เปิดแนวคิด I-CY CHAYA ทำไมถึงโตได้ 7000% ด้วยพนักงานแค่ 7 คน โตเร็วอันดับ 7 ในเอเชียแปซิฟิก

ทำความรู้จัก I-CY CHAYA (ไอ-ซีวาย ชยา) บริษัทที่โตเร็วที่สุดอันดับ 7 ในเอเชียแปซิฟิก เติบโต 7,098% เป็นบริษัทส่งออกที่เติบโตได้โดดเด่นไม่แพ้บริษัทเทคโนโลยี

เมื่อไม่นานมานี้ Financial Times สำนักข่าวด้านธุรกิจและการเงินระดับโลกจัดอันดับ 500 บริษัทเติบโตสูงประจำปี 2022 หรือ Asia-Pacific High-Growth Companies 2022 ที่น่าสนใจคือปีนี้เป็นปีแรกที่ผู้ประกอบการไทยติด 10 อันดับแรกของการจัดอันดับนี้ 

I-CY CHAYA คือบริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดอันดับ 7 ในเอเชียแปซิฟิก ก่อตั้งในปี 2012 เป็นบริษัทผู้ส่งออกอาหารสัญชาติไทยที่มีรายได้เติบโตสูงถึง 7,098% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และนี่คือการเติบโตที่ขับเคลื่อนโดยคน 7 คนเท่านั้น

ที่สำคัญก็คือในบรรดาบริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียแปซิฟิก 10 อันดับแรก I-CY CHAYA คือบริษัทในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มหนึ่งเดียวท่ามกลางบริษัทเทคโนโลยีหรืออุตสาหกรรมยา

วันนี้ Brand Inside จะพาไปคุยกับ อัณณ์นพ พรหมสุรินทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท I-CY CHAYA ไขคำตอบว่าอะไรคือหัวใจในการปั้นองค์กรให้ประสบความสำเร็จในระดับภูมิภาคด้วยพนักงานเพียงแค่ 7 คน และอะไรที่ทำให้บริษัทในอุตสาหกรรมอาหารเติบโตได้อย่างโดดเด่นไม่แพ้บริษัทสายเทคโนโลยี

I-CY CHAYA คือใคร?

อัณณ์นพเล่าว่า I-CY CHAYA นิยามตัวเองเอาไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นตัวแทนด้านการส่งออกสินค้าอาหารและเกษตรระหว่างประเทศ (international food distributor) มีกลุ่มลูกค้าหลักๆ คือ ธุรกิจค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ธุรกิจบริการอาหาร ไปจนถึงฟู้ดเชนในต่างประเทศ ทั้งในฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อัณณ์นพ พรหมสุรินทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท I-CY CHAYA
อัณณ์นพ พรหมสุรินทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท I-CY CHAYA

สินค้าหลักของบริษัท คือ เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ ข้าวโพดหวาน มะพร้าว ไปจนถึงผักและผลไม้อื่นๆ โดยจะเป็นสินค้าผลิตในประเทศไทย 100% ที่ร่วมพัฒนากับโรงงานทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ไปจนถึงสหกรณ์การเกษตร

มากกว่าแค่ซื้อมาขายไป แต่ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์

อัณณ์นพพูดถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจว่า “หลังจากเคยทำงานในธุรกิจอาหาร ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจปศุสัตว์ที่เป็นอาหารประเภทโปรตีนในต่างประเทศมาตลอด พอย้ายกลับมาไทยก็เลยเปิดบริษัทนี้ขึ้นมาในปี 2012 และได้ทดลองโมเดลธุรกิจมาเรื่อยๆ”

“ในวันแรกที่ตั้งตอนนั้น fundamental ของเรามีพนักงานแค่ 2 คน กลยุทธ์ของเราที่ตั้งขึ้นในวันแรกของการทำงานคือความคล่องตัว ใช้พนักงานน้อยสร้างเป้าหมายที่มันใหญ่ ได้ในระดับเอเชียหรือระดับโลกต่อไป” อัณณ์นพระบุ

จากจุดนี้บริษัทจึงได้นิยามตัวเองเป็นตัวแทนจำหน่ายหรือ International food distributor ซึ่งจะต้องคุยกับต้นทาง เช่น โรงงานที่จะต้องติดต่อขอเข้าไปร่วมพัฒนาสินค้าตามแนวทางและส่งออกภายใต้แบรนด์ของ I-CY CHAYA และเจรจากับลูกค้าปลายทางที่เป็นค้าปลีก ไม่ได้เป็นแค่ Trading Company ที่ต้องวิ่งหาของไปขายลูกค้าเอาค่าคอมมิชชันหรือส่วนต่าง

อัณณ์นพเล่าถึงกลยุทธ์ของบริษัทให้ฟังว่าในต่างประเทศ ผู้ซื้อรายใหญ่ๆ ทั้งซูเปอร์มาร์เก็ตหรือค้าปลีกเจ้าดังต้องดูสินค้าไม่รู้กี่ร้อยแขนง ดังนั้น การที่ผู้ซื้อเหล่านั้นจะสามารถศึกษาเจาะลึกข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าแต่ละตัวจะยากมาก สิ่งที่บริษัททำคือวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดและ feed ให้ลูกค้า

พูดง่ายๆ ก็คือแทนที่จะวิ่งหาของไปขายอย่างเดียว สิ่งที่บริษัททำคือ ช่วยคิดให้คู่ค้าและลูกค้า

ดังนั้น ฟังก์ชันที่บริษัทให้ความสำคัญนอกจากการส่งออกก็คือ การวิจัยและพัฒนา หรือการทำ R&D ทั้งในเรื่องของตัวสินค้าและการวิจัยตลาด ซึ่งช่วยให้บริษัทช่วยคู่ค้าและลูกค้าคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

คิดแทนคู่ค้าและลูกค้า

“การคิดแทนประกอบด้วย 2 ส่วนคือคู่ค้าและลูกค้า คู่ค้าก็คือโรงงานหรือขนส่ง ส่วนลูกค้าก็คือบริษัทค้าปลีกที่ต้องการซื้อสินค้า” อัณณ์นพอธิบายคอนเซ็ปต์เรื่องช่วยคิดให้คู่ค้าและลูกค้าเพิ่มเติม

“ในส่วนของลูกค้า สิ่งที่เราทำก็คือวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดและฟีดข้อมูลด้านการตลาดให้ลูกค้า เช่น สมมติว่าจะขายหมูในตลาดฮ่องกงก็ต้องดูว่าในตลาดฮ่องกงมีกี่ section เข้าใจโลจิสติกส์ในฮ่องกง เข้าใจแนวโน้มตลาด เข้าใจช่องทางการขาย เข้าใจลักษณะแพคเกจจิ้งว่าเหมาะกับลูกค้าที่รับไปไหม ดูว่ารับไปแล้ววางขายต่อได้เลยไหม จนกระทั่งว่าต้องเข้าใจผู้บริโภคในแต่ละส่วนอีกด้วย เพื่อให้ลูกค้าไม่ต้องคิดเพิ่มอีกแต่เราเสิร์ฟให้เขาเลย ดังนั้น เราต้องเข้าใจตลาดลึกซึ้งพอๆ กับเขา หรือมากกว่าเขาด้วยซ้ำ”

“อีกฝั่งคือคู่ค้า เราจะใช้ความคิดสร้างสรรค์หรือการทำงานเชิงกลยุทธ์เข้าไป disrupt โครงสร้างของโรงงาน เช่น เราจะร่วมทำ R&D และจัดการกระบวนการผลิตกับโรงงานเพื่อผลิตสินค้าตามสเปคที่จะสามารถตอบโจทย์ลูกค้าปลายทางได้”

อัณณ์นพยกตัวอย่างที่น่าสนใจให้ฟังว่า “ในช่วงโควิดเราได้ลองทำอะไรแปลกๆ หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการจำหน่ายหมู (ทั้งตัว) แบบแช่เย็นผ่า 6 ซีก แพคลงกล่องโฟมคุมอุณหภูมิและขนส่งทางอากาศซึ่งการตัดแต่งแบบนี้ตอบโจทย์ลูกค้าในฮ่องกงและยังตอบโจทย์การขนส่งในช่วงโควิดที่การขนส่งทางเรือมีอุปสรรคอีกด้วย ซึ่งไอเดียนี้ก็เป็นผลมาจากการทำ market research อย่างดี”

สิ่งที่ I-CY CHAYA ทำคือการจับความต้องการของ 2 ทางทั้งคู่ค้าและลูกค้ามาแมทช์กัน อยู่ตรงกลางในฐานะของตัวแทนจำหน่ายที่ไม่สามารถแยกออกจาก supply chain นี้ได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการที่บริษัทได้เป็น exclusive sourcing ให้กับแบรนด์ใหญ่หรือได้เป็น distributor ให้ฝั่งโรงงานในสินค้าบางชิ้นที่ร่วมกันพัฒนาออกมาเป็นพิเศษ ทำให้ portfolio ของบริษัทค่อนข้างลดความเสี่ยงเมื่อเทียบกับที่อื่น

I-CY-CHAYA เติบโตรวดเร็ว ติดอันดับของ Financial Times

อัณณ์นพเล่าถึงเส้นทางของบริษัทให้ฟังว่าในปี 2013 ถึง 2015 รายได้ของธุรกิจอยู่ที่ประมาณ 50 ล้านบาท จนในปี 2017 ก็ได้รับรางวัล Best Company of The Year (Export) ในหมวดหมู่ Food and Grocery จาก CMO Asia Award ซึ่งหลักๆ มาจากการคิดนวัตกรรมผลิตข้าวโพดหวานที่มี shelf-life ถึง 1 ปี โดยบริษัทอื่นที่ได้รับรางวัลรายการนี้ก็มีทั้งชั้นนำระดับประเทศ 

ในปี 2017-2018 มีการ disrupt องค์กรด้วยการจัดระเบียบ portfolio และการเงินใหม่โดยให้ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเข้ามาช่วยจัดระบบจนรายได้เติบโตก้าวกระโดด

  • ปี 2017 รายได้ประมาณ 20 ล้านบาท
  • ปี 2019 รายได้ประมาณ 200 ล้านบาท
  • ปี 2020 และ 2021 รายได้ประมาณ 1,400 ล้านบาท

จนเป็นผลให้ในปี 2022 I-CY CHAYA ติดอันดับ 7 บริษัทที่มีรายได้เติบโตเร็วในเอเชียแปซิฟิก จากการจัดอันดับของ Financial Times เนื่องจากรายได้ในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2017 ถึง 2021 เติบโตถึง 7,089% คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 316% เลยทีเดียว

อัณณ์นพเล่าว่า อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้บริษัทสามารถโฟกัสอยู่กับเรื่องสำคัญได้คือการใช้ outside professional control หรือการให้ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเข้ามาดูแลงานบางส่วน เช่น การประกันคุณภาพ (QA) การจัดการห่วงโซ่อุปทาน การจัดการความเสี่ยง หรือการเงินและการบัญชี เป็นต้น

เช่น การให้บุคคลที่ 3 เข้ามาจัดทำรายงานรับประกันคุณภาพของสินค้า รับรองมาตรฐานและสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าปลายทาง การจ้างบริษัทระดับโลกเข้ามาจัดทำบัญชี ระบบความโปร่งใส ไปจนถึงประเมินความเสี่ยงของแต่ละงานโปรเจ็กต์ ซึ่งเป็นเหมือนการย่อส่วนองค์กรมใหญ่ๆ มาอยู่กับตัวเองเพียงแต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ในด้านเหล่านั้น

การทำแบบนี้ช่วยให้เราสามารถโฟกัสแค่เรื่องของการทำ R&D การวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ การบริหาร portfolio ซึ่งทำให้เราไปได้เร็วมากกว่าคนอื่นและไปอย่างแข็งแรง แม้จะมีกันเพียง 7 คน

I-CY-CHAYA ผู้ส่งออกอาหาร ท่ามกลางบริษัทเทคและยา

10 บริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดในเอเชียแปซิฟิกจากการจัดอันดับโดย Financial Times ปี 2022 มีดังนี้

  1. Great Deals E-Commerce Corp. (อีคอมเมิร์ซ)
  2. PCL (ยา)
  3. Spolive (เกม)
  4. Workmate (บริษัทที่ปรึกษา)
  5. TaiMed Biologics (ยา)
  6. SCI Ecommerce (อีคอมเมิร์ซ)
  7. I-CY CHAYA (อาหารและเครื่องดื่ม)
  8. Grow Finance (เทคโนโลยีการเงิน)
  9. SAMBHV Steel (ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม)
  10. INTELUCK (เทคโนโลยี)

หากลองไล่ดูบริษัทจากการจัดอันดับครั้งนี้จะพบว่าใน 10 อันดับแรก มีบริษัทสายเทคโนโลยีอยู่ถึง 6 บริษัท และบริษัทยา 2 บริษัท ซึ่งบริษัทในอุตสาหกรรมเหล่านี้ขึ้นชื่อเรื่องการเติบโตอย่างก้าวกระโดดอยู่แล้ว 

แต่คำถามก็คือ I-CY CHAYA ทำอย่างไรถึงเติบโตได้อย่างโดดเด่นท่ามกลางบริษัทเหล่านี้?

เอาเข้าจริงในยุคนี้ใครๆ ก็ทราบว่า ‘เทคโนโลยี’ คือหัวใจสำคัญของการเติบโต แต่บริษัทไม่จำเป็นต้องแปลงตัวเองเป็นบริษัทเทคโนโลยีเสมอไปเพราะการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในธุรกิจก็ช่วยเร่งการเติบโตได้

อัณณ์นพอธิบายถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ว่า “ในการบริหารงานเราก็จะใช้แอปพลิเคชันหมดเลย เช่น ในงานเปเปอร์ การวิเคราะห์ตัวเลข การทำ record การทำ pricing การทำ costing ในกระบวนการเหล่านี้เราก็จะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย”

“นอกจากนี้ ในสินค้า 1 ชิ้น เราจะมีการนำระบบ QR Code และ Barcode เข้ามาช่วยกำกับเพื่อให้สามารถย้อนไปดูต้นทางของสินค้าในกรณีที่เกิดปัญหาต่อสินค้าชิ้นนั้น โดยจะรู้ได้ทันทีมาจากฟาร์มไหน โรงงานไหน ผลิตตอนไหน มาจากส่วนไหนของหมูตัวไหน โดยดูได้จาก record ในแอปพลิเคชัน” อัณณ์นพเสริม

“ส่วนในกรณีของการใช้ Food equipment machinery บริษัท I-CY CHAYA คือเจ้าแรกๆ ที่เปิดรับในเรื่องนี้” อัณณ์นพยกตัวอย่างว่า “เราเป็นเจ้าแรกๆ ที่เอาเครื่อง vacuum skin pack ที่ในต่างประเทศมีการใช้มานานแล้วมาใช้ในโรงงาน เพื่อยืดอายุ ลดต้นทุนการขนส่ง และเพิ่มความยืดหยุ่นของการใช้บรรจุภัณฑ์ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยลดข้อจำกัดทางการขายกับลูกค้า และเพิ่ม market coverage ให้กับสินค้ามากขึ้น”

ตัวอย่างบรรจุภัณฑ์สินค้าของ I-CY CHAYA ที่ซีลด้วยเครื่อง vacuum skin pack

สรุป

บริษัทเติบโตสูงไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทเทคฯ เสมอไป เพราะ I-CY CHAYA นำโดยอัณณ์นพ พรหมสุรินทร์ พิสูจน์ให้เห็นแล้วด้วยการยืนอยู่ในตำแหน่งบริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดอันดับ 7 ของเอเชียแปซิฟิก มีอัตราการเติบโต 7,098% ใน 5 ปี ด้วยแนวคิดคิดแทนคู่ค้าและลูกค้า ใช้ outside professional control เพื่อให้สามารถใช้พนักงานจำนวนน้อยบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน