เจาะลึกวิธีคิดนักเล่าเรื่องทุกเรื่องที่เกี่ยวกับเกม เพราะเกมไม่ใช่เรื่องไร้สาระ: Gamer Inside

เจาะวิธีคิดคนทำสารคดีเกม Gamer Inside ใช้เวลาเติบโตยาวนานกว่า 10 ปี ที่นานขนาดนี้ “ไม่ใช่พยายามไม่มากพอ แค่ก่อนหน้านี้ มันยังไม่ถึงเวลาของเรา”

เรื่องเล่าจากอดีตโปรดิวเซอร์รายการทีวีที่ผันตัวมาเล่าทุกเรื่องที่เกี่ยวกับเกมด้วยการทำช่องสารคดีเกมบน YouTube ที่ชื่อ “Gamer Inside” ทีมนี้มีสมาชิก ดังนี้ จักรรินทร์ เฮียร์ส หรือมาร์ค ในวัย 30 ปี ตามด้วยวรรธนัย จันทิวงศ์ (นัย) ฤาชา ใจเย็น (แมน) วรพงษ์ เทียนขจร (ก้อง) และเป๊ปซี่ เพื่อนที่ช่วยมาซัพพอร์ท พวกเขาอยู่ในวัยไล่เลี่ยกัน

Gamer Inside

กว่าจะปั้น Gamer Inside ได้ ใช้เวลานานกว่า 10 ปี
ที่นานขนาดนี้เพราะทำบ้าง พักบ้าง ไม่ได้ทำต่อเนื่องกัน

เนื่องจากเป็นช่วงที่เขาต้องเรียนหนังสือบ้าง ทำงานบ้าง และหันมาทำเว็บบ้างสลับกันไป

มาร์คเล่าว่า ก่อนหน้านี้ราว 13-14 ปีที่ผ่านมา มีเว็บบอร์ดเกมที่คนใช้เอาไว้โหลดเกมเถื่อน แต่หน้าบอร์ดจะมีพื้นที่เป็น Forum ให้โพสต์ข่าวได้ ข่าวจะอยู่เผยแพร่อยู่หน้าเว็บไซต์นั้น เขาเริ่มต้นด้วยการแปลข่าวต่างประเทศเอามาแปะที่บอร์ด ทำมาเรื่อยๆ ก็ค่อยๆ มีคนตามแอคเคาท์หลักพันคน

จากนั้น Facebook ก็เริ่มฮิตช่วงปี 2010-2011 เขาจึงชวนคนในบอร์ดมาทำเพจ ด้วยกัน บางคนก็เขียนข่าวลงเว็บนี้อยู่แล้ว ตอนนั้นเพจที่ทำเกี่ยวกับข่าวเกมมีไม่เยอะ ส่วนมากทำเป็นเว็บไซต์เกี่ยวกับเกมเยอะ จากนั้นเขาก็มาทำ Facebook page ช่วงมัธยมปลาย แต่ไม่ได้ทำเพจจริงจัง เน้นทำข่าวเกมที่ตัวเองสนใจ

ทำไม? เลือกทำข่าวเกม

มาร์คบอกว่า เขาเคยทำในเว็บบอร์ดมาก่อน มีคนอ่านและติดตาม เห็นคนอื่นทำก็ทำตามบ้าง แต่ตอนนั้นไม่ได้จริงจังมาก ทำเล่นๆ ไม่มีรายได้ อาศัยช่วงเวลาว่างก็มาทำ ไม่ว่างก็ไม่ทำ คนที่ช่วยทำช่วงแรกๆ ก็ค่อยๆ ทยอยออกไป จนเหลือตัวเองที่ทำอยู่คนเดียว

จากแปลข่าวเกม ก็เริ่มหันมาแปลแก๊กต่างประเทศที่เกี่ยวกับเกม ตอนนั้น 9Gag ดัง ก็เอามุกจากเขามาแปล ซึ่งก็ถือว่ามีคนทำแนวนี้เยอะ แต่เราเน้นเรื่องเกม และทำออริจินัลคอนเทนต์ คือคิดมุกเองได้ระหว่างที่เล่นเกม ช่วงนั้นเล่นเกมกับกลุ่มน้องและเพื่อน เกมออนไลน์ก็ทำให้เจอกับน้องที่มีบทบาทสำคัญกับช่อง ชื่อก้อง (วรพงษ์ เทียนขจร)

ช่วงนั้นก้องเรียนอยู่มัธยมต้น กำลังอยู่ในช่วงตัดสินใจจะเรียนต่อ มาถามเขาว่าจะเรียนเขียนโค้ดกับนิเทศฯ เลือกเรียนอะไรดี มาร์คเรียนจบสายนิเทศฯ มา เขาแนะนำไปว่า ชอบอะไรก็ทำอันนั้นไป ให้น้องเลือกเอง ระหว่างนั้นน้องก็อยากฝึกตัดต่อ มาร์คก็เป็นคนสอนผ่านออนไลน์มาตลอด ไม่เคยเจอหน้ากันมาก่อนเลย จากนั้นก็เริ่มสนิทและเริ่มชวนน้องมาทำเพจด้วยกัน

ช่วงที่มาร์คอยู่มัธยมปลาย เขาชอบช่อง​ YouTube ที่ชื่อ Freddie W มาก ช่องนี้ทำกราฟฟิกหนังสั้นแอคชั่น ยิงกัน เขาชอบและอยากทำงานแบบนี้ เขาก็เริ่มศึกษาเองว่าอยากทำช่องแบบนี้ ดู YouTube ดู How To ว่าตัดต่อยังไง ทำไปเรื่อยๆ ฝึกทำ เอามือถือไปถ่าย เอาคลิปจากในเกมมาตัดต่อเอง

 

ตอนนั้นเขาก็ทำ YouTube ตัวเองอีกช่องหนึ่ง ไปดูของชาวบ้านว่าเขามีเทคนิคการทำคลิปยังไงและเอามาสอนใหม่เป็นภาษาไทย สมัยนั้น งานแบบนี้ไม่มีคนสอนเลย ส่วนตัวเขามักจะถูกคนมาถามว่าทำอย่างไรบ่อยๆ เขาจึงหาวิธีไม่ตอบแต่ทำคลิปวิดีโอส่งให้คนถามเพื่อดูวิธีทำแทน ซึ่งก็ทำแค่เพียง 2-3 คลิป แต่ยอดวิวก็เกือบแสนวิว เขาบอกว่าเขาใช้คลิปนั้นทำเป็น Portfolio นำไปยื่นมหา’ลัย เข้าเรียนในมหา’ลัยได้ ช่วงนั้นก็เป็นยุคที่เจอกับแมน (ฤาชา ใจเย็น) 

จากนั้นมาร์คก็รู้สึกว่าอยากทำจริงจัง แต่ก็รู้สึกว่าทำแล้วก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา แม้จะเริ่มทำก่อนคนอื่นแต่ไม่โตเท่าคนอื่น เพราะไม่ได้มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ถ้าเทียบกับคนอื่น เขาจะมีคอนเทนต์ที่แปลข่าวต่างประเทศที่มีความถี่มากกว่า มีทุกข่าว มีความต่อเนื่องต่างกัน หลังจากนั้นเขาก็เริ่มเข้าเรียนในมหา’ลัย

หลังจากที่เขาเจอแมน เขาดูบุคลิกแล้วรู้สึกว่าน่าจะเป็นคนติดเกมแน่นอน แถมแมนยังเป็นน้องเทคที่มหา’ลัยด้วย ซึ่งแมนก็เป็นคนที่ชอบเล่นเกมจริงๆ เขาพบว่าแมนเสียงนุ่ม เสียงหล่อ มีเอกลักษณ์ จึงคุยกับน้องว่าตัวเองทำเพจเกมอยู่ ชวนน้องว่าอยากทำด้วยกันไหม? แมนบอกว่าอยากเป็นนักพากย์ จึงชวนมาทำช่องยูทูปด้วยกัน

พวกเขาคุยกันไว้ว่า ตอนปี 4 จะไม่ไปฝึกงานที่ไหนเลย จะทำบริษัทและฝึกงานบริษัทของตัวเอง แต่พอถึงเวลาจริงๆ ก็ทำไม่ได้ เพราะช่วงนั้นยังไม่มีความรู้ในการทำบริษัท จากนั้นก็คุยกันว่าจะทำเพจเกม ตอนนั้นในไทยเริ่มมีช่องยูทูปดังๆ แล้ว เกมก็มีมาก เป็นแนว Walk Through หรือแนวแคสต์เกม ก็คือเล่นเกมและบรรยายให้คนฟัง

จากปั้นช่องเกมเล่นๆ หันมาจริงจังมากขึ้น ผ่านต้นแบบจาก “เจาะข่าวตื้น”

มาร์คบอกว่า เขาชอบดูเจาะข่าวตื้นของ I here TV ช่วงนั้นมันเริ่มมีรายการออนไลน์ (10 กว่าปีมาแล้ว) สมัยก่อนช่องทรู วิชันส์ มีช่องเกมชื่อ G Square เขาชอบดูมากๆ ดูวนๆ ซ้ำๆ มีทั้งเล่นเกมให้ดู มีทั้งเล่าข่าวเกม ดูวนๆ ซ้ำๆ ไปเรื่อย จนกระทั่งช่องนี้หายไป

เขาก็คุยกับน้องว่า จะทำคลิปวิดีโอสไตล์เจาะข่าวตื้น บวก G Square ลงบน YouTube ซึ่งเป็นคอนเทนต์ที่คนกำลังโหยหาอยู่ เพราะช่วงนั้นเน้นแคสต์เกม ปิดหน้าเล่นเกมไป แต่สิ่งที่เขาทำคือเปิดหน้า เป็นรายการนั่งเล่าเกี่ยวกับรายการเกมลงยูทูป ใช้อุปกรณ์ในมหา’ลัยถ่าย ขอใช้สถานที่มหา’ลัยด้วย

โครงสร้างรายการ เป็นรายการยาว ซึ่งมีทั้งข่าว มีรีวิว และแนะนำอยู่ในคลิปเดียว ทำ EP แรกและแชร์ในกลุ่ม คนดู 100 กว่าวิว ตอนนั้นก็แฮปปี้กับฟีดแบค ทำอีก 3 ตอนเหมือนกัน ตอนแรกนั่งในมหา’ลัย ค่อยๆ ใช้กรีนสกรีน ซึ่งก็เป็นความรู้ที่เขาฝึกเองตั้งแต่มัธยมปลาย จากนั้นก็ทำคลิปไป 4 EP ก็พบว่ายอดวิวค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ทุก EP จากนั้นเขาก็ไม่ทำอีกเลย

จากฟีดแบคที่เห็นครั้งแรก เขาคิดว่าคนชอบ แต่พอปล่อยไป มันก็ค่อยๆ ดรอปลง ก็เรียนรู้ว่ามันไม่รุ่ง จึงหยุดทำและกลับไปเรียนอย่างเดียวเหมือนเดิม ช่วงนั้นก็ทำเพจบ้าง เรียนบ้าง แต่หยุดทำ YouTube ไปเลย หายไปพักใหญ่ จนช่วงปี 4 ใกล้เรียนจบแล้ว ก็เริ่มกลับมาทำ YouTube ชื่อช่อง Gamer Inside คิดรายการสองแบบ คือ Gamer Inside จะเป็นการรีวิวเกม ข่าวเกม แนะนำเกม และ Character Inside คือเล่าประวัติตัวละครในเกม ช่วงนั้นปี 4 มีเกมดังมาก คือ Overwatch ก็เลยไปเอาประวัติตัวละครในเกมไปทำ

Gamer Inside

เหนื่อย เบื่อ ก็พัก แต่ไม่เคยล้มเลิกความฝันของตัวเอง

ช่วงที่กลับมาใหม่นี้ก็แบ่งหน้าที่ ให้ก้องดูแลเพจ กับแมนดูแลยูทูป ช่วงที่ Overwatch ดัง ก็คุยกับแมนว่าทำสคริปต์ให้แมนพากย์เสียงและให้ก้องตัดต่อ ทั้งสองรู้จักกัน กลายเป็นรายการ Character Inside ตอนที่ 1 เอาไปแชร์ในกลุ่มคนเล่นเกมนี้ คนดูเกือบหมื่นวิว จากนั้นจึงคิดว่าถึงเวลาของตัวเองอีกแล้ว ตอนนั้นก็ทำ Character Inside ไป 5-6 ตอน ครั้งนี้คนดูขึ้นๆ ลงๆ ตอนนั้นปี 4 เรียนเหนื่อย แถมฝึกงานเหนื่อย จึงหยุดทำรายการนี้ไว้ (อีกรอบ)

ต่อมา เขาก็เริ่มไปฝึกงานที่ Voice TV ช่วงปี 2015-2016 พอจบฝึกงานก็ทำงานที่ Voice TV ต่อ ระหว่างนั้นเขาก็คุยกับเพื่อนและน้องแมนไว้ว่า ตอนนี้อาจยังไม่พร้อมทำ YouTube ขอเวลาอีก 5 ปีเราจะมาเปิดบริษัททำโปรดักชั่นด้วยกัน

น้องก็เรียนไปและไลฟ์เล่นเกมไป ทำข่าวลงเพจบ้าง ตอนนั้นคนเล่นเกมคอนโซลบน Facebook ไม่ค่อยมี จึงซื้อคอนโซลมาไลฟ์บน Facebook กัน ทำไปเรื่อยๆ แม้มีคนดูอยู่แค่คนสองคนก็ทำ สุดท้ายก็พบว่าไม่เวิร์ก มาร์คเริ่มเปลี่ยนงานไปทำที่อื่นต่อ ช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่แมนทำงานเป็นมอนิเตอร์ พวกแอปดูสาว คล้ายๆ Camfrog เป็นฝ่ายเซ็นเซอร์ เช่น ถ้าใครแก้ผ้าหรือโป๊ก็แบน ต่อมา แมนถูกเลย์ออฟเพราะบริษัทลดกำลังคน ก็เป็นจังหวะเดียวกับที่ก้องใกล้เรียนจบ จึงคุยกันอีกครั้งว่ากลับมาทำ YouTube อีกรอบไหม ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เคยบอกกันว่าจะเปิดบริษัท

ตอนนั้นก็เริ่มมีไอเดียทำโปรเจกต์ใหม่ เป็นช่วงที่โควิดกำลังเริ่มระบาด แมนโดนเลย์ออฟ จึงคิดทำช่อง Calldamanny เล่าถึงกระแสเกี่ยวกับมีม เรื่องมันเริ่มจาก ก้องสงสัยว่ามีมมาจากไหน ปรากฏว่าแมนสนใจเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว เขาจึงอธิบายให้ก้องฟัง เลยคิดว่าจะทำรายการแบบนี้ จากนั้นก็ลองให้แมนเล่าให้ฟังแบบเทคเดียวจบ และก็ถามกันว่าสนุกมั้ย ก็พบว่าไม่สนุก จึงทำรูปแบบใหม่คือการทำเป็นสคริปต์ให้แมนเล่า ให้ก้องตัดต่อ

เดิม คอนเทนต์นี้จะเอาลง Gamer Inside ซึ่งต่างก็เห็นตรงกันว่า เนื้อหาไม่เกี่ยวข้องกับเกม เลยทำช่องใหม่คือช่องนี้ ช่อง Calldamanny แต่ใช้กระบวนการเดียวกัน 

ช่วงนั้น ทำคลิปแรก คือ “ใจเกเร” มีคนดูประมาณหนึ่งในกลุ่มสตรีมเมอร์ คนดู 4-5 พัน เสร็จแล้วจังหวะนั้น มีการ์ตูนแปลของจีน เนื้อหาค่อนข้างดาร์ค เช่น เล่าเรื่องเซ็กส์ เล่าถึงมุมมืดของการ์ตูนนี้กันฟิลดาร์ค จากนั้นแมนจึงเอามาอธิบายว่ามีมที่เป็นไวรัลนี้ มันมาจากไหน พอลง YouTube แค่วันเดียว แสนวิว

จนกระทั่งคลิปแดง หรือเรียกว่าเป็นคลิปที่ไม่สามารถทำรายได้ได้ ไม่มีการผลักดันจากยูทูป เพราะเป็นเนื้อหา 18+ คือคนดูได้อยู่ แต่ต้องค้นหาเข้ามาโดยตรง แต่จะถูกจำกัดการเข้าถึง สิ่งที่ขึ้นเร็วไม่แพ้ยอดวิวก็คือยอด Subscribe ทำมา 3 วันคนติดตาม 3 หมื่น มีคนแคปหน้าไจแอนท์ไปเล่นในคอมเมนท์ คนค้นหาในเน็ตและเด้งเข้ามาในคลิปบนยูทูป


ช่องที่ว่าก็คือช่องใหม่ ช่อง Calldamanny รายการ “ฉันมาฆ่ามีม” แมนจะอธิบายให้ฟังว่ามีมนี้มาจากไหน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องวัฒนธรรม เมื่อมีมต่างชาติมีมไหนที่ดัง คือมีมตาย หมายความว่าไม่น่าสนใจอีกต่อไป เพราะเวลาออกมีมมา คนจะนำมาเล่น คุยกันเฉพาะในกลุ่มเท่านั้น เขาไม่ชอบอธิบายให้คนทั่วไปรับรู้ คล้ายๆ ความรู้สึกในหนังแฮรรี่ พอตเตอร์ ที่เรียกมนุษย์ว่ามักเกิล ในกลุ่มมีมก็จะเรียกคนทั่วไปว่า Normie หรือคนทั่วไป พอคนรู้เรื่องมีมนี้ปุ้บ ก็ไปทำมีมใหม่ พูดให้เข้าใจง่ายสำหรับช่องนี้ก็คือ เมื่อมีมไหนเป็นกระแสก็จับมาขยายผล

พอคนเริ่มตาม ทีมก็เริ่มมีกำลังใจมากขึ้น จากนั้นก็ขยายมาเรื่อยๆ ก็มาคุยกันว่า ช่อง Calldamanny ไปไม่ได้ไกลแน่ เพราะมัน Niche เป็นเรื่องที่นิยมกันเฉพาะกลุ่ม มีคนค้นหา แต่ไม่ติดตามจริงจัง สิ่งที่ต้องทำก็คือต้องเข้าตลาด Mass เพราะตลาด Niche โตง่าย คนรออยู่ ไม่แข่งกับใคร แต่ตลาด Mass สู้กับคนที่มีอยู่เดิม มีแต่ตัวใหญ่ๆ เต็มไปหมด ถ้าอยู่ตรงนั้นได้ ก็ตายยาก จึงกลับมาที่ช่อง Gamer Inside และทำคอนเทนต์ ถ้าช่องมีมมีคนรีเควสเยอะๆ ก็จะเอามาเล่าในช่อง Gamer Inside เพื่อดึงคน

ระหว่างนั้นมาร์คก็ค่อยๆ คิดคอนเทนต์เพิ่ม การที่เขาโตมาจากทำงานสายทีวี จึงเล่าเรื่องแบบทีวี รายการนี้จะเล่าเรื่องนี้ จะไม่โดดไปโดดมา ตอนนั้นมีรายการทั้งหมด 3 รายการหลัก ดังนี้

รายการแรก Game History เล่าถึงประวัติศาสตร์ในการสร้างเกมตั้งแต่ต้นจนจบ อดีตเกิดอะไร คนสร้างคิดยังไง ขายเกมดีมั้ย เกมแต่ละภาคเป็นยังไง ทำไมคนชอบหรือไม่ชอบ เช่น มาริโอ 1, 2, 3

ต่อมาก็คือ Game Origin พูดถึงประเภทของเกม เช่น เกมวางแผน ถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร เช่น พูดถึงเกมแพลตฟอร์ม อาจจะเป็นเกมที่มาก่อนมาริโอก็ได้ แต่จะเล่าว่าเกมแพลตฟอร์มนี้ต้องมีเงื่อนไขอะไรบ้าง ถึงจะเข้าข่ายเกมประเภทนี้

จากนั้นก็ทำ Character Inside คือการเล่าถึงคาแรคเตอร์ เช่น มาริโอโตมาแบบไหน มีพี่น้องยังไง ต้องมีหลักฐานมาเล่าด้วย

คอนเทนต์ทั้งหมดนี้ยังไม่มีในตลาดไทย จากนั้นทุกรายการก็เป็นอัตลักษณ์ของช่อง เรียกว่าช่องสารคดีเกม นี่คือปัจจัยหลักที่ทำให้คนติดตาม

สำหรับรายการใหม่ที่กำลังปั้นล่าสุดคือ หลอนกอดจอย คือการเล่าเรื่องผีที่เกี่ยวกับเกม เพราะคนไทยชอบฟังเรื่องผี เรื่องขนลุก มาร์คบอกว่าในเน็ตจะมีคอนเทนต์ประเภท CreepyPasta คือเรื่องผีที่คนแต่งขึ้น เอาเรื่องที่เขาเล่ามาเล่าต่อ เช่น เด็กได้ยินเสียงเพลงโปเกมอนและฆ่าตัวตาย นี่ก็เป็นเรื่องแต่งที่มีเกมมาเกี่ยวข้อง หรือจะเป็นเรื่อง Slender Man นี่ก็เป็นเรื่องแต่งเช่นกัน

 

นอกจากนี้ ก็มีรายการ MonsterPedia คล้ายกับ Character Inside เป็นเรื่องเกี่ยวกับ Monster เชิงพันธุกรรม พูดถึงโครงสร้างทางชีววิทยา เช่น มอนสเตอร์ตัวนี้หากินยังไง รับน้ำหนักยังไง ร่างกายเป็นแบบนี้รองรับอะไรได้บ้าง เนื้อหาแบบนี้ต้องคุยกับเพื่อนที่เป็นหมอด้วยว่าการทำงานของโครโมโซม ยีน ฯลฯ ทำงานยังไง เป็นต้น เรื่องนี้คนจะรู้สึกว้าวมาก เช่น ทำไมคนธรรมดากลายเป็นซอมบี้ได้ ก็เพราะว่าน้ำลายจากฟันไปผสมกับเลือดเปลี่ยนโมเลกุลข้างใน ฯลฯ ซึ่งก็ต้องอ่านหนังสือค้นคว้าเพิ่มเพื่อทำคอนเทนต์ด้วย

นี่ยังไม่จบ ยังมีรายการ Quickscoope ที่เป็นข่าวอัพเดต วิเคราะห์ข่าว เกี่ยวกับเกม มีรายการ Armory Den ประวัติศาสตร์อาวุธในเกม เช่น ดาบเอกซ์แคลิเบอร์ที่เป็นตำนาน ดาบนี้ถูกตีโดยใคร ใครสร้างขึ้นมา มีข้อดี ข้อเสียยังไง ขนาดดาบเป็นยังไง  

ปัจจุบัน Gamer Inside มียอดผู้ติดตามอยู่ที่ 190,000 แอคเคาท์ สร้างได้ภายใน 2 ปี จากความพยายามปั้นช่องทั้งใน YouTube, Facebook ที่มีเป้าหมายเริ่มต้นทำเพื่ออยากทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า เกมไม่ใช่เรื่องไร้สาระ ไม่ว่าเรื่องมันจะไร้สาระแค่ไหนก็สามารถหาสาระจากเกมได้

Gamer Inside สามารถสร้างยอดผู้ติดตาม 100,000 แอคเคาท์ได้ภายในระยะเวลาไม่ถึง 6 เดือน ทั้งที่เคยตั้งเป้าไว้ว่าต้องทำให้ได้ภายใน 1 ปี ถือว่าเร็วกว่าที่ตั้งเป้าไว้มาก

สำหรับเป้าหมายต่อไป เขาและทีมจะทำให้มีผู้ติดตาม 300,000 แอคเคาท์ให้ได้ภายในปีนี้ เขาอยากเป็นช่องที่สื่อสารเกี่ยวกับเกมอันดับ 1 ของไทย และยังอยากไปงานเกมระดับโลก อยากถูกเชิญในฐานะสื่อมวลชนที่ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับเกม

สิ่งที่ยึดโยงทีม คือ Passion ที่มีต่อเกม

ทุกคนสามารถหารายได้ต่อเดือนได้มากกว่ามารวมตัวกันทำเกม แต่ Gamer Inside ก็ยังยึดโยงพวกเขาได้อยู่

มาร์คบอกว่า ถ้าทำ YouTube คนเดียวอาจไม่ต้องคิดเยอะ แต่การทำงานร่วมกับเพื่อน มันเป็นเรื่องยาก มันมีปัจจัยเรื่องเงินมาเกี่ยวข้อง ซึ่งเงินมักเป็นปัญหาอันดับ 1 ของการสร้างทีม ทั้งทีมจึงเลือกที่จะคุยตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่ที่ช่องยังทำรายได้ไม่ได้ว่า จะแบ่งเงินอย่างไร กี่เปอร์เซ็นต์ ทุกคนรู้หน้าที่ตัวเอง

ทีม Gamer Inside นั้น ทุกคนไม่ใช่คนที่เก่งที่สุดในด้านใดด้านหนึ่ง บางคนก็ไม่ได้มี Passion สูง ถ้าเทียบช่องให้เป็นคนคนหนึ่ง แมนคือหน้าตาและเสียงของช่อง ก้องจะเป็นแขนขาของช่อง หยิบจับเร็ว นัยเป็นลำตัวที่ยึดโยงทุกคน มาร์คเป็น Mindset ของช่องว่าช่องต้องทำอะไร มาร์คบอกว่าเขาไม่ใช่นักเขียนที่ดีที่สุดแต่เป็นคนที่ทุกคนเชื่อว่าสามารถทำตามได้แบบไม่ต้องคิด เช่น รู้ว่าสิ่งนี้ทำแล้วปังแน่ ทุกคนพร้อมทำ ผลลัพธ์ที่ออกมาส่วนมากก็ปังจริง

แม้คนข้างนอกมองเข้ามาอาจเห็นแมนคนเดียว ทั้งทีมไม่เคยซีเรียสเรื่องนี้ เราต่างรู้กันว่าทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จนั้น ในช่องวิดีโอทุกคลิปไม่มีเครดิต แต่ทุกคนรู้ว่างานนี้เราทำ ถือเป็นความสุขอย่างหนึ่ง เวลามีกิมมิกเล็กๆ คนดูอาจชมว่า น้าแมนเขียนดีจริงๆ ครับ แต่ทุกคนก็รู้ว่าใครทำอะไร ทุกคนไม่โทษกันเมื่อเกิดเรื่องผิดพลาดและรู้หน้าที่ของกันและกัน

ช่องนี้ขับเคลื่อนทีมด้วยความสนุก ไม่ได้ขับเคลื่อนทีมด้วยความกลัว ไม่ข่มขู่กัน ถ้ารู้สึกหมดไฟ หมดมุกก็แค่พัก มีแรงเขียนเมื่อไรก็ลุกขึ้นมาเขียน มีความยืดหยุ่นในการผลิตงาน ไม่ได้มีความจำเป็นที่ต้องเข้มงวดจนเครียด ยกเว้นงานลูกค้าที่ต้องกำหนดตามกรอบ

ข้อคิดสำหรับคนที่ยังหาตัวเองไม่เจอ อยากมีพื้นที่ของตัวเอง แต่ไม่ลงมือทำสักที

มาร์คแนะนำว่า เรื่องนี้ต้องใช้เวลา ก่อนที่เขาจะรู้ตัวว่าอยากทำ YouTube เขาก็ลงมือลองทำทุกอย่างเต็มที่ ตั้งแต่มัธยมต้น เขาไม่เคยปล่อยให้ตัวเองว่าง หางานทำตลอดเวลา ทำทุกอย่าง ดู YouTube เพื่อค้นหาว่าตัวเองชอบอะไร ถ้าเทียบยุคนี้กับยุคก่อน ก็ถือว่ายุคนี้หาตัวตนได้ง่ายกว่าแต่ก่อนเพราะเข้าถึงทรัพยากรมหาศาล

เขาบอกว่า “บางครั้ง สิ่งที่เราทำไปและยังไม่สำเร็จ อาจไม่ใช่เพราะเรายังใช้ความพยายามไม่มากพอ แต่เป็นเพราะมันยังไม่ถึงเวลาของเรา”

โปรเจกต์ถัดไป Gamer Inside กำลังจะปล่อยออกมาคือ คอนเทนต์พิเศษที่ตั้งใจทำมากที่สุดในช่อง ก็คือเรื่อง Console War จะเป็นเรื่องที่พูดถึงทุกแง่มุมของการทำสงครามธุรกิจเกี่ยวกับคอนโซลเกม ความยาวระดับ 7-8 ชั่วโมง อย่าลืมไปติดตามผลงานของพวกเขาได้ตามโซเชียลมีเดียด้านล่างนี้

Facebook https://web.facebook.com/gamerinsideth
YouTube: https://www.youtube.com/@GamerInside
YouTube: https://www.youtube.com/@calldamanny 
TikTok: https://www.tiktok.com/@gamerinsideth

ขอบคุณที่ให้เวลา มาแบ่งปันความรู้กับ Brand Inside น๊า 🙂

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา