โลกป่วน กระทบเศรษฐกิจ: รัฐไทยต้องปรับทั้งระบบ-ลดพึ่งพาจีน หยุดทำงานแบบแยกส่วน

ภาพน้ำมันดิบราคาพุ่งเกิน 100 เหรียญสหรัฐติดต่อกันยาวนาน หรือราคาปุ๋ยแพงขึ้นมากกว่าเท่าตัว ราคาวัตถุดิบ อาหารสัตว์ อาหารโลกที่ราคาพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทั้งหมดล้วนเกี่ยวพันกับความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์

Geopolitics

จากกงานประชุมประจำปี 2567 ของสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่องพลิกความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ สร้างโอกาสประเทศไทย รศ.ดร. วิษณุ อรรถวานิช กรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำเสนอความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ต่อระบบอาหารและพลังงานของไทย ดังนี้

ความเสี่ยงต่อระบบอาหาร

ความมั่นคงทางอาหาร เชื่อมโยงหลายอย่าง ทั้งความเพียงพอของอาหาร การใช้ประโยชน์ของอาหาร การเข้าถึงอาหาร และเสถียรภาพในการเข้าถึงอาหาร

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในอดีต ปัจจัยที่ทำให้อาณาจักรโรมันล่มสลายก็มาจากวิกฤตอาหารขาดแคลน ไทยก็ประสบปัญหาเช่นกัน ผลผลิตต่อไร่ของข้าวภายในปี 2050 จะลดลง 10-14% ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับภูมิภาคด้วย ภาคอีสานได้รับผลกระทบหนัก

ระบบอาหารเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปถึงปลายน้ำ ในอดีตมักพุ่งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉพาะที่ต้นน้ำ ปัจจุบันเริ่มทำให้ระบบอาหารทั้งหมดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทุกธุรกิจก็ต้องทำเช่นกัน ถ้าไม่ปรับตัว อนาคตการส่งออกจะมีปัญหา ขีดความสามารถในการแข่งขันจะย่ำแย่

การนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารมีแนวโน้มกระจุกตัวมากขึ้นเรื่อยๆ

ประเทศที่ไทยพึ่งพาการนำเข้าเยอะคือบราซิลและจีน ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรคือจีน ภายใน 1 ทศวรรษส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจาก 15% เป็น 25% การที่ไทยผูกติดตลาดส่งออกจีนซึ่งมีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์มากเกินไปจะเป็นปัญหาในอนาคตหรือไม่ นี่เป็นประเด็นสำคัญ

Geopolitics

ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ด้านพลังงาน

เวลาพูดถึงความมั่นคง ไม่ได้พูดถึงความเพียงพอเท่านั้น แต่รวมถึงการเข้าถึงพลังงาน มีราคามากน้อยเพียงใด การใช้ประโยชน์ และเสถียรภาพการเข้าถึง

ปัจจุบันเวลาคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศ มักผูกติดกับ GDP มากกว่าเรื่องความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากการศึกษาพบว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละภูมิภาคจะแตกต่าง โดยภาพรวมจะใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ที่อยู่อาศัยจะได้รับผลกระทบมากขึ้น

การนำเข้าน้ำมันดิบมีแนวโน้มกระจายตัวลดลง ตัวอย่างจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อก่อนนำเข้า 32% ปัจจุบันเพิ่มเป็น 42.5% ไทยพึ่งพา UAE มากพอสมควร สะท้อนความเปราะบางถ้าเกิดความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์

การพึ่งพาตนเองในการจัดหาพลังงาน

น้ำมันดิบไทยหาเองได้ 12% ต้องนำเข้า 88% ถ้าเป็นถ่านหิน ไทยผลิตได้เอง 22% ขณะที่ก๊าซธรรมชาติผลิตได้ 56.98 ถ้ารวมเชื้อเพลิงทั้ง 3 ส่วนเข้าด้วยกัน พบว่าดัชนีการพึ่งพาตัวเอง เมื่อก่อนในปี 2553 อยู่ที่ 61% ปัจจุบันลดลงเหลือ 45% ทำให้ต้องใช้พลังงานจากตลาดโลกมากยิ่งขึ้น

Geopolitics
ความมั่นคงทางอาหาร

ถ้าแยกเป็นประเภท จะเห็นได้ว่า เกษตรและอาหารเป็นสินค้าที่ผลิตและต้องใช้ไฟฟ้าเยอะ สิ่งที่ได้ยินบ่อยๆ ช่วงนี้คือมาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism: มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนยุโรป มีการคิดราคาสินค้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้าไปในสหภาพยุโรป) ในอนาคตจะมาถึงไทยแน่นอน

ภายใต้ปี 2050 ราคาคาร์บอนจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างน้อย 5 เท่าตัว ถ้าต้องการส่งออก ราคาสินค้าเกษตรจะถูกบวกเพิ่มด้วยต้นทุนของคาร์บอน และสินค้าเกษตรไทยหรือสินค้าอาหารของไทยจะมีต้นทุนสูงขึ้น

ปี 2565 ไทยมีการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อผลิตไฟฟ้าที่ 15.8% การผลิตไฟฟ้าของไทยจะกระทบการผลิตอาหารได้ถ้าไม่ปรับ ดัชนีความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ถ้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอาหารและพลังงานสูงขึ้นแน่นอน

Geopolitics

ข้อเสนอแนะในการรับมือความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ต่อระบบอาหารและพลังงาน

ความมั่นคงทางอาหาร

สิ่งที่ต้องเร่งทำ คือกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ นโยบายเกษตรไทยให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า ไม่มีเงื่อนไข การวิจัยในต่างประเทศ นิยมใช้แบบมีเงื่อนไขเพื่อให้เกษรกรปรับตัวดีขึ้น เงินต้องให้ควบคู่ความรู้ ปัจจุบันให้แต่เงินแต่ให้ความรู้น้อย

สิ่งที่เกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนคือ เทคโนโลยีเท่าทันภูมิอากาศ ปรับแล้วจะเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ลดการใช้น้ำ ให้ปุ๋ยตามการวิเคราะห์ค่าดิน

เพิ่มจำนวนที่ปรึกษาทางการเกษตรให้เกษตรกร

ทุกวันนี้ไทยอยู่ในระดับขาดแคลนเข้าขั้นวิกฤต ภาครัฐมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรหลัก 1 หมื่นต้นๆ แต่เกษตรกรมี 12 ล้านชีวิตที่มีการศึกษาน้อยด้วย ต้องมีการปรับกลยุทธ์ จับมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ทำงานร่วมกันเพื่อลดข้อจำกัดด้านบุคลากรภาครัฐ

การจัดการระบบอาหารของไทย
ไทยไม่มีหน่วยงานที่จะดูแลการบริหารจัดการเกษตรและอาหาร ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เกาหลีใต้เขาดูต้นน้ำยันปลายน้ำ แต่ไทยดูทีละจุด ขาดความรู้ในแง่ภาพรวมแบบบูรณาการ ไทยมักนิยมตั้งคณะกรรมการดูแลเรื่องนั้นๆ ต่อไปจะทำงานลำบาก ต้องมีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งดูแลภาพรวมทั้งหมดโดยตรง

“การตรวจสอบย้อนกลับ การผลิต การแปรรูป”
สิ่งเหล่านี้จะถูกใช้เป็นมาตรการในการกีดกันทางการค้า

เรื่องที่วิกฤตคือบุคลากร

คาร์บอนเครดิต ต้นทุนแพงมาก ทำไมถึงแพง ประเด็นที่สำคัญคือจะมีบริษัทที่ทำสิ่งที่เรียกว่า MRV (Measure, Report and Verification บริษัทที่มีการใช้เครื่องมือเพื่อวัดผล ทำรายงานผล และการทวนสอบ) แต่พื้นที่ทำการเกษตรหลายล้านไร่ สุดท้ายเงินจะรั่วไหลให้บริษัทต่างประเทศที่ทำ MRV ทำเรื่องระบบตรวจสอบย้อนกลับ

สินค้าเกษตรและอาหารคาร์บอนต่ำ ต้นทุนแพงกว่าในการผลิต ระบบแรงจูงใจสำคัญมาก
ลดการพึ่งพาการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตร ต้องกระจายมากขึ้น เช่น จีน

เรื่องพลังงาน

ต้องเอาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาเป็นหนึ่งในปัจจัยวิเคราะห์ว่าความต้องการพลังงานเป็นอย่างไร
เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมด ทำสองทางคือกระจายนำเข้าและผลิตเพิ่มขึ้นด้วย รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากมีปัญหาไม่ต่อเนื่องในการจัดหาพลังงาน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา