ผลสำรวจจาก Reuters เผยว่าบริษัทในญี่ปุ่นขาดแคลนพนักงานระดับผู้จัดการและผู้บริหารที่เป็นผู้หญิงอย่างมาก โดย 80% ของผู้ตอบแบบสำรวจให้ข้อมูลว่าผู้หญิงที่อยู่ในตำแหน่งระดับสูงมีแค่ 10% หรือน้อยกว่านั้น
บริษัทส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าจะทำตามเป้าหมายของรัฐที่ต้องการให้มีผู้บริหารผู้หญิงอย่างน้อย 30% ภายในปี 2030 ได้ ถึงแม้เดดไลน์จากถูกเลื่อนออกไปถึง 10 ปี จากปี 2020 แล้วก็ตาม
วัฒนธรรมที่ฝังรากลึก
ผู้ตอบแบบสอบถามบางส่วนก็ให้ความเห็นว่า ก่อนที่จะเพิ่มผู้หญิงในองค์กรได้ ญี่ปุ่นจะต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรที่มีแต่ผู้ชายก่อน รวมถึงต้องแก้ปัญหาเรื่องสวัสดิการต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องการดูแลลูกด้วย
“เป้าหมายนี้จะเป็นไปไม่ได้ถ้าสังคมไม่ยอมเปลี่ยนความคิด เราต้องสนับสนุนให้ผู้หญิงดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ได้” ผู้จัดการบริษัทผู้ให้บริการรายหนึ่งตอบ
การผลักดันจากภาครัฐและเอกชน
อดียนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ เคยผลักดันนโยบายต่างๆ ในการสนับสนุนผู้หญิงในสังคม รวมถึงการรณรงค์ให้ผู้หญิงทำงานมากขึ้น เพิ่มเงินอุดหนุนด้านการดูแลลูก รวมถึงเสนอให้ทั้งพ่อแม่ลาคลอดได้ เรียกรวมๆ ว่า “Womenomics” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น องค์กรทางธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ
ความล้มเหลวของนโยบาย แก้ปัญหาไม่ตรงจุด
ถึงแม้ว่านโยบายต่างๆ ของอดีตนายกอาเบะจะถูกปล่อยออกมาตลอด แต่สถานการณ์จริงของผู้หญิงก็ดูจะไม่ได้ดีขึ้นมากนัก อัตราความยากจนในคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับปี 2012 ก่อนที่นายกอาเบะจะขึ้นดำรงตำแหน่ง
ปัญหาหลักของผู้หญิงที่ทำงานแล้วแต่มีลูกก็คือ ศูนย์ดูแลเด็กเล็กที่ไม่เพียงพอ ถึงแม้นายกอาเบะจะสัญญาว่ารายชื่อรอการให้บริการของศูนย์ดูแลเด็กจะหมดไปภายในปี 2020 แต่ท้ายที่สุดก็ทำไม่ได้
การจัดอันดับของ World Economic Forum เผยว่าในปี 2021 ประเทศญี่ปุ่นอยู่ในอันดับที่ 120 จาก 153 ประเทศในด้านของความเสมอภาคทางเพศ (gender parity) ซึ่งถือว่าแย่ลงจากปี 2012 ที่อยู่ในอันดับที่ 101
ด้านประชาชนบางส่วนก็อยากให้มีนักการเมืองหญิงในคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติมากขึ้น เพื่อที่จะทำให้เสียงของประชาชนเพศหญิงมีพื้นที่มากกว่านี้
สรุป
ปัญหาด้านอัตราการเกิดที่น้อยลงทุกปี ส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้หญิงญี่ปุ่นต้องเลือกระหว่างงานและการมีลูก เป็นความล้มเหลวหนึ่งของรัฐบาลที่แก้ไขไม่ได้ รวมถึงแนวคิดในสังคมที่ยังเปลี่ยนแปลงได้ไม่เร็วพอ ยังไม่สนับสนุนให้ผู้หญิงมีที่ยืนอย่างชัดเจน
ที่มา – Reuters
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา