รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป การจ้างออกครั้งใหญ่ ภาวะเงินเฟ้อ สร้างความปั่นป่วนเศรษฐกิจ จนกระทบไปถึงเหล่าคนทำงานกันถ้วนหน้า จนในช่วงปีที่ผ่านมา เราได้ศัพท์ใหม่อย่าง ‘Permacrisis’ ที่เอาไว้อธิบายถึงความวุ่นวายอย่างไม่หยุดหย่อน มาเป็นศัพท์แห่งปี 2022 โดย Collins English Dictionary เหมือนกับความวุ่นวายนี้ ก็ยังคงไม่ได้จบลงแค่ในปีที่แล้ว แต่ยังทิ้งร่องรอยความปั่นป่วนเอาไว้ให้เราเห็นจนถึงปีนี้
ท่ามกลางความโกลาหล สับสน วุ่นวายนี้ ดูเหมือนว่า Gen Z จะกลายมาเป็นวัยที่เกิดความเครียดในการทำงานมากที่สุด จากผลสำรวจของ Cigna International Health ในปี 2023 มีตัวเลขที่น่าสนใจ กว่า 91% ของเหล่าวัยทำงานในช่วงอายุ 18-24 ปี (ถูกกำหนดให้อยู่ในช่วง Gen Z) มีความเครียดมากกว่าปกติถึง 84%
หากมองถึงไทม์ไลน์ของการทำงานแล้ว ความเครียดที่ว่านั้นก็ดูไม่เกินจริงสักเท่าไหร่ เมื่อเหล่า Gen Z ได้เริ่มทำงานในช่วงที่อะไรหลายๆ อย่าง เกิดความเปลี่ยนแปลง ทั้งรูปแบบการทำงาน ความมั่นคงในอาชีพ เศรษฐกิจ หรือแม้แต่การใช้ชีวิตประจำวัน คงเป็นการเริ่มต้นทำงานในช่วงเวลาที่ไม่ลื่นไหลเท่าไหร่นัก เหมือนกับว่าน้องเล็กในที่ทำงาน กำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่เข้าให้แล้ว
นอกจากความเครียดในความไม่แน่นนอนของการทำงานแล้ว ปัจจัยสำคัญอย่างรายได้ ก็ยังเป็นอีกหนึ่งด่านใหญ่ที่ Gen Z ต้องเผชิญ ผลการสำรวจจาก McKinsey and Company องค์กรให้คำปรึกษาด้านการจัดการ บอกว่า กว่า 26% ของเหล่า Gen Z นั้น รู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับรายได้มากพอที่จะให้พวกเขามีชีวิตที่ดีได้ ในขณะที่วัยอื่นตอบว่า พวกเขารู้สึกพอใจกับค่าตอบแทนอยู่แล้ว
ตั้งแต่การเรียนที่อาจคาบเกี่ยวในช่วงเรียนออนไลน์ ไปจนถึงการทำงานในช่วงที่เศรษฐกิจระส่ำระสาย จึงไม่แปลกที่ Gen Z จะกลายเป็นวัยที่แบกรับความเครียดมากที่สุดในการทำงาน
อ้างอิง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา