ปกติเราพูดกันถึงคน Gen X, Gen Y หรือ Gen Z แต่ในญี่ปุ่นมีคำเรียกคนรุ่นหนึ่งว่า “Lost Generation” คือ กลุ่มคนที่ยากลำบากเพราะสภาพเศรษฐกิจ ตำแหน่งงานไม่โต เงินเดือนไม่ขึ้น สะสมความมั่งคั่งได้ยาก
คนรุ่น Lost generation หมายถึงใคร?
Lost Generation ในญี่ปุ่นหลักๆ แล้ว หมายถึง คนที่ตอนนี้มีอายุ 40 ปีไปจนถึง 50 ปีต้นๆ ที่ยังต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเติบโตในหน้าที่การงานและได้ขึ้นเงินเดือนให้เท่ากับคนในรุ่นอื่นๆ
คนรุ่นนี้เรียนจบจากชั้นมัธยมปลายหรือมหาวิทยาลัยในช่วงเวลาที่เรียกว่า “ยุคน้ำแข็ง” (Ice age) หมายถึงช่วงปลายทศวรรษที่ 1990-2000
ยุคน้ำแข็งทำให้คนหางานลำบากเพราะเกิดหลังจากที่ฟองสบู่แตกในปี 1980 เป็นต้นมาจนทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์และราคาหุ้นพุ่งสูงลิบลิ่ว
คนรุ่น Lost Generation มีสัดส่วนประมาณ 20% ของประชากรญี่ปุ่นทั้งหมด ความเป็นอยู่ของกลุ่มนี้เลยมีความสำคัญกับทิศทางของเศรษฐกิจ
อายุน้อย เงินเดือนขึ้นมาก อายุมาก เงินเดือนขึ้นน้อย
ลองมาดูสภาพเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในตอนนี้กันว่าทำไมกลุ่ม Lost Generation ยังคงต้องดิ้นรนกันอยู่
ปัจจุบัน ระดับเงินเฟ้อของญี่ปุ่นยังสูงกว่า 2% มามากว่า 2 ปีแล้วท่ามกลางสภาวะที่ทั่วโลกก็ประสบปัญหาเงินเฟ้อด้วยกันหมด
ผลสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นบอกว่า รายได้ต่อเดือนหรือค่าจ้างของคนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2022 เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ นี้
แต่ที่สำคัญ ผลสำรวจอีกชิ้นของกระทรวงให้ข้อมูลในปี 2023 ว่า เงินเดือนเฉลี่ยของพนักงานที่มีอายุ 20-40 ปีเพิ่มขึ้นมากกว่า 10,000 เยนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่พนักงานอายุ 40 ปีปลายๆ ได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นแค่กว่า 1,000 เยน ขณะที่กลุ่มอายุ 50 ปีต้นๆ เงินเดือนลดลง
Lost Generation: ดิ้นรนตั้งแต่เริ่มทำงานจนถึงตอนนี้
ย้อนกลับไปใน ‘ยุคน้ำแข็ง’ ซึ่งเป็นช่วงที่กลุ่ม Lost Generation ถึงวัยที่จะเข้าสู่โลกการทำงาน บางคนที่หางานประจำได้สำเร็จก็มักจะเจอความท้าทายเรื่องการเติบโตในหน้าที่การงาน
สาเหตุหลักก็เพราะหลังยุคฟองสบู่แตก คนทำงานที่อายุมากกว่าคนรุ่นนี้ก็ต่างพากันกอดตำแหน่งงานที่มีไว้แน่นจากสภาพเศรษฐกิจที่ถดถอย บวกกับที่มีการยืดอายุเกษียณออกไปก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ของกลุ่ม Lost Generation ลำบากมากขึ้น
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ สัดส่วนของพนักงานที่อายุ 50 ปีต้นๆ ที่อยู่ในตำแหน่ง Senior Manager ลดลง 1.7% ขณะที่สัดส่วนของคนที่อายุ 30 ปีต้นๆ และ 60 ปีต้นๆ ที่ทำงานตำแหน่ง Senior Manager กลับเพิ่มขึ้น
พอเริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยสภาพเศรษฐกิจที่หางานได้ลำบาก คนจำนวนมากจากยุคน้ำแข็งก็ขาดประสบการณ์ในการทำงาน ทำให้การเปลี่ยนงานในช่วงกลางของชีวิตการทำงานลดลง
พนักงานผู้ชายที่มีอายุ 40 ปีปลายๆ มีอัตราการลาออกอยู่ที่ 5.4% น้อยกว่าพนักงานผู้ชายที่มีอายุ 30 ปีต้นๆ ที่อัตราการลาออกอยู่ที่ 7.7%
ขณะที่พนักงาน 40% ที่มีอายุ 20-39 ปี ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นจากการย้ายงานใหม่ กลุ่ม Lost Generation กลับมีราว 30% ที่เงินเดือนเพิ่มหลังย้ายงาน
Lost Generation ยังถูกละเลยแม้ในยุคขาดแรงงาน
แม้ว่าญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาขาดแรงงานจนทำให้บรรดาธุรกิจต้องพากันปรับปรุงสภาพการทำงานเพื่อดึงดูดคนมีความสามารถและรักษาคนเก่งที่มีอยู่ไว้ แต่กลุ่ม Lost Generation จำนวนมากก็ยังถูกมองข้ามอยู่ดี
Toshihiro Nagahama ประธานนักเศรษฐศาสตร์ที่สถาบันวิจัย Dai-ichi Life บอกว่า หลายบริษัทลังเลที่จะเพิ่มเงินเดือนให้คนกลุ่มนี้เพราะคิดว่าคนกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะเปลี่ยนงานน้อยกว่ารุ่นอื่นๆ
นอกจากนี้ การการันตีว่าจะถูกว่าจ้างงานไปตลอดชีวิตแบบที่เคยมีในญี่ปุ่นก็เอาแน่เอานอนไม่ได้อีกต่อไปแล้ว การขาดทักษะด้านดิจิทัลและทักษะอื่นๆ ทำให้กลุ่ม Lost Generarion สุ่มเสี่ยงที่จะติดอยู่ในวังวนที่ไม่ได้ขึ้นเงินเดือนและเลื่อนตำแหน่งต่อไปอีก
การสร้างเนื้อสร้างตัวและสะสมทรัพย์สินของคนรุ่นนี้เลยเป็นไปได้ยาก ข้อมูลจาก Central Council for Financial Services Information บอกว่า สัดส่วนของคนอายุ 40-50 ที่มีทรัพย์สินทางการเงินรวมน้อยกว่า 1 ล้านเยน (ประมาณ 2.4 แสนบาท) เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าจากปี 2003-2023 โดยมีสัดส่วนที่ 14%
ปัญหาของกลุ่มคนรุ่นยุคน้ำแข็งหลังฟองสบู่แตกไม่ใช่แค่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่งแต่ยังกระทบกับทั้งประเทศด้วย เพราะเมื่อมีคนที่มีรายได้ต่ำเพิ่มขึ้นก็อาจจะกระทบกับระบบประกันสังคมของญี่ปุ่นได้อย่างมีนัยสำคัญ
พอกลุ่มนี้มีรายได้ต่ำก็เลือกจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพที่ต่ำลงและเข้าถึงบริการสุขภาพที่ถูกลง ส่งผลต่อรายได้ที่เข้าสู่ระบบสวัสดิการของญี่ปุ่นที่ลดลงตาม
ไม่ใช่แค่เรื่องระบบประกันสังคม คนรุ่น Lost Generation จำนวนมากไม่สามารถแต่งงานได้เพราะสถานะทางการเงินไม่พร้อม ทำให้ผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนว่า คนสูงอายุที่ไม่ได้แต่งงานมักจะรู้สึกโดดเดี่ยวและเสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพ
และนี่คือชีวิตของกลุ่ม Lost Generation ที่อาจกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุใหญ่ที่ส่งผลกับปัญหาแรงงานและ Productivity ของเศรษฐกิจญี่ปุ่น
ที่มา – Nikkei Asia
อ่านเพิ่มเติม
- บริษัทญี่ปุ่นล้มละลายเกือบ 5 พันแห่ง สูงสุดในรอบ 10 ปี เพราะเงินเฟ้อและขาดแคลนแรงงาน
- เข้าสู่ยุค ‘ปลาหมึก’ แพงกว่า ‘วากิว’ คนขายทาโกะญี่ปุ่นโอดครวญ เงินเฟ้อทำพิษ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา