ตลาดส่งอาหารที่เติบโต 6 เท่าตัว กับเป้าหมายของ GET ที่ต้องทุ่มสุดตัวถึงจะเป็นเบอร์หนึ่ง

ด้วยวิถีชีวิตคนเมืองที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นความเร่งรีบ และการอาศัยอยู่ในครอบครัวเล็ก ทำให้บริการส่งอาหารนั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งน้องใหม่อย่าง GET ก็เกาะกระแสการเติบโตนี้ด้วยการอัดแคมเปญการตลาดต่อเนื่อง

ธนนท์ จำเริญ
ธนนท์ จำเริญ พรีเซนเตอร์คนแรกของ GET

ตลาดส่งอาหารเติบโต 6 เท่าตัว

ก่อนหน้านี้บริการส่งอาหารอาจอยู่แค่ร้าน Fast Food หรือบางร้านอาหารตามสั่ง แต่ปัจจุบันก็มีหลายแพลตฟอร์มพัฒนาบริการส่งอาหารถึงที่ ทั้ง Food Panda กับตำแหน่งผู้มาก่อนกาล, LINE MAN ที่ชูจุดเด่นเรื่องสั่งได้ทุกเมนู ครอบคลุมทุกพื้นที่, Grab ที่พยายามวางตัวเป็นทุกอย่าง และน้องใหม่อย่าง GET ที่มี Go-Jek อยู่เบื้องหลัง

ภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GET เล่าให้ว่า ปัจจุบันตลาดส่งอาหารนั้นเติบโต 6 เท่าตัวในระยะเวลาเพียง 6 เดือนแรกในปี 2562 แสดงให้เห็นถึงความนิยมบริการนี้ของคนเมือง แต่ถึงจะเติบโตขนาดนี้ก็ยังมีโอกาสเหลืออีกมาก เพราะคนส่วนใหญ่ที่อยู่ในเมืองยังไม่ได้ใช้บริการนี้

GET
ภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GET

“ถึงตลาดจะเติบโตเร็ว และมีผู้เล่นเยอะ แต่จริงๆ แล้วผมเชื่อว่าคู่แข่งของ GET คือร้านอาหารตามท้องถนน เพราะร้านเหล่านี้ยังตอบโจทย์คนเมืองส่วนใหญ่ได้มากกว่า ดังนั้นภารกิจของเราคือกระตุ้นให้ทั้งผู้บริโภค และร้านเหล่านี้หันมาใช้บริการส่งอาหารมากกว่าเดิมเพื่อให้ธุรกิจเติบโตยิ่งขึ้น”

บริการที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำของ GET

สำหรับบริการส่งอาหารของ GET นั้นให้บริการภายใต้ชื่อ GET Food เป็นอีกบริการที่เปิดตัวพร้อมกับที่บริษัททำตลาดอย่างเป็นทางการในประเทศไทยเมื่อเดือนธ.ค. 2561 ปัจจุบันมีร้านค้าอยู่ในระบบ 20,000 ร้าน ครอบคลุมเกือบทั่วพื้นที่กรุงเทพ ส่วน Active User ในปัจจุบันของ GET นั้นอยู่ที่ 5 แสนราย/เดือน

GET
GET

“GET Food คือบริการเรือธงของเราในตอนนี้ และเราก็ศึกษาบริการใหม่ๆ เกี่ยวกับบริการส่งอาหารตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นบริการเดินไปส่ง หรือ Walk รวมถึงบริการที่อยู่กึ่งกลางระหว่างจัดส่งโดยมอเตอรไซค์กับเดินอีกด้วย แต่ทั้งนี้มันก็ต้องไม่กระทบกับคุณภาพในการจัดส่งที่ปัจจุบัน GET Food สามารถส่งถึงที่ใน 30 นาที”

เบื้องต้น GET Food ได้เปิดตัวฟีเจอร์ใหม่เช่น การพัฒนาระบบค้นหาร้าน และเมนูอาหารให้แม่นยำยิ่งขึ้น, OMAKASE ที่แนะนำเมนูอาหารให้ตรงกับความชอบของผู้ใช้ที่สุด รวมถึงการแสดงส่วนลดแบบใหม่ และการสั่งอาหารได้หลายร้านพร้อมกันในการกดสั่งครั้งเดียว เพื่อแก้ปัญหาในการสั่งอาหารได้แค่ทีละร้าน

ใช้พรีเซนเตอร์ พร้อมสร้างเมนูพิเศษเพิ่มความแตกต่าง

ขณะเดียวกัน GET ยังเปิดตัว “ธนนท์ จำเริญ” เป็นพรีเซนเตอร์คนแรกของ GET เพื่อเพิ่มการรับรู้ของแบรนด์ และประสิทธิภาพในการทำตลาด นอกจากนี้ยังสร้างเมนูพิเศษโดยร่วมกับเชฟชื่อดังของไทยเพื่อสร้างความแตกต่าง ผ่านการสั่งเมนูพิเศษไปรับประทานที่บ้านในราคาที่เอื้อมถึง

“แคมเปญเมนูพิเศษชื่อว่า “Only At GET เรื่องกินต้องเก็ท” มีทั้งเชฟต้น จากร้านบ้าน, เชฟกิ๊ก จากร้านเลิศทิพย์, เชฟเปเปอร์ จากร้าน ICI และเชฟเก๊า จากร้านเจ๊โอว โดยเมนูเหล่านี้สั่งได้ที่ GET Food เท่านั้น และค่อนข้างตอบโจทย์คนที่อยากไปรับประทานร้านอาหารเหล่านี้แต่ไม่อยากไปต่อคิวนาน”

GET
เชฟชั้นนำของประเทศไทยที่ร่วมแคมเปญ Only at GET

ทั้งนี้ GET มีแผนพัฒนาบริการ GET Win บริการรับส่งคน, GET Delivery บริการส่งพัสดุ และ GET Pay บริการชำระเงินอย่างต่อเนื่อง โดย GET Pay นั้นแม้จะอยู่ในช่วงทดสอบให้บริการ แต่ผู้บริโภคก็สามารถเติมเงินเข้าระบบและใช้จ่ายบริการต่างๆ ของ GET ได้ ที่สำคัญ GET Pay จะเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในอนาคตของ GET ด้วย

สรุป

ตอนนี้การแข่งขันของบริการส่งอาหารนั้นดุเดือดมากๆ เพราะทุกเจ้าต่างส่งโปรโมชั่น และยิ่งโฆษณาเพื่อดึงผู้บริโภคให้เข้ามาใช้งานอย่างต่อเนื่อง จึงไม่แปลกที่ GET น้องใหม่ในตลาดก็ต้องเร่งลงทุนเรื่องนี้หลังจากช่วงแรกอาจทำไม่เต็มที่นัก เพื่อเพิ่มยอดใช้งาน และกลายเป็นเบอร์หนึ่งเหมือนกับที่ Go-Jek ยิ่งใหญ่ในอินโดนีเซีย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา