ทำความรู้จักกับ ‘Internet of Bodies’ จะเป็นยังไงถ้าเทคโนโลยีรวมร่างกับมนุษย์?

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้พวกเราหลายคนคงอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีอินเทอร์เน็ต นาฬิกาก็ต้องเป็น Smart Watch จะทำงานอะไรก็ต้องถามกูเกิ้ลหรือ AI เสียก่อน แล้วรู้หรือไม่ว่าในอีกไม่นาน เทคโนโลยีเหล่านี้จะเข้ามาผสานกับร่างกายเรากลายเป็นส่วนหนึ่ง เปรียบเหมือนอวัยวะที่ 33 สำนักข่าว CNBC เรียกสิ่งนี้ว่า ‘Internet of Bodies’

Internet of Bodies
Internet of Bodies

หลายๆ คนอาจเคยได้ยินนิยาม ‘Internet of Things’ ซึ่งหมายถึงเมื่อสิ่งของที่ขยับไม่ได้มาเชื่อมต่อกันผ่านทางอินเทอร์เน็ต แต่แล้วในปี 2016 ‘Dr. Andrea M. Matwyshyn’ นักวิชาการและนักเขียนได้ล้ำหน้าไปอีกหนึ่งขั้น ด้วยการคิดค้นคำว่า ‘Internet of Bodies’ หรือ ‘IoB’

เธอนิยามศัพท์นี้ว่า “มันคือเครือข่ายของมนุษย์ผู้พึ่งพาอินเทอร์เน็ตหรือเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเช่น AI เพื่อความสมบูรณ์และการทำงาน”

มันอาจจะฟังดูเวอร์เกินไป แต่ถ้าคุณมีลักษณะเช่นนั้น คุณก็อาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของ IoB ไปแล้ว

Internet of Bodies นั้นสามารถแบ่งออกได้สามหมวดหมู่ ตามระดับบูรณาการของมัน

ระดับแรกคือบูรณาการภายนอก กรณีนี้ก็อย่างเช่น สมาร์ทวอทช์ หรือ แหวน ซึ่งมีการใช้เซนเซอร์ในการตรวจจับก้าวเดินหรืออัตราการเต้นของหัวใจ อีกหนึ่งตัวอย่างก็คงเป็น แว่นสายตาอัจฉริยะที่สามารถทำงานได้ดั่งกล้อง หูฟัง และ จอภาพในเครื่องเดียว

ระดับที่สองคือบูรณาการภายใน คือเครื่องมือที่เราซึมซับหรือฝังมันไว้กับร่างกาย เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจไฟฟ้า อวัยวะเทียมที่ถูกฝังเอาไว้ในระบบประสาทหรือกล้ามเนื้อ รวมไปถึง ยาเม็ดแบบดิจิทัล เมื่อทานยาเข้าไป เซนเซอร์ในตัวยาจะส่งข้อมูลทางการแพทย์ของเราไปยังแอปพลิเคชันที่ดาวน์โหลดไว้

ระดับสุดท้ายคือการฝังเทคโนโลยีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย โดยตัวอุปกรณ์นั้นยังคงเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตหรือเครื่องมือภายนอกเพื่อการทำงานแบบเรียลไทม์ เช่น การฝังไมโครชิพเข้าไปในสมองเพื่อสั่งงานคอมพิวเตอร์

ทำความรู้จักกับ ‘Neuralink’

นวัตกรรมที่ใกล้เคียงกับ IoB มากที่สุดในตอนนี้ก็คือ ‘Neuralink’ บริษัทของ ‘Elon Musk’ ที่หวังจะพัฒนา Brain-Computer Interface (การเชื่อมต่อของสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์) หรือ BCI โดยตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ตัวนี้ว่า ‘The Link’

หลักการของมันคือจะฝังชิพขนาดเทียบเท่าเหรียญสิบบาทลงไปยังกะโหลกศีรษะ โดยเจ้าเครื่องมือจิ๋วตัวนี้จะทำหน้าที่อ่านคลื่นสมองของผู้ใช้งานเพื่อส่งสัญญาณควบคุมเครื่องมือที่อยู่รอบนอก

ผู้ทดลองใช้คนแรกของ ‘Neuralink’ คือชายผู้เป็นอัมพาตตั้งแต่ช่วงไหล่ลงไป เขาได้ใช้เทคโนโลยีนี้ในการเล่นหมากรุกบนคอมพิวเตอร์ แต่สุดท้าย ไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น ก็มีรายงานว่าเกิดการขัดข้องของระบบ

Internet of Bodies มาดีหรือมาร้าย?

ผู้ริเริ่มเครื่องมือ IoB ได้แสดงความเห็นว่านวัตกรรมนี้มีประโยชน์อย่างแน่นอน พวกมันจะพัฒนาการทำงานของร่างกาย ช่วยให้สุขภาพดีขึ้น รวมถึงลดค่าใช้จ่ายของมนุษย์และหน่วยงานต่าง ๆ อย่างเห็นได้ชัด ทว่าเมื่อมีคนเห็นด้วย ก็ต้องมีคนเห็นต่าง แม้กระทั่งเนื้อหาในบทความดั้งเดิมที่เป็นคนสร้างคำศัพท์นี้ ยังลงคำเตือนไว้ถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ของ Internet of Bodies

หนึ่งในอันตรายก็คงไม่พ้นจุดด้อยในการป้องกันดาต้า เครื่องมือเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วสามารถติดตาม บันทึก และเก็บข้อมูลส่วนตัวของเราได้ นักวิจารณ์ให้ความเห็นว่า ถ้ารัฐบาลหรือบริษัทได้ครอบครองข้อมูลเหล่านี้ไป พวกเขาจะสามารถใช้มันในการสอดส่องประชาชนหรือมีข้อได้เปรียบในการสร้างรายได้ 

มากไปกว่านั้น ยังมีประเด็นเรื่องความน่าเชื่อถือ ความเสี่ยงในการเสพติดการใช้เครื่องมือ และ ความปลอดภัยส่วนบุคคล ‘Dick Cheney’ อดีตรองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาคือกรณีศึกษาที่ดีสำหรับเคสนี้ เขาเผยว่าตนได้ยกเลิกระบบการทำงานของหัวใจเทียมแบบไร้สายที่เคยฝังไว้แล้ว เนื่องจากเขาเกรงว่าจะมีคนปองร้ายแล้วนำสิ่งนี้มาเป็นเครื่องมือในการทำให้เขาหัวใจวายตาย

นอกจากนี้ ยังคงมีคำถามศีลธรรมอีกมากมายที่ต้องพิจารณา เช่น เราจะสามารถอยู่บนโลกที่คนรวยใช้นวัตกรรมดีๆ เพื่อพัฒนาชีวิต โดยคนจนไม่มีอะไรเลยได้หรือไม่? และตามหลักปรัชญาแล้ว IoB จะทำให้เราไขว้เขวในตัวตนและการตัดสินใจหรือเปล่า? หรือ ใครจะเป็นคนคอยสังเกตความเสี่ยงต่าง ๆ?

AI, Technology

ใครจะเป็นคนรับรองหากเกิดข้อผิดพลาด?

นวัตกรรม IoB แบบฝังหรือบริโภคนั้นอยู่ในการดูแลของหน่วยงาน เช่น องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา หรือ องค์กรอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงในต่างประเทศ

พวกเขาจะมีข้อบังคับในการทำงานอย่างชัดเจน แต่จะไม่มีส่วนในการดูแลผู้บริโภคของสินค้าเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม มันก็ยังคงมีกฎหมายบางข้อที่สามารถนำมาใช้ในการปกป้องข้อมูลจาก IoB ได้อยู่บ้าง

ในสหภาพยุโรป พวกเขามีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (General Data Protection Regulation) ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องประชาชนในพื้นที่จากภัยข้อมูลรั่วไหลและการโจมตีทางไซเบอร์ ในขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาเองก็มีกฎหมายว่าด้วยการเคลื่อนย้ายและความรับผิดชอบในการประกันสุขภาพ (Health Insurnace Portability and Accountability Act) ซึ่งมีหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้ข้อมูลผู้ป่วยถูกเปิดเผยโดยไม่ได้รับการยินยอม

หากมองในแง่ของธุรกิจ วงการนี้ยังมีโอกาสให้เติบโตอีกมากโข อ้างอิงจาก Modor Intelligence แค่ตลาดของเครื่องมือแพทย์ไร้สายที่สามารถเชื่อมต่อได้ทั่วโลกก็มีค่าราว ๆ 66 พันล้านเหรียญ หรือ 2.43 ล้านล้านบาท และมีโอกาสที่จะเพิ่มไปถึง 132 พันล้าน (4.85 ล้านล้านบาท) ในปี 2029 ซึ่งตีเป็นการเติบโตโดยเฉลี่ยเกือบ 15% ต่อปี

ที่มา – CNBC

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา