ไตรมาสแรกของปีนี้ มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตที่ 2.6% แต่จากโควิดระลอกใหม่ในเดือน เม.ย. ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดการเติบโตเศรษฐกิจไทยเหลือ 1.8% โดยปัจจัยสำคัญนอกจากการระบาดของโควิด ซึ่งส่งผลต่อการท่องเที่ยวที่น่าจะยืดเวลาฟื้นตัวออกไป ยังมีเรื่องของวัคซีนที่ล่าช้าอีกด้วย
จากสถานการณ์ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่มีความรุนแรงกว่าในระลอกก่อนหน้านี้ ถึงจะไม่ได้มีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวด แต่ความกังวลต่อสถานการณ์จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน รวมถึงความเชื่อมั่นที่ลดลงมีผลต่อการบริโภคครัวเรือนให้มีทิศทางต่ำกว่าที่ประเมิน
ส่งออกไปได้ดี แนะรัฐออกมาตรการกระตุ้นเพิ่ม
แม้ว่าแนวโน้มการส่งออกจะเติบโตดีกว่าที่เคยประเมินไว้จากอานิสงส์ของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด รวมถึงมีโครงการที่ยังดำเนินอยู่ เช่น โครงการเราชนะ และโครงการเรารักกันซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 31 พ.ค. 2564 และอาจมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศภายใต้วงเงินกู้ 1 ล้านล้าน ซึ่งยังมีวงเงินคงเหลืออยู่ราว 2.4 แสนล้านบาท ประกอบกับยังมีเงินจากงบกลาง ภายใต้ พรบ.งบประมาณปี 2564 ที่สามารถนำมาใช้ได้อีกราว 1.3 แสนล้านบาท
แต่โดยภาพรวมแล้วยังมีความน่ากังวล โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่แนวโน้มว่า นักท่อเที่ยวที่จะเข้ามาไทยในปีนี้น่าจะต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 2 ล้านคน ดังนั้น ต้องมีมาตรการภาครัฐเพื่อดูแลผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิดเพิ่มเติม โดยหากรัฐบาลพิจารณาแล้วเห็นสมควรมีการกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อใช้ดูแลเศรษฐกิจ ก็อาจจะส่งผลให้ตัวเลข GDP ในปีนี้มีแนวโน้มสูงกว่า 1.8%
วัคซีน ตัวแปรสำคัญ
ตัวแปรสำคัญคือ การเร่งฉีดวัคซีน ซึ่งหากล่าช้า การแพร่ระบาดจะยืดเยื้อหรืออาจเกิดการระบาดอีกระลอกในไตรมาส 3 ของปีนี้ จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างมาก ทำให้ความหวังของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวให้ทยอยกลับมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอาจต้องล่าช้าออกไปอีกปีหนึ่ง ส่งผลต่อการจ้างงานและการบริโภค
ในกรณีที่การแพร่ระบาดยืดเยื้อหรือมีการระบาดที่รุนแรงอีกรอบไตรมาส 3/2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีแนวโน้มที่จะไม่เติบโตจากปีก่อนหน้า ภายใต้สมมติฐานที่ว่าภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ภายใต้วงเงินที่เหลือตาม พรก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท และ พรบ.งบประมาณประจำปี 2564-2565
ดังนั้น การควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาด และการปูฟรมกระจายวัคซีนเป็นภารกิจเร่งด่วน เนื่องจากระบบสาธารณสุขไทยมีขีดจำกัดในการรองรับผู้ติดเชื้อ หากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังอยู่ในระดับสูงมากกว่าพันคนอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนๆ อาจเกิดภาวะระบบสาธารณสุขล่ม และส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยอาจต้องเผชิญกับต้นทุนแฝง (Hidden cost) ที่อาจประเมินค่าไม่ได้
ปัจจุบันเริ่มเห็นหลายโรงพยาบาลเผชิญกับปัญหาเตียงผู้ป่วยเต็ม และขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเครื่องช่วยหายใจ ขณะที่ต้นทุนต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนจะเพิ่มขึ้น โดยผู้ป่วยธรรมดาก็ไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้เป็นปกติเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อประสิทธิภาพของแรงงานให้ลดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจจะมีมากกว่าการบริโภคที่ลดลงและรายได้จากการท่องเที่ยวที่หายไป
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา