จ้างถ่ายภาพ 15 ชั่วโมง ราคา 2,500: ลูกค้าต้องเห็นอกเห็นใจบ้าง ช่างภาพไม่ควรคิดเรตตัดราคา

จากประเด็น “คิดค่าจ้างถ่ายภาพ 15 ชั่วโมง ราคา 2,500 บาท?” 

cameraman

หลังจากเพจ Facebook Pronprawee Rangsunrungkit เล่าถึงประเด็น วงการฟรีแลนซ์มันอยู่ยาก และพูดถึงคนที่ขอให้ช่วยหาตากล้องทำงาน 7.00-22.00 ให้ 2,500 บาท คุณแป๋มระบุในสเตตัสว่า ตากล้องไม่ได้หาง่าย แบกกล้องขนของถ่ายรูป แต่งรูป งานไม่ได้จบแค่ชัตเตอร์และระบุว่า “ส่วนใหญ่ตากล้องฝีมือดีๆ ที่แป๋มรู้จัก ไม่ได้รับเรทนี้ ขอโทษด้วย” จากนั้น คนที่ทักถามราคาก็ตอบกลับมาว่า ได้คนแล้ว มีคนรับ อย่าคิดไปเอง ราคานี้”

ประเด็นนี้ถูกพูดถึงในวงกว้าง ทั้งในแง่ ลูกค้ากดค่าแรงเกินไป คนทำงานรับค่าแรงต่ำมากเกินไป สร้างผลกระทบหลายทาง ทั้งในส่วนของรายได้ การกำหนดราคา ไปจนถึงมุมมองที่มีต่ออาชีพดังกล่าว วันนี้ Brand Inside ชวนไปคุยกับช่างภาพ 3 คนผู้ให้แง่คิดเกี่ยวกับการรับงานทั้งในเรตราคาดังกล่าว การกำหนดราคาของลูกค้า ทางออกของปัญหานี้ที่ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมานานแล้ว มีประเด็นทุกปีและไม่มีทีท่าว่าจะมีการแก้ไขเรื่องนี้ได้ 

แบค วีรสุ รักฉัตรชัย: ราคากลางเป็นเรื่องพูดยาก ควรมีองค์กรกลางมาช่วยดูแล

ราคากลางสำหรับช่างภาพ เป็นเรื่องพูดยาก แล้วแต่งาน แล้วแต่บุคคล แบคเล่าให้เราฟังว่า ถ้าพูดถึงราคากลาง เป็นเรื่องที่พูดยาก สาเหตุที่คนโวยจากประเด็นนี้เยอะเพราะถ้าคิดค่าแรงเฉลี่ย 15 ชั่วโมง 2,500 ตกชั่วโมงละ 166 บาทเท่านั้น ปกติช่างภาพที่ไม่ใช่เบอร์ดังมาก ถ้ารับงานนับเป็นคิว ซึ่งก็แล้วแต่บุคคลว่าหนึ่งคิวคิดเป็นกี่ชั่วโมง ถ้าหนึ่งคิวราว 12 ชั่วโมง แบบ Onset (คือไปถึงสถานที่นับเลย ไม่นับช่วงเซ็ตไฟ) รวมของด้วย วันนึง เรตกลาง 5,000-7,000 บาทต่อคิว 

ความแตกต่างราคาอยู่ที่งานที่ลูกค้าจ้าง ยากง่ายต่างกัน ภาพนิ่ง ถ่ายเสร็จงานไม่จบแค่นั้น ต้องแต่งรูปด้วย หนึ่งคิว ทั้งวัน 5,000-6,000 บาท มันจะมีช่วง โพสต์โปรดักชั่น ถ้าเป็นเรตของมืออาชีพจะอยู่ที่ราวๆ 5,000 บาทเป็นอย่างต่ำ ถ้ามือใหม่ก็แล้วแต่บุคคล สมมติเป็นเด็กมหา’ลัย พ่อแม่ซื้อกล้องให้เรียน ไม่ได้ต้องการเงิน ต้องการพอร์ตงานเพื่อสั่งสมประสบการณ์ จะรับเรตทั้งวัน 1,500-2,000 บาท ส่วนใหญ่เรตราคาเพี้ยนมักจะเป็นมือใหม่ที่ต้องการแค่สะสมพอร์ต ทำให้ลูกค้าเข้าใจเรตผิดตามไปด้วย

ขณะที่ภาพวิดีโอ ส่วนใหญ่วันนึง เรตใกล้เคียง 5,000-7,000 บาท แต่วิดีโอส่วนใหญ่จะสูงกว่าภาพนิ่งเพราะอุปกรณ์ที่ใช้เยอะมากกว่าภาพนิ่ง จำแนกเป็นค่าตัว 4,000 บาท ค่าอุปกรณ์ 2,000 บาท ค่าโรนิน ค่าไฟ อุปกรณ์เสริม เรตแพงตามอุปกรณ์และขอบเขตงาน รวมทั้งความเป็นมืออาชีพที่ช่างภาพจะต้องประเมินเอง 

ถ้าอยากสะสมพอร์ต เพิ่มประสบการณ์ ไม่ควรทำในรูปแบบงานลูกค้า แบคมองว่า เอาเข้าจริงแล้ว บางความเห็นก็มองว่าเรื่องนี้อยู่ที่ความพอใจของคนจ้างและคนรับงาน แต่ถ้าอยากฝากถึงช่างภาพคือ การทำอาชีพใดอาชีพหนึ่งต้องคำนึงถึงระบบอุตสาหกรรมในนั้น ไม่กระทบต่อคนอื่น ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนมาก อาจจะมีทางออกอย่างอื่นได้อีกในแง่นี้ สมมติถ่ายงานและอยากได้พอร์ต สู้ไปถ่ายฟรีไม่ดีกว่าหรือ ไม่ใช่สะสมในรูปแบบงานลูกค้า 

เช่น ถ่ายวิวกรุงเทพ เพื่อให้เป็นพอร์ตงานโดยตรง เพื่อมีพอร์ตให้ลูกค้าเลือกว่า เรตราคานี้กับพอร์ตของลูกค้าโอเคมั้ย จากนั้นค่อยเพิ่มประสบการณ์ไป ทำอะไรต้องคำนึงถึงระบบ เป็นไปได้ที่บางคนอยากรับเป็นอาชีพเสริม เช่นมีงานประจำ รับงานเสริม เสาร์อาทิตย์เลยไม่คิดราคาแพง แต่ก็คิดว่าหากไม่รู้ว่าควรคิดเรตที่เท่าไร ควรปรึกษาคนที่อยู่ในวงการมาก่อน แบคมองในแง่ของสิทธิในการทำงาน ควรใช้สิทธิตัวเองแต่ไม่เบียดเบียนคนอื่น ไม่เดือดร้อนกันน่าจะทำให้อยู่ร่วมกันดีที่สุด 

ช่างภาพ cameraman
Photo by Joel Muniz on Unsplash

ลูกค้าควรเอาใจเขามาใส่ใจเราบ้าง ในส่วนของลูกค้า แบคมองว่า อยากให้เข้าใจซึ่งกันและกัน ใจเขาใจเรา ทุกอาชีพมีต้นทุน อาชีพนี้มีต้นทุนสูง ซื้อกล้อง เลนส์ 2-3 ตัว มีต้นทุนในหน้าที่การงาน อยากให้เข้าใจว่าไม่ใช่มีแค่ค่าตัว ค่าอุปกรณ์ ค่ารักษาอุปกรณ์ บางครั้งลูกค้าที่จ้างช่างภาพ จ้างช่างภาพมาถ่ายงานเขาอีกที เขาก็ได้เงิน เช่น เรียกไปถ่ายสินค้า คุณก็ขายสินค้าได้เงินเหมือนกัน ควรจะเห็นใจ แฟร์กันทั้งคู่มากกว่า 

องค์กรกลาง อาจเป็นทางออกที่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการแก้ปัญหา ทางออกของเรื่องนี้ อาจต้องมีสมาคมหรือองค์กรกลางในการช่วยกำหนดราคาหรือเป็นตัวกลางได้ระหว่างลูกค้ากับคนทำงาน งานระดับนี้ งานยากขนาดนี้ อุปกรณ์นี้ควรใช้ อยู่ในระดับเรตที่เท่าไร มันจะช่วยคนทำงานและคนว่าจ้างว่าจะรับไม่รับทำงานอย่างไร 

องค์กรกลางอาจจะดีกับคนทำงานด้วยในแง่ของช่างภาพฟรีแลนซ์ อาจจะมีเรื่องสวัสดิการได้ด้วย เช่น อาจจะมีการเก็บค่าสมาชิกเพื่ออำนวยความสะดวกในการหางานและมีสวัสดิการประกันกลุ่ม ช่างภาพอาจจะไม่ใช่คนทำงานออฟฟิศแต่มีเอเจนให้ ช่างภาพไม่เหนื่อยดีล ได้งานตรงความต้องการและได้สวัสดิการด้วย 

หงาย วีรภัทร์ โจ้นโทน: งานถ่ายภาพคือเรื่องศิลปะ รูปภาพไม่ใช่แค่ภาพถ่าย แต่เป็นความทรงจำ

เวลารับงานต้องดูเนื้องานก่อนถึงกำหนดราคาได้ หงายเล่าว่า ปกติต้องดูงานอะไร เช่น งานแต่ง เริ่มตี 5 ครึ่งถึงบ่าย 2 บ่าย 3 ประมาณ 9-10 ชม. ถูกสุดชั่วโมงละ 1,000 บาท ถ้างานรับปริญญา เริ่ม 8.00น. เสร็จ 12.00น. ก็ 4,000 บาท เพราะเดี๋ยวนี้ค่าครองชีพแพง เคยเจอกรณีอยู่ กทม. ให้ไปถ่าย มช. เต็มวัน 3,000 รวมค่าเดินทางด้วย ก็ไม่สามารถรับงานได้เช่นกัน 

การถ่ายภาพ ไม่ใช่แค่ถ่ายภาพแล้วกลับ แต่ต้องมีกลับไปทำรูปและแพคเกจจิ้งให้ลูกค้า ถ้าถ่ายวิดีโอก็มีค่าตัดต่ออีก เรตชั่วโมงละ 1,000 บาทคือเรตฟรีแลนซ์ปกติ แต่ถ้าเป็นมืออาชีพก็เพิ่มไปอีก 2 เท่า สำหรับเรตมือใหม่ เด็กสมัยนี้ ถ่าย 4 ชั่วโมงก็อยู่ที่ราวๆ 2,500 บาท 

สำหรับเรตราคาที่เป็นประเด็นนี้ ในแง่ลูกค้า รู้สึกได้ว่าไม่ให้เกียรติ หงายมองว่าหากมองมุมลูกค้า คือไม่ให้เกียรติช่างภาพ ส่วนช่างภาพการคิดราคาเช่นนี้คือการตัดราคาทำให้ช่างภาพเสื่อมเสีย ไม่เห็นคุณค่าของงาน งานถ่ายภาพถือเป็นงานศิลปะ 

ช่างภาพควรคำนึงถึงต้นทุนของการถ่ายภาพ สำหรับทางออกเรื่องนี้ หงายให้แง่คิดว่าช่างภาพควรจะต้องคิดว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างในการออกไปถ่ายงานหนึ่งครั้ง ทั้งค่ารถ ค่าเดินทาง ค่าข้าว ค่าอุปกรณ์ การทำงานไม่ได้ออกไปเล่นๆ แล้วได้ตังค์กลับมาใช้ ลูกค้าก็ต้องคิดถึงหัวอกคนทำงานด้วย

ปัญหานี้มีทุกปี มีตลอด คนเราไม่ใช่หุ่นยนต์ คนที่ไม่รู้เรตค่าแรงต้องหาข้อมูลก่อน ส่วนช่างภาพต้องพยายามเพิ่มทักษะให้ถึงระดับที่เริ่มรับงานได้ ไม่ใช่เริ่มถ่ายรูปใหม่ๆ ก็รับงานแล้ว ควรฝึกซ้อมก่อน การออกไปเก็บภาพ มันคือการเก็บเสี้ยววินาทีเหตุการณ์ชีวิตคนคนหนึ่ง สำคัญมาก รูปภาพไม่ใช่ภาพถ่ายใบเดียวแต่มันเป็น memory ของคนคนนั้นเลย 

ช่างภาพ cameraman
Photo by Peter Oertel on Unsplash

ปอนด์ ศรัณย์ แสงน้ำเพชร: ควรมีการถ่ายทอดความรู้ในการกำหนดค่าแรงถ่ายภาพ

โดยมากจะรู้กันอยู่แล้วว่าราคากลางๆ อยู่ที่ประมาณเท่าไร สำหรับระดับมืออาชีพ มันจะมีระดับราคาที่ควรจะเป็น เช่น 15 ชั่วโมง ควรเป็นเรต 1 วันครึ่ง เรตกลางๆ ประมาณ 8,000 บาทไปถึง 12,000 บาท ขณะที่ระดับมือใหม่ 5,000-6,000 บาท เรตนี้เป็นมือใหม่ ไม่ได้มีประสบการณ์ เอาตามจริงราคาขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ซึ่งก็สามารถเพิ่มราคาได้อีก 

ลูกค้าคิดเรตนี้ 15 ชั่วโมง 2,500 บาท คิดเห็นอย่างไร? ปอนด์มองว่า ลูกค้าตีมูลค่างานต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ไม่ได้มองว่ากดราคา แต่ลูกค้าอาจจะไม่รู้ระดับราคามาตรฐาน หรืออาจจะไม่ได้ทำการบ้านเรื่องเรตราคามา หรืออาจเป็นพาร์ทที่ไม่ได้ให้ความสนใจ อาจจะลงงบส่วนอื่น หรืออาจจะไม่ได้ต้องการภาพจริงจังที่มีคุณภาพสูงระดับหนึ่ง คืออาจมองว่าแค่มีภาพก็พอแล้ว

มุมมองต่อช่างภาพที่รับงานราคานี้? ปอนด์มองว่าสำหรับช่างภาพมือใหม่ ถ้าอยากเก็บพอร์ท ก็สามารถทำได้ แต่ถ้าเป็นมืออาชีพมีประสบการณ์ระดับหนึ่งแล้วจะทำให้ราคาตลาดเสียด้วย ทำให้คนปรับเรตตามและในที่สุดจะทำให้ราคาตลาดพัง ซึ่งการคิดเรตงานนั้นก็แล้วแต่ประเภทของงาน ถ้างานอีเวนต์นับเป็นคิว คิวละกี่ชั่วโมง ถ้าเต็มวัน 8-9 ชั่วโมง หรือวันครึ่ง เป็นต้น 

การคิดราคาต้องคำนึงทั้งชั่วโมงงาน ความยากง่ายของงานและคุณภาพงาน เวลาในการถ่ายทำ คุณภาพงานที่ต้องการ ถ้าไม่ซีเรียสมากเช่นงาน อีเวนต์ที่อยากให้มีภาพเพื่อลงสื่อเท่านั้น ราคาอาจไม่สูงเกินไป ก็อาจจะอยู่ที่ 6,000-8,000 บาท แต่ถ้างานประเภทอื่น เช่น ถ่ายแฟชั่น ถ่ายโปรดักซ์ ถ่ายอาหารที่ต้องครีเอทีฟมากจะมีอีกเรตนึง อยู่ที่ว่าช่างภาพต้องทำการบ้านแค่ไหน ก่อนถ่ายและหลังถ่าย (ปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ ด้วย เช่นค่าเสียเวลา ค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์ ค่าเสื่อมอุปกรณ์) 

งานแต่ละงานมีความยากง่ายต่างกัน เช่น งานแต่งงาน ห้ามพลาดแม้แต่นิดเดียว ช่างภาพต้องแคปเจอร์โมเมนต์ให้ครบ สมมติเป็นประเภทสินค้า แฟชั่น ถ่ายในสตูดิโอ การทำการบ้าน การหาอ้างอิง การขายไอเดีย อาจจะมายากอีกทีในช่าวง post production การรีทัช การแต่งภาพให้ได้มู้ดแอนด์โทนที่ต้องการ ถ้าตอบในมุมช่างภาพด้วยกันเอง ไม่น่ามีใคร ok กับเรตราคาประมาณนี้ 

ช่างภาพ cameraman
Photo by Alireza Badiee on Unsplash

ทางออกของเรื่องนี้ ควรมีราคากลาง ปอนด์มองว่า ควรมีราคากลาง ในทางปฏิบัติ ทำได้ยาก เพราะไม่มีกฎหมายมาคุ้มครองเหมือนค่าแรงขั้นต่ำ แต่เป็นสิ่งที่ควร educate คนว่า คนในวงการนี้ วิธีคิดราคาควรจะคิดจากอะไรบ้าง มีการให้ความรู้ในวงกว้าง ในการกำหนดราคา การให้ความรู้ในวงกว้าง อาจจะมีสมาคมถ่ายภาพที่ออกมาช่วยผลักดันเรื่องนี้ หรือคนมีชื่อเสียงที่เป็นมืออาชีพแล้วมาทำคอนเทนต์สำหรับคนที่ไม่รู้ว่าเริ่มต้นยังไง 

ทุกอย่างมีต้นทุนของมัน ไม่ว่าจะเป็นค่าความรู้ อุปกรณ์ ค่าเสียโอกาส ค่าเสียเวลา เหมือนอาชีพหนึ่งที่ต้องใช้ทักษะในการทำงาน ไม่อยากให้ประเมินมูลค่าผลงานที่ต่ำเกินไป ประเมินแบบนั้น คุณภาพงานจะได้ตามที่เสนอมา แปรผันตรงกัน ถ้าต้องการคุณภาพดีต้องให้คุณค่าความรู้และประสบการณ์มากกว่านี้ งานถ่ายภาพก็มีหลายประเภท บางประเภทไม่ใช้ประสบการณ์เยอะ บางงานต้องการคุณภาพสูง ก็ต้องประเมินตามศักยภาพตัวช่างภาพด้วย มากกว่ากำหนดราคาตายตัวและมองหาใครสักคนที่รับราคานี้ได้ 

สรุป

เรื่องนี้ช่างภาพให้มุมมองตรงกันว่า ราคาที่กำหนดไว้ถือว่าต่ำเกินไป ลูกค้าควรคำนึงถึงหัวอกช่างภาพแบบใจเขาใจเรา ควรนึกถึงต้นทุนที่ช่างภาพต้องจ่ายทั้งค่าเสียเวลา ค่าเสียโอกาส ค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์ ฯลฯ รวมทั้งความยากง่ายของงานที่ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ของช่างภาพในการถ่ายทอดผลงานด้วย ขณะเดียวกัน ช่างภาพที่รับราคาจ้างงานที่ต่ำเกินไปจะต้องพิจารณาต้นทุนในการทำงานให้ดีและควรคำนึงถึงตลาดเพราะอาจทำให้ราคาตลาดที่เป็นอยู่สูญเสียคุณค่าและนำไปสู่การเข้าใจผิดในการกำหนดราคาการจ้างงานของลูกค้าได้ 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา