พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวปาฐกพิเศษในงานเปิดตัว “เครือข่ายเพื่อความยั่งยืนประเทศไทย” (TRBN) ณ ห้องคริสตัล บอลรูม ชั้น 3 โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทลแบงค็อก ถนนวิทยุ กรุงเทพฯ และกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “พลังเอกชนจะร่วมสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมให้ประเทศไทยได้อย่างไรและภาครัฐพร้อมสนับสนุนอะไรบ้าง”
โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยกลไกประชารัฐ รัฐบาลในฐานะกำกับดูแลนโยบาย อำนวยความสะดวก สนับสนุน ริเริ่มมาตรการ โดยเฉพาะมาตรการทางการเงินสมัยใหม่ที่อยู่ภายใต้กฎหมายที่กำหนด เช่น การจัดต้องกองทุนขึ้นมา เพื่อให้ทันและสอดคล้องกับการพัฒนาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
รัฐบาลต้องคิดใหม่และทำใหม่ให้สอดคล้องการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ให้ได้ในปี 2564 ไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ จึงเตรียมการและพัฒนาทักษะแรงงานและคนในประเทศให้พร้อม ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในภาวะถดถอย และเปลี่ยนแปลง (Disruption) ทำอะไรแบบเดิมๆ ต้องหยุดชะงัก รวมทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลฝ่ายเดียวคงทำไม่ได้หมด จึงขอฝากให้ช่วยกันสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนและสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นเพื่อรับมือกับประเด็นท้าทายดังกล่าว
พลเอกประยุทธ์กล่าว “โอกาสเรามีมากมาย ผมไปทุกประเทศ เขาชื่นชมเราทุกประเทศ วันนี้มีเสถียรภาพ บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ถึงแม้จะมีปัญหาทางการเมืองอยู่บ้าง เขาก็รับได้ ทำยังไงให้ชื่อเสียงเราไม่เสียหายในต่างประเทศ ฝากถึงทุกคนที่เมืองไทย ช่วยกันทำให้บ้านเมืองสงบสุข ช่วยกันสร้างความเชื่อมั่น”
“อะไรที่ไม่ใช่ปัญหาหลัก ปัญหาใหญ่ ก็หยุดๆ กันซะบ้าง ไม่งั้นมันเดินหน้าไม่ได้ซะหมด ความขัดแย้งก็สูง ประชาชนก็ไม่เข้าใจ แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าจะได้อะไรมาก็สัมฤทธิ์ผลไม่ได้ การแก้ปัญหาวันนี้คือเรื่องเศรษฐกิจโลกนะครับ ซึ่งมีผลกระทบต่อภายในของเรา”
“เรื่องหนี้เสียภาคครัวเรือน คำว่าหนี้ครัวเรือนถึงมันสูงก็โอเค เราก็ต้องยอมรับว่ามันสูงขึ้น แต่สูงขึ้นด้วยอะไร ผมให้แยกแยะมาแล้วว่า อะไรคือหนี้ที่มีมูลค่า อันไหนที่เป็นหนี้เสีย อันไหนเป็นหนี้ที่เกิดจากความไม่จำเป็น”
“วันนี้ทุกคนบอกว่าเป็นเรื่องจำเป็นหมด ผมดูในโพลมา ทั้งหมดคนรุ่นใหม่เนี่ย เรียนหนังสือจบมาแล้วต้องมีบ้าน มีรถ ต้องมีทันที นั่นแหละครับ ในขณะที่รายได้เราไม่พอตรงนี้ เราจะทำยังไงในความต้องการของประชาชน เพราะนั้น เขาต้องมีรายได้ ย้อนกลับไปดูเรื่องการศึกษาจะทำยังไงกับเขา จบมามีงานทำ มีรายได้ที่เพียงพอ”
“วันนี้นอกจากการใช้จ่าย ในเรื่องของคุณภาพชีวิตแล้ว อะไรอีกล่ะ ความสวยงาม แต่งตัว อะไรล่ะ (ทำมือวนๆ ที่หน้า)
เค้าเรียกอะไรนะ ทำหน้าสวยๆ น่ะ ทำจมูกจแมกไปด้วย ทำนองนี้นะ อันนี้คือความต้องการของมนุษย์ธรรมดา ผมไม่ได้ไปอะไรกับท่าน ก็ยินดีที่ทำแล้วมันสวยขึ้น ผมไม่ได้ว่าอะไร
คนจะงาม งามน้ำใจใช่ใบหน้า ทำความดีไว้นะครับ มันสวยเองอะ”
“วันนี้ใช้จ่ายประจำวันยังไม่พอเลย ภาครัฐ ภาคเอกชน ทุกอย่างมันมาด้วยว่าเราจะหาเงินมาได้ยังไง เราต้องแก้ปัญหาร่วมกัน สร้างเครือข่ายแก้ปัญหาให้ตรงจุด”
อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องการทำศัลยกรรมนี้ สำนักข่าวบีบีซีเคยรายงานว่า ประเทศไทยทำศัลยกรรมความงามติดอันดับ 21 ของโลก โดย 10 อันดับแรกคือ สหรัฐอเมริกา บราซิล ญี่ปุ่น อิตาลี เม็กซิโก รัสเซีย อินเดีย ตุรกี เยอรมนี ฝรั่งเศส
ประเทศไทยติดอันดับที่ 21 และยังนิยมศัลยกรรมมากที่สุดคือเปลือกตา ตามด้วยการเสริมหน้าอก และจมูก และสาเหตุที่ทำให้มีการศัลยกรรมเปลือกตามากในไทย เพราะตาเป็นปัญหาที่เป็นกันทุกคน เมื่ออายุมากขึ้น หนังตาจะตก มีปัญหากล้ามเนื้อตาอ่อนแรง กระแสความนิยมในการทำตาสองชั้นและทำตาโตโดยดึงกล้ามเนื้อตาให้โตขึ้น จึงได้รับความนิยมมาก นอกจากนี้ คนไทยเชื้อสายจีนที่มีตาชั้นเดียวก็นิยมทำศัลยกรรมเปลือกตาเช่นกัน
ที่มา – ทำเนียบรัฐบาล, BBC
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา