รู้จักกลุ่มลูกค้าติดลักซ์ ติดหรู: เขาชอบสินค้าแบบไหน เขาเสพคอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์มใด

ผลวิจัยจากวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยงานวิจัย Unstoppable Luxumer เจาะอินไซต์ หยุดไม่ได้ใจมันลักซ์ ลักซ์หรือความลักซ์ในที่นี้ เอามาจากคำว่า Luxury 

ปัจจุบันเศรษฐกิจประเทศไม่ค่อยดี แต่ยอดขายสินค้าแบรนด์เนมกลับพุ่งขึ้น เช่น Celine ฟีเวอร์ Dior ที่มี Lip glow ของจีซูก็ขายดีมาก นอกจากนั้นก็มีอีกหลากหลายแบรนด์ เช่น Oh Juice น้ำปั่นแก้วเกือบ 300 บาท, ชาไทย KARUN, Pop Mart, iPhone 15 ราคา 74,690 บาท และก๋วยเตี๋ยวทองสมิทธ์ เป็นต้น

นี่คือพฤติกรรมที่เข้าข่ายว่าคุณเป็นคนที่ติดลักซ์หรือติดหรู 

ซื้อเครื่องดื่มในห้างราคาหลักร้อย, รับประทานอาหารมื้อหลักพัน, ซื้อกระเป๋าแบรนด์เนม, ซื้อเสื้อผ้าแบรนด์เนมหรือสินค้าแฟชั่น, เดินทางด้วยสายการบินระดับ Business Class และซื้อรถยนต์แบรนด์ยุโรปราคาหลักล้าน

Luxury Luxumer

จากผลการสำรวจของผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 1,018 คน แบ่งเป็นเพศหญิง 74% เพศชาย 26% แบ่งตามช่วงวัยดังนี้ Baby Boomer 3%, Gen X 14%, Gen Y 63% และ Gen Z 20%

พื้นที่ในตัวเมือง 72% ชานเมือง 28%

แบ่งตามอาชีพ พนักงานออฟฟิศ 58% เจ้าหน้าที่รัฐ 14% เจ้าของธุรกิจ 12% นักศึกษา 11% และอื่นๆ 5%

รายได้มากกว่า 50,000 บาท 46%
รายได้น้อยกว่า 50,000 บาท 54%

สถานะโสด 44%, ไม่โสด 27%, สมรส 27%, หย่าร้าง 2%

จากการสำรวจพบว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มที่มีพฤติกรรมติดลักซ์นั้น พบว่า 31% มีความติดลักซ์ในระดับมาก อีก 6% มีความติดลักซ์มากที่สุด ผู้ชายติดลักซ์มากกว่าผู้หญิง

Luxury

โดยการวัดค่านิยมที่คนยึดติดกับวัตถุสิ่งของ (Material Values Scale: MVS) เปรียบเหมือนความสุข ความสำเร็จ และได้ใช้ชีวิตในแบบที่ตนเองต้องการ

สินค้าที่คนติดลักซ์หรือติดหรูซื้อมากที่สุด ถ้าแบ่งตามเพศสภาพ พบว่า เพศชายชอบซื้ออุปกรณ์เทคโนโลยีมากที่สุด แบรนด์ Apple ตามด้วยเครื่อแต่งกายและแฟชั่น Louise Vuitton และอาหารหรือเครื่องดื่มแบรนด์ Starbucks ส่วนผู้หญิงที่ติดลักซ์หรือติดหรู ซื้ออาหารและเครื่องดื่มมากที่สุดคือ Starbucks, ตามด้วยเครื่องสำอาง สกินแคร์ น้ำหอม แบรนด์ Dior ส่วนเครื่องแต่งกายแฟชั่น แบรนด์ Dior เช่นกัน

ช่วงวัยของคนที่ติดลักซ์หรือติดหรู ถ้าเป็นกลุ่ม Gen Z, Gen Y และ Baby Boomer คืออาหารและเครื่องดื่ม ขณะที่ Gen X นิยมซื้อเครื่องแต่งกายและแฟชั่นมากที่สุด

แต่ถ้าเทียบระดับความติดลักซ์หรือติดหรู คน Gen X อยู่ในระดับมากที่สุด ตามด้วย Gen Z, Gen Y และ Baby Boomer

Luxury Luxumer

ถ้าเทียบอันดับประเภทสินค้าที่คนติดลักซ์หรือติดหรูซื้อมากที่สุดตามช่วงวัย แบ่งได้ ดังนี้

  • Gen Z ซื้ออาหารและเครื่องดื่ม, เครื่องแต่งกายและแฟชั่น, ซื้ออุปกรณ์เทคโนโลยี โดยให้เหตุผลในเรื่องการซื้อกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มในราคาแพง เพราะต้องการให้รางวัลตัวเอง
  • Gen Y ซื้ออาหารและเครื่องดื่ม, เครื่องสำอาง น้ำหอม สกินแคร์ ตามด้วยเครื่องแต่งกายและแฟชั่น เหตุผลที่เลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มแพงสุดเพราะต้องการเสริมภาพลักษณ์ และความภาคภูมิใจที่หาเงินมาซื้อได้
  • Gen X ซื้อเครื่องแต่งกายและแฟชั่น, อาหารและเครื่องดื่ม ตามด้วยเครื่องสำอาง น้ำหอมและสกินแคร์ เหตุผลที่ซื้อเครื่องแต่งกายและแฟชั่นมากที่สุด เพราะต้องการเสริมภาพลักษณ์และความมั่นใจเวลาพบปะผู้คน
  • Baby Boomer ซื้ออาหารและเครื่องดื่ม, สุขภาพและความงาม ตามด้วยเครื่องแต่งกายและแฟชั่น สาเหตุที่ซื้อกลุ่มอาหารแพงที่สุด เพราะชอบในคุณภาพและรู้สึกเป็นคนทันสมัย

คนรายได้น้อย เน้นติดลักซ์ อาหาร – เครื่องดื่ม
คนรายได้สูง ติดลักซ์ กระเป๋าและเสื้อผ้าแบรนด์เนม

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลบน Social Media จาก Wisesight พบว่า คำว่า Luxury brand มียอด engagement มากถึง 56 ล้าน กรุงเทพฯ ครองแชมป์ติดหรูมากที่สุด 56.9% แบ่งตามประเภทสินค้าและช่องทางโซเชียลมีเดีย ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2024 ดังนี้

Luxury Luxumer

กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม 
คนกลุ่มนี้ชอบเสพคอนเทนต์ด้านอาหารและเครื่องดื่มผ่านแพลตฟอร์ม TikTok มากที่สุด ชอบมีส่วนร่วมกับคอนเทนต์ที่เป็น Short Video มากกว่าบทความหรือรูปภาพ

Top 3 Mention บนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุด ดังนี้ Facebook 6,043 ครั้ง, Twitter หรือ X 2,589 ครั้ง ตามด้วย Instagram 2,439 ครั้ง

Top 3 Engagement บนแพลตฟอร์ม TikTok มากสุด มียอด Engagement มากถึง 3.2 ล้าน ตามด้วย Facebook 1.4 ล้าน และ Instagram 1.2 ล้าน

Top 3 Engagement KOL 

  • Buttebear หรือน้องหมีเนยมี engagements สูงที่สุดในแพลตฟอร์ม Facebook อยู่ที่ 21,021
  • hhappybeingsai แพลตฟอร์ม TikTok มี engagement มากที่สุดอยู่ที่ 108,526 และ Instagram มี engagement อยู่ที่ 15,983
  • kaewkwkw แพลตฟอร์ม X มียอด engagemnet อยู่ที่ 15,344 ครั้ง

Luxury Luxumer

กลุ่มเครื่องสำอาง สกินแคร์
คนที่ชอบสินค้ากลุ่มนี้ ชอบติดตามเรื่องราวผ่านรูปภาพมากที่สุด ตามด้วยคลิปสั้นใน TikTok และคอนเทนต์ใน Facebook

Top 3 Mention แพลตฟอร์มที่พูดถึงมากที่สุดคือ Facebook อยู่ที่ 7,967 ครั้ง ตามด้วย X อยู่ที่ 5,327 ครั้ง และ Instagram 4,819 ครั้ง

Top 3 Engagement แพลตฟอร์มที่มียอด Engagement มากที่สุดคือ Instagram 3.5 ล้านครั้ง ตามด้วย TikTok 1.6 ล้านครั้ง และ Facebook 9.98 แสนครั้ง

Top 3 Engagement KOL

  • @Jeffsatur มียอด engagement สูงสุดใน Instagram อยู่ที่ 311,772 ครั้ง
  • @mhiumhiu มียอด engagements สูงสุดใน TikTok อยู่ที่ 241,017 ครั้ง
  • คิมบับครับผม มียอด engagement สูงสุดใน Facebook อยู่ที่ 16,879 ครั้ง

Luxury Luxumer

กลุ่มเครื่องแต่งกาย/แฟชั่น
คนกลุ่มนี้ชอบคอนเทนต์คลิปสั้นบนแพลตฟอร์ม TikTok มากที่สุด ตามด้วย X หรือ Twitter และ Facebook 

Top 3 Mention แพลตฟอร์ม X สูงสุดอยู่ที่ 17,334 ครั้ง, Facebook 8,373 ครั้ง และ Instagram 5,231 ครั้ง

Top 3 Engagement แพลตฟอร์ม TikTok มากที่สุด อยู่ที่ 6.1 ล้านครั้ง ตามด้วย X อยู่ที่ 1.9 ล้านครั้ง ตามด้วย Facebook 1.8 ล้านครั้ง

Top 3 Engagement KOL

  • @itfeelstory ยอด engagement สูงสุดในแพลตฟอร์ม X ที่ 4.52 แสนครั้ง
  • @nana.tada.ch ยอด engagemnet สูงสุดใน TikTok ที่ 1.76 แสนครั้ง
  • ใต้เตียงดารา ยอด engagement สูงสุดใน Facebook ที่ 1.27 หมื่นครั้ง

ผลสำรวจพบว่าเกินครึ่ง หรือ 54% มีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาท ยอมควักเงินซื้อสินค้าหรูในระดับราคา 10-30% ของรายได้ต่อเดือน ราว 50% มีเงินเก็บน้อยกว่า 6 เดือน

Luxury Luxumer

จากการวิเคราะห์เชิงลึกพฤติกรรมของคนติดลักซ์ พบว่า มี 5 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มหรูปริ่มน้ำ 40% เงินออมน้อย ใช้ไม่คิด (มีรายได้และเงินออมไม่สูง ติดหรู ชอบซื้อสินค้าในกระแส)
  • กลุ่มหรูเขียม 28% เงินออมน้อย วางแผนก่อนใช้ (มีรายได้และเงินออมไม่สูง)
  • กลุ่มหรูเจียมตัว 24% เงินออมปานกลาง วางแผนก่อนใช้ (มีรายได้และเงินออมปานกลาง)
  • กลุ่มหรูได้ มีสติด้วย 6% เงินออมเยอะ วางแผนก่อนใช้ (รายได้สูง มีเงินออมเกิน 5 ปี หาความคุ้มค่าจากการซื้อให้ได้มากที่สุด เช่น คิดว่าต้องใช้บัตรเครดิตแบบใดมาใช้เพื่อได้คะแนนคุ้มค่า)
  • กลุ่มหรูลูกคุณ 2% เงินออมเยอะ ใช้ไม่คิด (หรูไม่จำกัด บ้านรวย)

Insight ของคนติด Luxury และสาเหตุที่ทำให้คนมีพฤติกรรมติดลักซ์ ติดหรู ก็เพราะอยากให้คนอื่นยอมรับ อยากแสดงสถานะทางสังคม อยากโดดเด่น แตกต่าง ไม่ซ้ำใคร ผู้ชายอยากได้การยอมรับและชอบความโดดเด่นมากกว่าผู้หญิง

Gen Y อยากโดดเด่น แตกต่างไม่ซ้ำใครมากกว่า Gen Z

คำว่า LUXE มาจากอะไร?
L มาจาก Lifestyle สร้างภาพลักษณ์ที่หรูหรา สะท้อน Lifestyle มีระดับ
U มาจาก Uniqueness สร้างความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์ หาไม่ได้จากแบรนด์อื่น
X มาจาก Experience สร้างประสบการณ์สุดพิเศษ เหนือระดับให้ผู้บริโภค
E มาจาก Endorsement ใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลมาขับเคลื่อนแบรนด์

ตัวอย่างการสร้างภาพ LUXE จากแบรนด์ต่างๆ

L-Lifestyle

ไลฟ์สไตล์จากแบรนด์แสนสิริ บ้านเศรษฐสิริ กลายเป็นสัญลักษณ์ความหรูหรา ที่ดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่มองหาความพิเศษและความสำเร็จ

ไลฟ์สไตล์จาก Louis Vuitton: Art of Living สร้างภาพลักษณ์แบรนด์ผ่านการถ่ายทอดความหรูหราและการใช้ชีวิตที่มีระดับ ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ในบริบทที่สะท้อนถึงความสำเร็จและสไตล์ชีวิตที่เหนือกว่า

U-Uniqueness

BOROM แบรนด์น้ำหอมหรู สุดพรีเมียม

Goyard ต้นตำรับแบรนด์หรู ที่นำเสนอความแรร์ไฮเอนด์ แบรนด์หรูอายุกว่า 200 ปี ดีไซน์คลาสสิคแบบ Old-school luxury ผลิตแบบ Limited edition และจำกัดให้ลูกค้าซื้อสินค้าได้ไม่เกิน 3 ชิ้นต่อปี หาซื้อไม่ได้ผ่านช่องทางออนไลน์

X-Experience

Starbucks สร้างประสบการณ์สุดพิเศษให้ลูกค้า เช่น เขียนข้อความพิเศษลงบนแก้ว เขียนข้อความพิเศษลงบนแก้ว

E-Endorsement

Celine อิทธิพลของ Lisa ทำให้แบรนด์ Celine ประสบความสำเร็จจนกลายเป็นแบรนด์หรูที่เติบโตเร็วที่สุด ช่วยสร้างความภักดีในกลุ่มแฟนคลับและนำไปสู่การซื้อสินค้า ทำให้มูลค่าแบรนด์ Celine เพิ่มขึ้น 118% เป็น 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

SOURI มาการอง ของวิน เมธาวิน สามารถสร้างยอดขาย 1 แสนชิ้นต่อเดือน มีการใช้ KOL ที่มีไลฟ์สไตล์สอดคล้องกับแบรนด์เพื่อเสริมภาพลักษณ์แบรนด์ด้วย

สัมมนา เจาะอินไซต์ หยุดไม่ได้ ใจมันลักซ์

ในงานยังมีการจัดงานสัมมนาการตลาด “Unstoppable Luxumer เจาะอินไซต์ หยุดไม่ได้ ใจมันลักซ์” ด้วย โดยมี พุทธศักดิ์ ตันติสุทธิเวท จาก Wisesight (ประเทศไทย) หมอต่อ นพ.ภาณุพงศ์ ภัทรกุลทวี ผู้ร่วมก่อตั้ง Dermatige Aesthetics ไปป์ บรม วิชญะเดชา CEO ผู้ก่อตั้งแบรนด์ BOROM แบรนด์น้ำหอมพรีเมียม

Luxury Luxumer

พุทธศักดิ์ เล่าว่า Wisesight คือบริษัทผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดีย ข้อมูลอีคอมเมิร์ซ ให้บริการ omnichannel solutions มี 3 service หลัก 

หมอต่อ ปัจจุบันทำคลินิกหมอกลาง ทำความงามล้วน มีอย่างอื่นบ้าง เช่น ขายเครื่องสำอางแบรนด์ตัวเอง

บรม ทำน้ำหอม เนื่องจากเราชอบน้ำหอม อยากทำน้ำหอมที่มีคุณภาพ ชื่อเราก็ไทย จึงลองทำแบรนด์น้ำหอมแบรนด์ BOROM ทำมาหลายอย่างแล้ว สำเร็จบ้าง ผิดพลาดบ้าง อยากมีความสุขกับสิ่งที่ทำ ทำเอาแบรนด์ดิง ภาพลักษณ์ เริ่มทำมาจากความรัก ความชอบส่วนตัว 

สาเหตุที่คนกล้าใช้จ่ายกับแบรนด์พรีเมียม?

พุทธศักดิ์ เล่าว่า 5 อินไซต์ที่คนอยากจ่ายเพื่อของหรู แบ่งได้ ดังนี้

  • มันเป็นสิ่งในฝัน เป็น Dream product เช่น รถ เครื่องสำอาง บ้าน
  • มันคือ Podium of Celebration เช่น สอบติด มีลูก ได้งาน ซื้อเพื่อให้รางวัลตัวเอง ทำให้ตัวเองหายเหนื่อย
  • เป็นสินค้าที่ซื้อมาเพื่อขิงคนอื่น
  • เห็นคนดังใช้ ซื้อตามเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของพรีเซนเตอร์ เราอยากมีแบบเดียวกัน
  • ซื้อเพื่อการลงทุน ของ Luxury ราคาไม่ค่อยตก คนกล้าจ่าย

เทรนด์เปลี่ยนไปตามเวลา เมื่อก่อนเป็นกระเป๋า น้ำหอม เครื่องประดับ โตขึ้นมาหน่อยก็ใช้ชีวิตพักผ่อนได้ luxury แล้ว ถ้าเด็ก ของหรูคือเทคโนโลยี แกดเจ็ทใหม่ๆ วัยกลางๆ ก็ของสะสมเช่น NFT ไปจนถึงอาร์ททอย

หมอต่อ นพ.ภาณุพงศ์ ให้ความสนใจเรื่อง Luxury มาตลอดตั้งแต่เด็ก อยู่ในวัยนี้ก็พยายามเจาะลูกค้ากลุ่มนี้อยู่ คิดว่า ถ้าความ Luxury เข้าถึงง่ายมันไปด้วยกันได้ ทำอะไรมีความสุข บางคนชอบใช้เงินศัลยกรรม ชอปปิง หรือซื้องานศิลปะสะสม เราเกิดมาชีวิตเดียว ใช้แล้วมีความสุข ไม่เดือดร้อนก็ใช้ไป 

ไปป์ บรม ระบุว่า ความคุ้มค่าที่ได้รับสำคัญกว่า ทำอะไรก็ได้ให้ออกมาดีที่สุด ราคาก็จะตามมา ปัจจุบันราคาไม่ใช่ปัจจัยหลักในการตัดสินใจซื้อ แต่เป็นเรื่องของความเฉพาะตัวและพรีเมียมของสินค้า 

Luxury Luxumer

Customer insight มีความสำคัญอย่างไรบ้าง

พุทธศักดิ์ ระบุว่า มันมีอินไซต์สองแบบ เราชอบสิ่งนี้ กับคนซื้อชอบสิ่งนี้ ถ้าจับคู่กันก็ไปด้วยกันได้ อินไซต์คือกระดุมเม็ดแรก เราไปตามเส้นที่เขาต้องการ เวลาหลุดจะไม่หลุดไกลจากเส้นนั้น เพราะเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ

บรม ระบุว่า เราเลือกจากสิ่งที่เราพอจะจัดไหว เราขอสู้กับออนไลน์ ช่องทางที่เป็นไปได้ก่อน เรารู้จักลูกค้าเรามากขึ้น คุยให้มากขึ้น นี่คือข้อดีของ SMEs เราจะถามพนักงานทุกวัน ลูกค้าเข้ามาอายุเท่าไร ชอบหรือไม่ชอบอะไรบ้าง อยากรู้จักลูกค้าให้ลึกซื้งมากขึ้น 

หมอต่อ เผยว่า เราใช้ของที่มีคุณภาพ ทำคอนเทนต์ให้เข้าถึงง่าย เมื่อก่อนคิดว่าถ้าทำอะไรบ้าๆ บอๆ จะได้ลูกค้าเหรอ ตัวอย่างจากแบรนด์ Valentino ถ่ายกล้องหน้า โฆษณารองเท้าส้นสูง ที่ไวรัลมาก ทำอะไรก็ตามเรียกเอนเกจเมนท์ได้ ไม่ว่าวิธีไหน เช่น ผมมีละครคุณธรรม ลองทำไปก่อน ดีกว่าไม่ทำ เพราะเสียโอกาส อย่างพ่อไม่เคยอยากไปหาหมอหน้าเลย แต่พอดูละครคุณธรรมก็อยากไปหาหมอกลางสักครั้งหนึ่ง

บรมมองว่า กลยุทธ์ที่ทำให้แตกต่าง ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำ คือการที่เราสร้าง Positioning ชัดเจน คนอาจมองว่า เราสร้างร้านค้าใหญ่และใช้เงินไปเรื่อยๆ แต่เราอยากให้แบรนด์ไทยติดตลาดก่อน แบรนด์ไทยโดนกดดันอยู่แล้ว เราตั้งเทียบกับเคาทเตอร์แบรนด์ ก็คิดว่าเราเป็นตัวแทนทีมชาติไทย ซึ่งลูกค้าก็ตอบรับดีหลังจากสองปี 

แบรนด์ควรจะมีกลยุทธ์อะไรบ้าง?

พุทธศักดิ์ ระบุว่าแบรนด์ควรมีกลยุทธ์ 3E 

  • Expectation เวลาคนจ่ายเงินมูลค่าสูง คาดหวังต่อแบรนด์ คุณภาพที่ต้องส่งมอบ ซื้อของหรูแบบนี้ใช้ได้นาน ใช้ทน คุ้มค่า แบรนด์ส่วนใหญ่ก็เป็นแบบนี้ แบรนด์แพงได้แต่คุณภาพต้องดีมาก
  • Experience ต้องได้รับประสบการณ์ที่ดี ทั้งจากการรับบริการ กระบวนการในการซื้อ
  • Elegance คนคาดหวังให้ฉันไปงานต้องดูอลัง ดูใหญ่ เลือกเซเลบมาต้องสมมง เทรนด์ตอนนี้เปลี่ยนไป ไม่ต้อง elegance ทุกบริบท เขารับสื่อ แต่เข้าใจตัวตน แต่สื่อสารให้สัมผัสได้

อุตสาหกรรมอะไรบ้างที่เพิ่มความ Luxury เข้ามา

พุทธศักดิ์ มองว่า อาร์ททอย ของสะสม gadget ซึ่งก็แล้วแต่ segment อย่างขับรถสปอร์ตหรูก็ยังอยู่ แบรนด์ luxury ทำให้เข้าถึงง่ายมากขึ้น 

ด้านหมอต่อ เผย ถ้าเป็นเฉพาะตลาดคลินิกความงาม คนขายเยอะขึ้น คนซื้อโตไม่ทัน ต้องเริ่มจาก core เช่นของมีคุณภาพจริงๆ ให้เข้าไปอยู่ในใจคน ต้องไปตามพวกโฆษณาตามวิทยุ พวก out of home media จะกลับมา เช่นวิทยุ คนที่มาก่อนและมาหลังจะไม่ต่างกันมากแล้ว 

สำหรับแพลนต่อไป จะทำสกินแคร์ เมคอัพ ทำด้วยความรัก ตอนนี้สินค้าพรีเมียมและ luxury หรือเวชสำอางก็ยังไปได้อยู่ 

บรม ระบุว่า แบรนด์ดิงเป็นหลัก ความคาดหวังมาก่อน เขาคาดหวังว่าน้ำหอมต้อง 3,000 บาทไม่เกินนี้ (ราคาน้ำหอม BOROM อยู่ที่ 9,000 บาท) อะไรทำให้คนเชื่อว่า ราคามันตามกลิ่นนี้ ผมเชื่อในเวลา มี Timeline ที่เหมาะสม เราไม่ได้เร่งกลไก เรารอได้ ใครว่าแพงไม่เป็นไร แต่ของดีแน่นอน

เดิม น้ำหอมแบรนด์ BOROM ปริมาณ 100 ml อยู่ที่ 9,900 บาท คราวนี้ออกมาให้คนเข้าใจมากขึ้น มันเหมือนงานศิลปะ ที่ต้องใช้เวลากับมัน ก็จะใช้ให้มันง่ายขึ้น มันอาจจะมีไซส์เล็กลง มีราคาที่หลากหลายขึ้น 

พุทธศักดิ์ ระบุว่า ต่อให้เศรษฐกิจเป็นยังไง กลุ่ม luxury ก็ยังอยู่ ช่วงวิกฤต หุ้น luxury ก็ยังโตอยู่ คนมีเงินก็มีเงินอยู่ อาจจะมี concern มากขึ้น เมื่อก่อนอาจจ่ายง่ายหน่อย ตอนนี้อาจจะคิดนิดหนึ่ง พอมี segment ที่มีเงินกับไม่มีเงิน หลายแบรนด์ก็จะออกสินค้าในกลุ่มนี้มากขึ้น ก็จะทำให้ตลาดแข่งขันกันมากขึ้น 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา