หลายคนอาจติดภาพว่า เยอรมนีคือประเทศแห่งรถยนต์น้ำมัน แต่รู้หรือไม่ว่า เยอรมนีคือ 1 ในประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นเบอร์ต้นๆ ของโลก
ในปี 2023 เยอรมนีผลิตรถยนต์ไฟฟ้าล้วน (BEV) และปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) ไปมากกว่า 1 ล้านคัน (ตัวเลขเป๊ะๆ คือ 1.27 ล้าน)
ด้วยความที่เยอรมนีเป็นบ้านเกิดของแบรนด์ดังอย่าง Volkswagen, BMW และ Mercedes-Benz แน่นอนว่า นี่คือประเทศผู้นำตลาด EV ในยุโรป โดยจำนวนรถที่ผลิตนั้นมากกว่ารถที่สเปน (256,000 คัน) และฝรั่งเศส (225,000 คัน) ผลิตรวมกันเสียอีก
พูดง่ายๆ ก็คือ เยอรมนีผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเยอะมาก จนขึ้นแท่นเป็นเบอร์ 2 ของโลก รองจากจีน ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้มากถึง 8.1 ล้านคันในปี 2023
ความต่างอยู่ตรงนี้ แม้ว่าจีนจะเป็นเบอร์ 1 ของโลกในแง่ปริมาณการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แต่รถยนต์ส่วนใหญ่นั้นขายในประเทศเป็นหลัก ต่างจากเยอรมนีที่รถยนต์ไฟฟ้าขายออกไปยังต่างประเทศในสัดส่วนที่มากถึง 76%
จากการคาดการณ์ของกรมขนส่งทางบกเยอรมนี ระบุว่า ภายในปี 2030 เยอรมนีจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ถึง 10 ล้านคันต่อปี และจะส่งผลให้ครองส่วนแบ่งตลาดโลกได้มากถึง 20 -25%
แต่ที่ว่ามานี้อาจเป็นได้แค่ฝัน
ตอนนี้ EV เยอรมนี กำลังเจอปัญหาใหญ่
ถ้าเราไปดูเส้นทางการผลิตรถยนต์ EV ของเยอรมนีตอนนี้ จะเห็นเลยว่าไม่ค่อยสวยงามเท่าไหร่นัก
เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์ของประเทศ ประกาศตัดงบประมาณสนับสนุนไปราวๆ 2 ล้านล้านบาท ทำให้รัฐบาลที่บริหารประเทศ ต้องยกเลิกหลายๆ โครงการ รวมถึงโครงการเงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าด้วย
ในช่วงแรก ประชาชนจะได้รับเงินอุดหนุนการซื้อรถ EV จากรัฐบาลและผู้ผลิตรถยนต์ในราคาสูงสุดเกือบ 300,000 บาท (ขึ้นอยู่กับราคาของแต่ละรุ่น)
ทว่า ถ้าอิงจากข้อมูลในเดือนมกราคม 2024 ผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าล้วน (BEV) ราคาประมาณ 1.78 ล้านบาท จะได้รับเงินอุดหนุนเพียง 178,000 บาท และเงินในส่วนนี้มาจากการช่วยเหลือของรัฐบาล 119,000 บาท และจากผู้ผลิตรถยนต์อีก 59,000 บาท
ที่หนักกว่านั้นคือ รถยนต์ที่มีราคาเกิน 1.78 ล้านบาท หรือ 45,000 ยูโร จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือใดๆ ทั้งสิ้น
แค่เรื่องเงินก็ว่าหนักแล้ว เยอรมนียังประสบปัญหาในการพัฒนาซอฟต์แวร์และการจัดการห่วงโซ่อุปทานจนโดน Tesla กับจีนทิ้งห่างไป
นอกจากนี้ ด้วยความที่เยอรมนีจำเป็นต้องร่วมมือกับสหรัฐฯ และเอเชียตะวันออกในการผลิตแบตเตอรี ประเทศจึงอยู่ในภาวะที่พึ่งพาตนเองไม่ได้ ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการพัฒนาเทคโนโลยีของแบตเตอรี่
คำถามคือ แล้วตอนนี้ เยอรมนี แก้ไขปัญหาอย่างไร คำตอบคือ ส่งบริษัทในประเทศไปจับมือกับพาร์ทเนอร์รายอื่นๆ เช่น Volkswagen ได้กลายเป็นนักลงทุนหลักและพาร์เนอร์คนสำคัญของ Northvolt บริษัทแบตเตอรีสัญชาติสวีเดน เพื่อที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตแบตเตอรี่ของตนเอง
ในทีแรก Northvolt มีแผนที่จะไปสร้างโรงงานที่สหรัฐอเมริกา แต่หลังจากได้รับข้อเสนอเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเยอรมนีไปราวๆ 3 หมื่นล้านบาท บริษัทดังกล่าวจึงต้องเปลี่ยนแผน แล้วกลายเป็นแหล่งผลิตแบตเตอรี่รายสำคัญประจำสหภาพยุโรป
มากไปกว่านั้น เยอรมนีได้ลงทุนกับงานวิจัยด้านการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี โดยจะเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพของนวัตกรรมและพัฒนากระบวนการเพื่อเพิ่มขีดจำกัดในการผลิต
เกมนี้ยังอีกยาว และท้ายที่สุด อนาคตของเยอรมนีในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นอย่างไร จะสามารถแก้สถานการณ์ได้หรือไม่ เราคงต้องติดตามกันต่อไป เพราะนี่คือหนึ่งในประเทศใหญ่ที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอันดับ 2 ของโลก
แหล่งอ้างอิง: electrek / International Energy Agency / deutschland.de / EURACTIV
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา