พนักงานวัยรุ่นจีนต่อต้านการทำงานหนัก 996 ด้วยความขี้เกียจ จะขยันทำไมถ้าได้เงินเท่าเดิม

คนทำงานวัยรุ่น คนเจน Z ในประเทศจีน ประท้วงวัฒนธรรมการทำงานหนัก หามรุ่งหามค่ำ แต่ได้ค่าตอบแทนน้อยด้วยความขี้เกียจ แอบเข้าไปนั่งในห้องน้ำนานๆ ขณะทำงาน

ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา “มนุษย์เงินเดือน” ในประเทศจีนกำลังไม่พอใจกับการเสียชีวิตของพนักงานหญิง อายุเพียง 23 ปี ของบริษัท Pinduoduo ที่เสียชีวิตขณะเดินทางกลับบ้านช่วงตีหนึ่ง ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตคาดว่าเกิดจากการทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำโดยไม่ได้ค่าล่วงเวลา โดยจีนเรียกการทำงานแบบนี้ว่า 996

หลังจากนั้นไม่นานวิศวกรชาวจีนของบริษัท Pinduoduo เช่นกัน ตัดสินใจกระโดดตึกเพื่อฆ่าตัวตาย ซึ่งสาเหตุหลายฝ่ายพุ่งเป้าไปที่การทำงานแบบ 996 ทันที

มนุษย์เงินเดือนจีนรุ่นใหม่ ประทวงการทำงานหนัก 996 ด้วยความขี้เกียจ

การทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ แถมยังไม่ได้ค่าจ้างล่วงเวลาคงไม่มีใครชอบอยู่แล้ว กระแสใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในหมู่มนุษย์เงินเดือนเจน Z จึงเป็นการประท้วงการทำงานหนัก ด้วยความขี้เกียจ ไม่ยอมทำงานล่วงเวลา แอบเข้าไปหลบในห้องน้ำนานๆ โดยใช้ชื่อเรียกพฤติกรรมการทำงานแบบนี้ว่า “การตกปลา”

คำว่าการตกปลา มีที่มาจากสำนวนภาษาจีน ว่า น้ำโคลนจะทำให้จับปลาได้ง่ายขึ้น ซึ่งหมายถึงการหาประโยชน์จากวิกฤตบางอย่างให้กับตัวเอง

พฤติกรรมความขี้เกียจทำงานของคนเจน Z ในประเทศจีนนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่โควิด-19 ระบาด สภาพเศรษฐกิจไม่ดี และเป็นการต่อต้านการทำงานอย่างหนักโดยได้ค่าตอบแทนน้อยอีกด้วย ซึ่งคนเจน Z หลายๆ คน เลือกที่จะแสดงความขี้เกียจ ด้วยการแอบเข้าห้องน้ำนานๆ นั่งเล่น โทรศัพท์ อ่านนิยายในเวลางาน หรือไม่ยอมทำงานล่วงเวลา

การกระทำนี้ยังแสดงถึงความไม่พอใจในค่าตอบแทนที่ได้รับ เพราะค่าตอบแทนน้อยจึงไม่เพียงพอต่อความฝันของตัวเอง อย่างเช่นการซื้อบ้าน

ให้เงิน 1 สตางค์ แต่ทำไมคาดหวังงาน 10 สตางค์?

พนักงานชาวจีนที่มีอายุในช่วงเจน Z หลายๆ คน โพสต์ข้อความสนับสนุนพฤติกรรมความขี้เกียจระหว่างทำงานบนเว็บไซต์ Weibo เช่น “ทำไมเจ้านายที่ให้เงินค่าตอบแทนเราแค่ 1 สตางค์ หวังจะให้เราทำงานให้ 10 สตางค์ มันจะคุ้มไหม?” หรือ “เราจะไม่ทุ่มเทให้กับการทำงานเต็มร้อย แต่เราเลือกที่จะออมแรงเอาไว้ก่อน”

ทำงานหนัก แต่ได้เงินน้อย เงินเดือนก็แทบไม่เพิ่ม

พนักงานเจน Z ชาวจีนบางคนถึงกับบอกว่า “หากเราทำงานหนัก คนที่ซวยก็คือเพื่อนร่วมงานของเราเอง เพราะเจ้านายจะรู้ว่าคุณสามารถทำงานของคน 3 คน ด้วยตัวคุณคนเดียวได้ แต่สุดท้ายแล้วเงินเดือนของคุณก็ได้เท่าเดิม แถมเจ้านายยังบอกว่าให้ทำงานหนักแบบนี้ต่อไปด้วย”

ผู้บริหารจากเว็บไซต์หางานในประเทศจีนรายหนึ่ง เล่าถึงพฤติกรรมความขี้เกียจในการทำงานของคนเจน Z ว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากค่าตอบแทนที่น้อย และไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เพิ่มขึ้นเลย

จากสถิติที่ผ่านมาบริษัทสัญชาติจีนขึ้นเงินเดือนพนักงานเฉลี่ยเพียง 2% เท่านั้น แถมยังคาดการณ์ด้วยว่าบริษัทจีนก็คงขึ้นเงินเดือนให้พนักงานเพียง 2% ไปอีก 2-3 ปี ทำให้คนรุ่นใหม่หลายคนต้องเลือกที่จะหาทางสร้างรายได้เสริมเล็กๆ น้อยๆ

คนรุ่นใหม่ไม่เชื่อเรื่องขยัน อดทน ทำงานหนักอีกต่อไป

พฤติกรรมการทำงานของคนจีนที่เกิดในช่วงปี 1970-1980 แตกต่างจากคนในยุคปัจจุบันมาก เพราะคนกลุ่มนี้เชื่อในเรื่องการทำงานหนัก อดทน แต่คนที่เกิดในยุค 1990 เชื่อในเรื่องประโยชน์ของตัวเอง และความสนใจของตัวเองต้องมาก่อน

จากความเชื่อของคนรุ่นใหม่ ทำให้ไม่น่าแปลกใจเลยที่บางครั้งเราจะเห็นคนรุ่นใหม่ลาออกจากงานง่ายๆ ถ้ารู้สึกไม่ชอบงานที่ทำก็ลาออก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนรุ่นใหม่มีพื้นฐานด้านการเงินของครอบครัวที่ดีกว่าคนรุ่นก่อนๆ นั่นเอง

คำถามที่เกิดขึ้นคือ ถ้าพนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ทำตัวขี้เกียจ จะไม่โดนไล่ออกหรือ คำตอบคือ คนรุ่นใหม่ของจีนหลายๆ คน คิดว่า ถ้าบริษัทไล่ออกก็ต้องยอมจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้ ซึ่งค่าชดเชยนี้จะคำนวณจากเงินเดือนคูณด้วจำนวนปีที่ทำงานจากบริษัทมา

แต่อย่างใดก็ตามในอีกมุมมองหนึ่งในมุมมองของนายจ้างรุ่นเก่าก็มองว่า คนที่ขี้เกียจทำงาน ในขณะที่คนอื่นๆ ขยัน ก็จะไม่สามารถอยู่ในบริษัทได้ สุดท้ายก็ต้องออกจากงานในที่สุดอยู่ดี

ที่มา – scmp

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา