นี่มันยุคแห่งความยืดหยุ่น ทำไมเราต้องทนทำงานที่ไม่ชอบ ทนทำงานให้เหนื่อยล้าจนสุขภาพจิตแย่ หาวิธีพักให้ใจกลับมาฟูเหมือนเดิมดีกว่า
Micro-retiring คือศัพท์ใหม่ของการพักงานยุคนี้
ไม่ใช่การลาสั้นๆ แบบลาพักร้อน แต่เป็นการเกษียณเล็กๆ หรือหยุดทำงานเป็นเวลาสั้นๆ
หันหลังให้งานสักพักหนึ่ง
นี่คือเทรนด์ใหม่ที่เหล่า Gen Z หาวิธีพักจากงาน เพื่อทำให้สุขภาพจิตตัวเองดีขึ้น
การพักงานแบบนี้ หรือการเกษียณจากงานในระยะเวลาสั้นๆ นี้จึงไม่ใช่การรอให้อายุเฉียด 60 ปีขึ้นไปแล้วค่อยเกษียณ แต่เป็นการเริ่มเกษียณเลยตั้งแต่วันนี้ ถ้ารู้สึกว่าใจไม่ไหวจะทำงานอีกต่อไปแล้ว
หลายคนลองทำ Micro-retiring แล้ว พบว่า สุขภาพจิตดีขึ้นจริง
ด้าน Dr. Christopher Fisher นักจิตวิทยา ผู้อำนวยการแผนกจิตเวทผู้ป่วยนอกที่เป็นผู้ใหญ่ แห่งมหาวิทยาลัย Northwell บอกว่าวิธีนี้ทำให้คนสามารถควบคุมชีวิตตัวเองได้มากขึ้น และยังช่วยลดอาการหมดไฟหรืออาการ burnout ได้ เป็นการพักเบรคที่จำเป็น เพื่อจะกลับมาทำงานด้วยพลังที่สดใสกว่าเดิม เป็นการชาร์จพลังงานที่ทำให้คนรู้สึก Productive และเติมเต็มชีวิตตัวเองได้สมบูรณ์มากขึ้น
มันทำให้เรียกพลังงานกลับมาไม่พอ แต่ยังช่วยทำให้คนมีโฟกัสทำงานได้ดีขึ้น สำหรับใครก็ตามที่สูญเสียสมาธิจากการทำงาน
Fisher บอกว่า การไปปาร์ตี้ ไปดื่ม ไปดริ๊งค์ ไปแฮงก์เอาท์กับเพื่อนอาจจะได้รับพลังงานบวกกลับมาทันที แต่ในระยะยาวแล้วมันทำลายสุขภาพตัวเองล้วนๆ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญกับตัวเองจริงๆ คือสุขภาพจิตของตัวเองต่างหาก
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกคนที่คิดจะพัก ก็พักได้ มันมีเรื่องที่น่าห่วงอยู่บ้าง นั่นก็คือเรื่อง “การเงิน” Paul J. McCarthy III ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัทที่ให้คำปรึกษาด้านการลงทุน Kisco Capital บอก ประโยชน์ที่ได้จากการทำ micro-retirement นอกจากสุขภาพจิตดีขึ้นแล้ว ก็คือการที่เราไปหาทางสร้างทักษะใหม่ๆ ให้ตัวเอง เพื่อการสร้างโอกาสให้อาชีพการงานในอนาคตหลังจากนี้ เพราะถ้าเอาแต่พัก อาจกระทบการเงินได้ และถ้าพักนานเกินไป ก็อาจกระทบต่อหน้าที่การงานได้เช่นกัน
McCarthy บอกว่า อิสรภาพที่ดีก็ควรจะมาจากอิสรภาพทางการเงินด้วย การหยุดพักนานๆ ไม่ได้การันตีว่าคุณจะกลับเข้าสู่ระบบการทำงานได้เหมือนกับคนที่ไม่เคยหยุดพักจากงาน มันขึ้นอยู่กับว่า คุณใช้เวลาหยุดพักนานๆ เพื่อไปทำอะไร เขามองว่า สุขภาพจิตอาจจะได้รับผลกระทบหนักกว่า ถ้าชีวิตไม่มีเงินใช้
ดังนั้น คิดจะพัก พักได้ นานเท่าไรก็ได้ ตราบเท่าที่ไม่กระทบเงินในกระเป๋า หรือตราบเท่าที่ยังรับผิดชอบชีวิตตัวเองได้อยู่ และก็ต้องรับผลจากการหายหน้าหายตาจากการทำงานไปด้วยเช่นกัน
ที่มา – Yahoo Life
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา