รู้จัก Baby Hatch ตู้รับเด็กทารก ที่พ่อแม่ไม่สามารถเลี้ยงดูได้: หลายประเทศมีไว้ เพื่อรักษาชีวิตเด็ก

รู้จัก Baby Hatch ตู้รับเด็กทารก หลายประเทศมีไว้ เพื่อรักษาชีวิตเด็กและแก้ปัญหาเด็กถูกทิ้ง 

อย่างที่เรารู้กันดีว่า โลกเรากำลังประสบปัญหาคนแต่งงานช้าขึ้น คนอยู่เป็นโสดหรือใช้ชีวิตคนเดียวมากขึ้น คนสูงวัยมีอายุยืนยาว ทำให้ในที่สุดแรงงานไม่พอต่อโลกที่ขับเคลื่อนด้วยการทำงาน เพราะประชากรเกิดใหม่น้อยลง

ในขณะที่โลกขาดแคลนประชากรเกิดใหม่ ก็ยังมีปัญหาพ่อแม่ที่ไม่พร้อมเลี้ยงดูเด็กทารก และยังมีปัญหาท้องไม่พร้อมจากหลากหลายสาเหตุจนนำไปสู่การสนับสนุนให้มีการยุติการตั้งครรภ์แบบเสรี แต่ถ้าเราต้องการเก็บเด็กทารกไว้เลี้ยงดูและต้องการลดการสูญเสียเด็กทารกที่อาจถูกทิ้งเพราะผู้ปกครองไม่สามารถรับเลี้ยงได้ อาจจะมีทางเลือกอีกทางหนึ่ง นั่นก็คือการมี Baby Hatch

Infant, Baby
Photo by The Honest Company on Unsplash

บทความนี้จะพาไปทำความรู้จัก “Baby Hatch” ตู้รับเด็กทารก มันเกิดขึ้นได้เพราะอะไร? ทำไมถึงมีตู้นี้? บนโลกนี้ ประเทศไหนมี Baby Hatch บ้าง?

ก่อนจะไปทำความรู้จัก Baby Hatch มาดูเรื่องอัตราประชากรทั้งของไทยและของโลกในปัจจุบันก่อน

ไทย

ปี 2022 ประชากรไทยมีจำนวน 66.09 ล้านคน อายุมัธยฐานหรืออายุกึ่งกลางของประชากรอยู่ที่ 39 ปี อัตราประชากรเติบโตอยู่ที่ 0.2% อัตราการเกิดอยู่ที่ 10.04 ต่อจำนวนประชากร 1,000 คน อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 7.86 ต่อจำนวนประชากร 1,000 คน อายุคาดเฉลี่ย เพศชายอยู่ที่ 74.92 ปี เพศหญิงอยู่ที่ 81.05 ปี

จำนวนประชากรในวัยแรงงานอยู่ที่ 40.30 ล้านคน

โลก

อัตราการเกิดอยู่ที่ 2.3 คนต่อจำนวนประชากร 1,000 คน อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 7.711 คนต่อจำนวนประชากร 1,000 คน อายุคาดเฉลี่ย ผู้หญิงอยู่ที่ 75 ปี ผู้ชายอยู่ที่ 71 ปี

จากจำนวนประชากรของไทย เราจะพบว่าอัตราการเกิดและการเสียชีวิตมีจำนวนที่ใกล้เคียงกัน ทำให้ระดับการเกิดไม่สามารถเพิ่มไปได้มากกว่านี้แต่เป็นเพียงรักษาระดับให้คงที่เท่านั้น ขณะที่ในระดับโลกนั้นการเกิดน้อยกว่าการเสียชีวิตเท่าหนึ่ง จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อมีการคาดการณ์ว่าประชากรโลกจะมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ

Baby Hatch

Baby Hatch คืออะไร? ทำไมต้องมี?

Baby Hatch คือตู้รับเด็กทารก

เป็นตู้ที่รับเด็กทารกมาเลี้ยงไว้หลังจากที่พ่อแม่ไม่สามารถเลี้ยงเด็กทารกได้ ซึ่งมีสาเหตุหลากหลาย มีทั้งเพื่อรักษาชีวิตเด็กทารก ไม่ให้ถูกทิ้งไว้กลางทางจนนำไปสู่การเสียชีวิต จึงจัดให้มีพื้นที่พำนักเพื่อรับเด็กทารกไปเลี้ยงดูต่อ

สาเหตุที่พ่อแม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกตัวเองได้ ก็มีทั้งสาเหตุจากฐานะที่ยากไร้ มีทั้งบุคคลที่ถูกกระทำชำเรา ถูกข่มขืน จนไปถึงการมีความสัมพันธ์ซ่อนเร้น จนทำให้ไม่สามารถรับผิดชอบเด็กทารกคนนั้นได้

ตู้รับเด็กทารก มีมาตั้งแต่ยุคกลางแล้ว
ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่เพิ่งเกิด ไม่ได้เพิ่งมี

บทความจาก Orphan Care และ Religion Unplugged เล่าว่า แนวคิดตู้รับเด็กทารกนั้น เริ่มรู้จักกันในชื่อว่า Ruota Degli Espoti ให้มีการติดตั้งครั้งแรกที่โรงพยาบาล Marseilles ในฝรั่งเศส ตั้งแต่ยุคกลางตอนกลาง หรือในสมัย ค.ศ. 1188

ต่อมา ในปี ค.ศ. 1198 สมเด็จพระสันตะปาปา Innocent ที่ 3 เห็นว่า ควรจะต้องมีการติดตั้งตู้รับเลี้ยงเด็กทารกอย่างจริงจัง สมัยนั้นเรียกอีกชื่อคือ Ruota หรือ Foundling wheels โดยให้มีการติดตั้งไว้ในบริเวณโบสถ์ ประเทศอิตาลี

การติดตั้ง Foundling wheels ในยุคนั้น จัดทำตู้ให้มีลักษณะคล้ายถังทรงสูงขนาด 2 ฟุต ให้เจาะพื้นที่ฝังถังเข้ากับกำแพงที่หันออกหน้าถนนของโบสถ์ มีขนาดใหญ่พอที่จะสามารถวางเด็กทารกไว้ข้างในได้ คนรับเด็กทารกจากในโบสถ์จะไม่เห็นหน้าผู้นำเด็กทารกมาฝากไว้

สาเหตุที่ต้องมี Foundling wheels นี้ก็เพื่อจะปกป้องและรักษาชีวิตของเด็กทารกไว้ ไม่ให้เกิดการสูญเสียเพราะทิ้งเด็กไว้ข้างทางจนนำไปสู่การเสียชีวิต อีกทั้งเพื่อแบ่งเบาภาระพ่อแม่ที่ไม่สามารถรับเลี้ยงเด็กได้

ในช่วงคริสตวรรษที่ 12 หลายๆ เมือง หลายหมู่บ้านของประเทศอิตาลีก็ตกอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ทำให้เป็นเรื่องยากลำบากมากที่แต่ละครอบครัวจะสามารถประคับประคองหรือเลี้ยงชีวิตเด็กได้สักคนหนึ่ง ช่วงนั้นพ่อแม่ของเด็กที่มีฐานะยากไร้จึงเลือกที่จะทิ้งลูกตัวเองไว้กลางเมือง หรือทิ้งลงแม่น้ำบ้าง และในที่สุดเด็กก็เสียชีวิต

พระสันตะปาปา Innocent ที่ 3 จึงแก้ปัญหาด้วยการคิด Foundling wheels ขึ้นมาเพื่อรับรองเด็กทารกที่พ่อแม่ไม่สามารถเลี้ยงดูลูกตัวเองได้ แม่ในสมัยนั้นจะนำเด็กมาไว้ที่นี่และสั่นระฆังเพื่อเรียกให้พยาบาลที่เป็นแม่ชี รวมทั้งอาสาสมัครหญิงสูงวัยจากในหมู่บ้านเข้ามาช่วยดูแลเด็กทารก ช่วงนั้นเด็กทารกที่ถูกมาส่งไว้ที่ Foundling wheels ก็มีมาฝากทั้งในสภาพที่ทุพพลภาพ บ้างก็มีโรคประจำตัวจนทำให้ถึงแก่ชีวิตหลายคน

ขณะเดียวกันผู้ที่ดูแลเด็กทารกในบางครั้งก็เสียชีวิตจากการติดโรคหลังจากดูแลเด็กด้วย ไม่ใช่แค่ในอิตาลีเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายประเทศจำนวนมากที่มีตู้รับเด็กทารก

ช่วงนั้น ทั่วทั้งทวีปยุโรปก็เริ่มมีการติดตั้งตู้รับเด็กทารกไว้ในหลายประเทศ ในเยอรมนี เริ่มมีการติดตั้งตู้รับเด็กทารก หรือเรียกว่า Drehaladen ครั้งแรกที่ผนังกำแพงของสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าในช่วงยุคกลางตอนปลาย ปี ค.ศ. 1709 ที่ฝรั่งเศส ณ กรุงปารีส บาทหลวงโรมันคาทอลิกชาวฝรั่งเศส Vincent de Paul ก็เริ่มให้มีการติดตั้งตู้รับเด็กทารกในปี 1638 และเริ่มทำให้ถูกกฎหมายในปี 1811

หลายประเทศทั่วโลกเริ่มติดตั้งตู้รับเด็กทารก เช่น ญี่ปุ่น, สวิตเซอร์แลนด์, ออสเตรีย, เบลเยียม, แคนาดา, จีน, สาธารณรัฐเชก, ฮังการี, อินเดีย, ลัตเวีย, มาเลเซีย, เนเธอร์แลนด์, ปากีสถาน, ฟิลิปปินส์, โปแลนด์, รัสเซีย, แอฟริกาใต้,เกาหลีใต้, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา ฯลฯ

ตัวอย่างที่เล่าก่อนหน้า ก็คือต้นทางความคิดในการติดตั้งตู้รับเด็กทารกมาจากศาสนจักรในยุโรปจวบจนปัจจุบันก็จะเห็นว่าไม่ใช่แค่ในยุโรปแต่ไหลมายังเอเชียด้วย ล่าสุด ประเทศญี่ปุ่นก็เตรียมตั้งตู้รับเด็กทารกแห่งที่สองของประเทศด้วย

Japan

กรณีศึกษา: กว่าจะมีตู้รับเด็กทารกในญี่ปุ่น ก็เริ่มเข้าสู่ยุคใหม่ ยุคปัจจุบันแล้ว ไม่ได้เริ่มมีตั้งแต่ยุคกลางแบบในยุโรป

ญี่ปุ่นเริ่มยังไง?

รายงานล่าสุดเกี่ยวกับประเด็น Baby Hatch พบว่า โรงพยาบาลในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นกำลังเตรียมแผนติดตั้ง Baby Hatch หรือตู้สำหรับฝากเด็กทารกเพื่อให้หน่วยงานสวัสดิการทางสังคมเข้ามาดูแลแทน โดยแผนติดตั้งตู้ฝากเด็กทารกนี้จะจัดทำขึ้นที่ โรงพยาบาล San-ikukai ในปีหน้า ปี 2024

San-ikukai คือใคร?

San-ikukai หรือชื่อเต็มคือ San-ikukai Social Welfare Inc. ก่อตั้งโดยอาสาสมัครจากนักเรียนแห่ง YMCA of Tokyo Imperial University (ปัจจุบันคือ YMCA of Tokyo University) (YMCA หรือ The Y คือ องค์กรไม่แสวงผลกำไรของกลุ่มผู้นับถือศาสนาคริสต์และต้องการสร้างชุมชนคนรุ่นใหม่ให้มีความเข้มแข็ง มีความสุข มีจิตวิญญาณที่แข็งแกร่ง)

โดย San-ikukai ก่อตั้งเมื่อ 16 มีนาคม ปี 1918 ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ประชาชนมีชีวิตที่ยากลำบากเพราะได้ผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 1 โรงพยาบาล San-ikukai ดำเนินการโดยบริษัทที่ให้การดูแลด้านสวัสดิการสังคมแห่งนี้ และยังมีสถานพยาบาล 16 แห่งในภูมิภาค Kanto ด้วย

องค์กรดังกล่าวทำงานเพื่อสังคมภายใต้หลักการของศาสนาคริสต์คือ “จงรักเพื่อนบ้านให้เหมือนรักตนเอง” ด้วยเหตุนี้จึงมีการดูแลทางการแพทย์ฟรีสำหรับผู้หญิงและเด็ก รวมทั้งผู้สูงวัยด้วย แม้จะเคยได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงมาถึงสองครั้งใหญ่ๆ จากกรณีถูกโจมตีทางอากาศ ไปจนถึงแผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโตด้วย แต่ San-ikukai ก็ยังคงแข็งแกร่งและกลับมารับใช้ผู้คนได้เช่นเดิม

สำหรับตู้ฝากเด็กทารกที่กำลังจะติดตั้งเพื่อให้องค์การทางสังคมดูแลเด็กแรกคลอดต่อนั้น ถือเป็นแห่งที่ 2 ของญี่ปุ่นแล้ว ก่อนหน้านี้ก็มีการติดตั้งมาแล้ว โดยแห่งแรกตั้งอยู่ที่โรงพยาบาล Jikei ในเมือง Kumamoto ตั้งแต่ปี 2007 มีเด็กทารกที่ถูกทอดทิ้งจำนวน 170 รายที่ได้ถูกนำไปเลี้ยงดูต่อ

ตู้ฝากเด็กที่ญี่ปุ่นต้องติดตั้งไว้ในโรงพยาบาล Jikei นี้ ก็เนื่องจาก Taiji Hasuda ที่เริ่มทำงานที่โรงพยาบาลนี้มาตั้งแต่ปี 1969 ให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2013 ช่วงที่เขาเป็นประธานโรงพยาบาล อายุ 76 ปี เขาบอกว่าช่วงที่เขาทำงานเป็นสูตินรีแพทย์นั้น เขาต้องเผชิญสถานการณ์ที่แม่ของเด็กสูญเสียเลือดมากมายจนเกือบเสียชีวิตหลายต่อหลายครั้ง

ความคิดในการติดตั้งตู้ฝากเด็กทารกนี้ ก็สืบเนื่องมาจากที่เขาได้เดินทางไปเยือนประเทศเยอรมนีและพบผู้อำนวยการฝ่ายการพยาบาลของโรงพยาบาลแห่งนั้นช่วงปี 2004 เขาก็ได้สำรวจ Babyklappe หรือ Baby Hatch ตู้ฝากเด็กทารก เนื่องจากพ่อแม่ไม่สามารถดูแลลูกได้ทำให้ต้องฝากเด็กไว้ที่ตู้เหล่านั้น เมื่อเขาเดินทางกลับจังหวัด Kumamoto อยู่ห่างจากโตเกียวราว 890 กิโลเมตร ทำให้พบทารกแรกเกิดถูกทิ้งไว้กลางทาง 3 รายและปล่อยให้เสียชีวิต ทำให้ในที่สุดเดือนพฤษภาคม ปี 2007 เขาจึงสร้าง Baby Drop หรือตู้ฝากเด็กทารกซึ่งเรียกว่า Konotori no Yurikago หรือ Stork’s Cradle

Japanese children
กระบวนการดูแลเด็ก

เริ่มจาก เมื่อมีคนมาฝากเด็กทารกไว้ที่ตู้ Baby Hatch ทางโรงพยาบาลจะแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากนั้นหน่วยงานท้องถิ่นของรัฐและศูนย์ให้คำปรึกษาเพื่อการเลี้ยงดูเด็กทารกจะเข้ามาดูแลต่อ

โดยปกติ ทางศูนย์ฯ จะเลี้ยงดูเด็กทารกจนถึงอายุ 3 ขวบ จากนั้นจะส่งเด็กไปที่บ้านสำหรับดูแลเด็กเล็ก ช่วงนี้เด็กจะสะเทือนใจมากเพราะเด็กๆ จะคิดว่าเจ้าหน้าที่เป็นเหมือนพ่อแม่ของเขาไปแล้ว จากนั้นจะให้เด็กๆ อาศัยอยู่ในบ้านที่ดูแลเด็ก ซึ่งในทางปฏิบัติ ก็อาจจะมีพ่อแม่บุญธรรมมาเลี้ยงดูต่อ หรือไม่ก็ส่งกลับไปให้พ่อแม่ที่แท้จริง

เมื่อเด็กๆ อายุครบ 18 ปี เขาจะต้องออกจากบ้านดูแลเด็กเล็ก ช่วงนี้ก็จะเป็นช่วงที่ยากลำบากของพวกเขาอีกครั้ง อาจกล่าวได้ว่าสำหรับสูตินรีแพทย์ชาวญี่ปุ่นที่เริ่มต้นคิดติดตั้งตู้ฝากเด็กไว้ เนื่องจากไม่อยากให้เด็กเสียชีวิตเพิ่มจากการถูกทิ้ง จึงคิดให้มีพื้นที่ในการอุปถัมภ์เลี้ยงดูเด็กจนเติบโต สามารถใช้ชีวิต พึ่งพาตัวเองได้ จากนั้นจึงจะปล่อยให้เด็กๆ ได้ใช้ชีวิตอิสระ

แม้จะฝากลูกไว้ที่ตู้รับเด็กทารก แต่ก็อาจติดต่อระหว่างกันได้บ้างในอนาคต

Baby hatch ในกรุงโตเกียวนี้จะรับเด็กทารกที่มีอายุ 4 เดือนขึ้นไปและจะมีระบบมอนิเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมง ตอนนี้ทางโรงพยาบาลกำลังเตรียมแผนที่จะทำข้อมูลของเด็กแรกเกิดให้เป็นความลับด้วย โดยจะให้แม่ผู้คลอดเด็กเปิดเผยชื่อและข้อมูลติดต่อได้เฉพาะกับบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น

เผื่อว่าในอนาคตทั้งสองฝ่ายอาจจะต้องการติดต่อถึงกัน และบางครั้งเมื่อมีพ่อแม่บุญธรรมมารับเด็กไปเลี้ยงเป็นลูกแล้ว เด็กบางคนก็อยากพบเจอพ่อแม่ที่แท้จริงของพวกเขา และบางครั้งก็อาจเจอพ่อแม่บุญธรรมที่กระทำทารุณต่อเด็ก นั่นก็เป็นปัญหาที่เด็กต้องละจากครอบครัวใหม่นั้นด้วย เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน มันมีทั้งความรู้สึกที่ต้องรับมือระหว่างพ่อแม่ใหม่กับพ่อแม่เก่าที่ไม่รู้ว่าสื่อสารกับเด็กอย่างไรด้วย

ปัจจุบันความต้องการใช้ Baby hatch มีเพิ่มมากขึ้นในโตเกียว เพื่อรองรับผู้หญิงที่อยู่ในสถานะท้องไม่พร้อม ซึ่งก็มีหลากหลายสาเหตุตามที่กล่าวมาแล้ว

ที่มา – Japan Today (1), (2), The Y, San-ikukai, Mainichi, UCANews, Religion Unplugged, The Vintage News, Orphan Care, SDG, Macro Trends, Baby Hatch

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา