รู้จัก Emergency Alerts System ระบบเตือนภัยฉุกเฉิน เรื่องสำคัญที่รัฐจำเป็นต้องทำ! เพื่อจำกัดวง ไม่ให้มีเหยื่อจากเหตุการณ์วิกฤตเพิ่มขึ้น
เพราะคนไม่ได้เปิดอินเทอร์เน็ตหรือท่องโลกออนไลน์ตลอดเวลา อย่างน้อยหลายๆ คนในโลกปัจจุบันจะมีโทรศัพท์มือถือใช้เป็นปกติอยู่แล้ว การมีข้อความแจ้งเตือนฉุกเฉินจะช่วยป้องกันเหยื่อจากสถานการณ์ดังกล่าวได้
Emergency Alert System หรือระบบข้อความเตือนภัยฉุกเฉินนี้ ถูกนำมาใช้งานเพื่อให้มีการสื่อสารอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และจำกัดเฉพาะพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์ล่าสุดที่มีเหตุการณ์ยิงผู้อื่นในบริเวณสยามพารากอน ห้างดังกลางใจเมือง ทำให้เรียนรู้ว่าแพลตฟอร์ม Twitter สำคัญมาก เนื่องจากแหล่งข้อมูลส่วนใหญ่มาจากผู้คนที่ใช้ทวิตเตอร์เพื่อทวีตข้อความแจ้งเตือนภัยประชาชนทั่วไปด้วยกันเอง
ถ้าคนไม่ได้เช็คทวิตเตอร์และติดอยู่ในห้างดังจะทราบข่าวได้อย่างไร หากไม่มีญาติมิตรโทรซักถามว่าอยู่ที่ไหนหรือแจ้งเตือนว่ากำลังเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น หรืออาจไม่ได้ยินประกาศเตือนภัยให้ระวังตัวจากทางห้าง จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง?
เรียนรู้การจัดการ Emergency Alerts จากต่างประเทศ
Case ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน แคนาดา ฯลฯ ต่างก็มีการใช้ Emergency Alert System แจ้งเตือนฉุกเฉินหลายกรณีด้วยกัน อาทิ เตือนภัยจากธรรมชาติ ฝนตกหนัก, น้ำท่วม, Nuclear Alert System รวมถึงกรณีเหตุกราดยิงด้วย
ในสหราชอาณาจักรหรืออังกฤษ
Emergency Alerts ในอังกฤษ คือการจัดการโดยรัฐบาลจะเป็นผู้แจ้งเตือน กรณีที่มีเหตุอันตรายต่อชีวิตในบริเวณใกล้เคียง กรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน โทรศัพท์หรือแท็บเล็ตของประชาชนจะได้รับการแจ้งเตือนพร้อมคำแนะนำว่าทำอย่างไรถึงจะปลอดภัยจากเหตุการณ์ดังกล่าว
ระบบแจ้งเตือนฉุกเฉินนี้ รัฐบาลไม่จำเป็นต้องรู้เบอร์โทรศัพท์ของประชาชนหรือแม้แต่พิกัดพื้นที่ที่ประชาชนอยู่ด้วย
เหตุผลที่แจ้งเตือน? ใครเป็นผู้แจ้งเตือน?
อังกฤษระบุเหตุผลที่ต้องแจ้งเตือน มีทั้งกรณีน้ำท่วมหนัก ไฟไหม้ สภาพอากาศเลวร้าย ผู้ที่จะส่งข้อความเพื่อแจ้งเตือนประชาชนได้จะมีแต่หน่วยงานให้บริการฉุกเฉินเท่านั้น หรืออาจจะเป็นหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งของรัฐที่ต้องจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นๆ
จะเกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อมีการแจ้งเตือนฉุกเฉิน?
โทรศัพท์หรือแท็บเล็ตของประชาชนจะมีเสียงแจ้งเตือนดังขึ้น เครื่องจะสั่น มีข้อความแจ้งเตือน ทั้งโทรศัพท์และแท็บเล็ตจะมีเสียงเตือนและเครื่องจะสั่นยาวนานราว 10 วินาที การแจ้งเตือนดังกล่าวจะมีเบอร์โทรศัพท์หรือลิงก์เว็บไซต์ที่เชื่อมไปยังข้อมูลของรัฐบาล เว็บไซต์จากรัฐบาล การแจ้งเตือนจะเตือนจากสถานที่ที่คุณอยู่ ณ ปัจจุบัน ไม่ใช่ที่คุณอาศัยหรือที่ทำงาน คุณไม่จำเป็นต้องเปิดพิกัดบริเวณที่คุณอยู่ตลอดเวลาขณะได้รับสัญญาณแจ้งเตือน
กรณีที่กำลังขับขี่รถอยู่ ไม่จำเป็นต้องตอบสนองข้อความแจ้งเตือนทันที แต่ให้หาพื้นที่ที่ปลอดภัยเพื่ออ่านข้อความดังกล่าว กรณีที่หูไม่ได้ยิน ตาไม่สามารถมองเห็นข้อความได้ การทำให้เครื่องรับสัญญาณแจ้งเตือนทั้งทางโทรศัพท์และแท็บเล็ตมีเสียงดังขึ้นและมีระบบสั่นก็จะช่วยให้ได้รับการเตือนฉุกเฉินนี้ได้ด้วย
ในไต้หวัน
ไต้หวันเรียกระบบแจ้งเตือนฉุกเฉินว่า Public Warning Cell Broadcast Service คือการใช้ระบบ Cell Broadcast Service โดยใช้การส่งข้อความแจ้งเตือนไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนมหาศาลในพื้นที่เฉพาะ ในเวลาสั้นๆ ผ่านระบบ Mobile broadband
เมื่อโทรศัทพ์มือถือได้รับข้อความ จะมีเสียงแจ้งเตือนพิเศษ มีระบบสั่น เป็นการแจ้งเตือนข้อมูลด้านภัยพิบัติแก่สาธารณะแบบรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
ลักษณะเด่นของระบบ
- 1.) มีความรวดเร็ว (Quickly) สามารถส่งข้อความได้รวดเร็ว และผู้รับได้รับข้อความเร็วเพียงไม่กี่วินาทีที่ข้อความถูกส่งออก
- 2.) ไม่ช้าเกินไป (No Delay) ข้อความที่ส่งออกไปจะไม่ได้รับผลกระทบแม้บริเวณนั้นมีการใช้บริการโครงข่ายหนาแน่น และไม่เป็นสาเหตุทำให้โครงข่ายขัดข้อง
- 3.) มีการแบ่งระดับ (Degree Classification) หมายความว่า ข้อมูลข่าวสารจากข้อความที่ได้รับจะต้องถูกออกแบบให้แตกต่างกันตามพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์วิกฤตนั้น
- 4.) มีความน่าเชื่อถือ (Reliable source) ข้อความจะต้องได้รับจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้
- 5.) ไม่ส่งผลกระทบต่อความเป็นส่วนตัวของบุคคล (No Privacy) หมายความว่า การส่งข้อความดังกล่าวจะต้องไม่กระทบต่อความเป็นส่วนตัวของผู้ได้รับข้อความ ผู้ที่ได้รับข้อความแจ้งเตือนไม่จำเป็นต้อง Subscribe หรือสมัครสมาชิก หรือทำการ Log in เพื่อได้รับข้อความ
โครงสร้างในการส่งข้อความ
รัฐบาลจะเป็นผู้ส่งข้อความแจ้งเตือน ส่งผ่านระบบ Cell Broadcast Center คือการกระจายจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ไปยังมือถือของประชาชน ประชาชนจะได้รับข้อความเตือนภัยดังกล่าวในระยะที่กำหนด
ไต้หวันจะมีรายละเอียดการแจ้งเตือน โดยจะแบ่งลำดับการแจ้งเตือน ประเภทของข้อความที่แจ้งเตือน ชื่อเรียกการแจ้งเตือน หน่วยงานที่แจ้งเตือน โดยแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้
1) Alert Message
การแจ้งเตือนเรื่องภัยพิบัติ เพื่อแจ้งเตือนให้ผู้ที่มีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องระมัดระวังตัวมากขึ้น เช่น ฝนตกหนัก แจ้งเตือนสึนามิ พายุไต้ฝุ่น ภูเขาไฟ ไฟป่า คุณภาพอากาศ
มีชื่อแจ้งเตือนว่า Instant Torrential Rain Alert ข้อความในการแจ้งเตือน เช่น มีฝนตกหนักมากในบริเวณภูเขา Tainan, Kaohsiung มีฝนตกหนัก มีฟ้าร้อง ฟ้าผ่า มีแนวโน้มว่าน้ำจะท่วม หรือจะมีพายุลูกเห็บไปจนถึงเวลา XX การแจ้งเตือนนี้จะมีผลจนถึงวันที่ XX เดือน XX โดยหน่วยงานควบคุมภัยพิบัติ
2) Presidential Alert
การแจ้งเตือนเหตุการณ์แผ่นดินไหว การโจมตีทางอากาศ (Air Raid Alert) การแจ้งเตือนการโจมตีทางอากาศด้วยขีปนาวุธ (Missile Air Raid Alert)
หลังตรวจพบว่าจะมีเหตุแผ่นดินไหวอยู่ที่ 5.0 หรือมากกว่านั้น จะมีการแจ้งเตือนผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองหรือในประเทศ เช่น เกิดเหตุแผ่นดินไหวบริเวณ Chiayi และ Tainan ประเมินว่าเหตุแผ่นดินไหวจะอยู่ที่ระดับ 4 ขึ้นไป เป็นต้น
โดยสำนักงานใหญ่ของหน่วยงานป้องกันพลเรือน, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงกลาโหม ฯลฯ เป็นผู้แจ้งเตือน
3) Emergency Alert
การแจ้งเตือนระดับนี้จะทำควบคู่ระดับ Presidential Alert ในบางสถานการณ์ เป็นการไล่ระดับความรุนแรงของเหตุการณ์ ตัวอย่างของระดับนี้ เช่น เหตุวิกฤตทางนิวเคลียร์ การอพยพผู้คน เหตุการณ์ระเบิด ไฟไหม้ ภัยพิบัติเกี่ยวกับสารพิษ แจ้งเตือนโดยกระทรวงสิ่งแวดล้อม สมัชชาพลังงานปรมาณู ฯลฯ แล้วแต่ว่าองค์กรไหนดูแลด้านไหน ก็จะเป็นหน่วยงานรัฐที่ส่งข้อความแจ้งเตือน
4) Monthly Test Message เป็นการทดสอบระบบ Cell broadcast จะมีการทดสอบระบบแจ้งเตือนประจำเดือน
ที่มา – GOV.UK, Cell Broadcast Service-Taiwan
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา