแล้ว

อย่างไรก็ตาม Lee และลูกค้าอีกหลายรายใช้เวลารีพอร์ตราวๆ 2 -3 เดือนกว่าบัญชีปลอมนั้นจะถูกลบออกจากเว็บไซต์ได้

ทั้งนี้ Lee แนะนำว่า หากจะแยกสินค้าปลอมออกจากของแท้ให้เป็น ต้องดูที่ราคา เพราะมิจฉาชีพมักจะขายตุ๊กตารีบอร์นในราคาหลักพันเท่านั้น ทั้งที่จริงๆ มันมีมูลค่าสูงเกินหมื่นบาทเลยต่างหาก

เส้นทางการเปลี่ยนตุ๊กตาให้เป็นเงินของ Lee

Reborn Doll
ภาพจากเพจ Andrea Lee Mun

Lee เล่าว่า ตั้งแต่ยังเด็ก เธอมีแพชชันในการวาดอะไรเสมือนจริง จนอยากประกอบอาชีพเป็นศิลปินเมื่อโตขึ้น แต่คุณพ่อของเธอกลับไม่สนับสนุนความฝันนี้ เพราะท่านเชื่อว่ามันเป็นงานที่ได้เงินน้อยและเติบโตลำบาก

ด้วยเหตุเช่นนี้ Lee จึงต้องพับความฝันนั้นไป เปลี่ยนเส้นทางมาทำงานอื่นพร้อมกับเลี้ยงลูกสี่คนไปด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อลูกคนสุดท้องของ Lee เรียนจบชั้นประถมศึกษา เธอก็มีเวลาว่างมากขึ้น และความฝันการเป็นศิลปินก็ถูกจุดประกายขึ้นมาอีกครั้ง จนไปสมัครเรียนวาดตุ๊กตารีบอร์น

ตลอดเวลาที่เรียน Lee มักจะคอยโพสต์รูปตุ๊กตารีบอร์นที่เธอวาดลงโซเชียลมีเดีย แล้ววันหนึ่ง ผู้คนก็เริ่มทักมาติดต่อขอซื้อผลงาน

Lee กล่าวว่า “ฉันตกใจมาก ฉันไม่เคยคิดเลยว่าจะมีคนมาซื้อ นี่พวกเขาจริงจังแน่เหรอ อยากมาซื้อเด็กๆ ของฉันเนี่ยนะ”

คนเริ่มทะยอยเข้ามาถามไถ่รายละเอียดการซื้อขายอยู่เรื่อยๆ จนสุดท้าย ‘Roy Oh’ สามีของ Lee พ่วงด้วยตำแหน่งประธานบริษัทแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา จึงแนะนำให้เธอเปิดกิจการขายตุ๊กตารีบอร์นเสีย

นอกจากนี้ Oh ยังสนับสนุนเงินให้แก่ Lee ทั้งยังเป็นคนคอยซื้ออุปกรณ์การวาดจากอเมริกามาให้ตามที่เธอขออยู่ทุกครั้ง และด้วยความที่คนอื่นอาจไม่มีโอกาสเช่นนี้ Lee จึงเชื่อว่า ตนเองคงเป็นคนเดียวในสิงคโปร์ที่เชี่ยวชาญด้านการวาดตุ๊กตาจากซิลิโคน

ในครั้งแรกที่ Lee ได้ลองอุ้มตุ๊กตารีบอร์นฝีมือตนเอง เธอยังจำได้ขึ้นใจว่าตอนนั้นมีความสุขมากแค่ไหน เพราะนอกจากมันจะทำให้นึกถึงช่วงเวลาที่เคยกอดลูกน้อยไว้ในอ้อมอกแล้ว การที่ได้ทำให้ตุ๊กตาตัวหนึ่งดูเหมือนมีชีวิตขึ้นมา ยังเป็นความรู้สึกที่ดีมากสำหรับ Lee ด้วย

ส่วนทางคุณพ่อของ Lee จากที่ตอนแรกไม่สนับสนุนอาชีพนี้ ปัจจุบัน ท่านก็ยังมากดไลก์โพสต์ผลงานเธออยู่เสมอ ทำให้เธอคิดว่า “แค่นี้ก็พอแล้วล่ะ ท่านคงภูมิใจในตัวฉันแล้ว”

ตุ๊กตารีบอร์นเป็นมากกว่าของเล่นผู้ใหญ่

Reborn Doll
ภาพจากเพจ Andrea Lee Mun

เมื่อเกิดกระแสของตุ๊กตารีบอร์นขึ้นมา ผู้คนก็ต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่า นี่คงเป็นแค่ของเล่นสำหรับพวกผู้ใหญ่ที่ยังอยากเล่นพ่อแม่ลูกอยู่ 

‘Emilie St Hilaire’ นักศึกษาปริญญาเอก คณะมนุษยศาตร์ จากมหาวิทยาลัย Concordia University ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Guardian ว่า “จากการสำรวจผู้สะสมตุ๊กตารีบอร์นทั่วโลก ไม่มีใครมองว่าพวกมันเป็นทารกจริงๆ เลยด้วยซ้ำ ในทางกลับกัน พวกเขาเห็นว่าตุ๊กตาเหล่านี้เป็นการเติมเต็มความคิดสร้างสรรค์ ทั้งในตอนที่ต้องประกอบร่างมัน และตอนแต่งตัวตุ๊กตาต่างหาก”

ในมุมมองของ Emilie ตุ๊กตารีบอร์นแทบจะเอามาแทนการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งไม่ได้เลย และมันเหมาะกับการเอามาเล่นจำลองเสียมากกว่า

ส่วนทางด้าน Jessica Wu ผู้ที่เคยซื้อตุ๊กตาจาก Lee ไปในราคากว่า 70,000 บาท เผยว่าตนเองผูกพันกับตุ๊กตาตัวนี้มากๆ ชนิดที่ว่า ในทุกๆ เช้า Jessica จะมาหอมหัวมัน พร้อมบอกว่า “Lillie (ชื่อตุ๊กตา) แม่ไปทำงานแล้วนะ” และในบางวัน เธอก็จะนำ Lillie มาวางไว้บนหน้าท้องก่อนที่จะหลับไปด้วย

Jessica เล่าว่า “ฉันแต่งงานมา 11 ปีแล้ว แต่ไม่มีลูกเลย ฉันชอบ Lillie มาก” และเธอเองก็ยังมีแผนที่จะซื้อตุ๊กตารีบอร์นจาก Lee เพิ่มด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับ Lee แล้ว เธอเชื่อว่า สาเหตุที่คนตัดสินใจสะสมตุ๊กตารีบอร์น ก็เป็นเพราะคุณค่าทางงานศิลป์ล้วนๆ

นอกจากนี้ งานวิจัยในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียยังเผยอีกว่า ตุ๊กตาเด็กทารกสามารถสร้างความรู้สึกผ่อนคลาย และลดความกังวลในหมู่ผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมได้

พอมาถึงตรงนี้ Lee ทิ้งท้ายไว้ว่า “บนโลกนี้มีศิลปินอยู่มากมาย และฉันรู้สึกตื่นเต้นมากที่จะได้เห็นพวกเขายกระดับความเสมือนจริงในงานศิลป์ไปอีกขั้นหนึ่ง”

แหล่งอ้างอิง: CNA

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา