หั่นแล้วหั่นอีก! สศค. ปรับลด GDP ไทยปี 66 เหลือ 2.7% จากก่อนหน้ามองสูงเกือบ 4%

จากปีที่แล้วหลายฝ่ายต่างมองว่า เศรษฐกิจปี 2566 นี้น่าจะดีกว่าเดิม แต่ด้วยสถานการณ์ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นทั่วโลกและปัจจัยในประเทศที่เกิดขึ้น ส่งผลให้หลายหน่วยงานทั้งรัฐ และเอกชนต่างหั่นเป้าหมาย GDP ปีนี้อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจการคลังหรือ สศค. ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลงอีกครั้ง หลังจากภายในปีนี้หั่นเป้าหมาย GDP ลงมาหลายครั้ง 

เมื่อปลายเดือน ม.ค. 2566 กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.8% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.3-4.3%) จนกระทั่งเดือน เม.ย. 2566 ทางสศค. ได้หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงโดยมองว่าจะขยายตัว 3.6% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.1-4.1%) 

รวมถึงเมื่อเดือน ก.ค. 2566 ปรับคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.5% (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.0-4.0%) ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังหลายศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ล้วนปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจลงถ้วนหน้า ล่าสุด 27 ต.ค. นี้ เป็นอีกครั้งที่ สศค. หั่น GDP ไทยปี 2566 ลดลงต่ำ 3% 

‘พรชัย ฐีระเวช’ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 ว่าจะขยายตัวที่ 2.7% (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.2 ถึง 3.2%) ซึ่งมองว่ายังขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2565 (ที่โต 2.6% ต่อปี)

ทั้งนี้ คาดว่ายังมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญจากภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในประเทศโดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน โดยคาดว่าทั้งปี 2566 จะมี

  • จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 27.7 ล้านคน ขยายตัวที่ 148.3% ต่อปี และมีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 1.18 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 225.5% จากปี 2565
  • การบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 5.8% (ช่วงคาดการณ์ที่ 5.3 – 6.3%)
  • แรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อที่คลี่คลายลง
  • การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวที่ 0.9% (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.4-1.4%)

ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้า (ในสกุลดอลลาร์สหรัฐ) คาดว่าจะหดตัวที่ 1.8% (ช่วงคาดการณ์ว่าจะหดตัวที่ 2.3 ถึง ลบ 1.3%) เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทย 

ส่วนการบริโภคภาครัฐคาดว่าจะหดตัวที่ 3.4% (ช่วงคาดการณ์หดตัวที่ 3.9 ถึง ลบ 2.9%) ในขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะทรงตัวในระดับเดียวกับปีก่อนหน้า โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้ากว่าปีที่ผ่านมา

ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1.5% (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.0 -2.0%) เนื่องจากแรงกดดันจากราคาสินค้าในหมวดพลังงานได้คลี่คลายลงตามลำดับ ประกอบกับมาตรการบรรเทาของภาครัฐที่ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน ทำให้เงินเฟ้อกลับเข้ามาสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบริการมีแนวโน้มจะกลับมาเกินดุลตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2566 มีแนวโน้มที่จะกลับมาเกินดุล 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 0.5% ของ GDP 

สำหรับในปี 2567 กระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 3.2% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.2-4.2%) โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชน และภาคการส่งออก รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 34.5 ล้านคน ขยายตัวที่ 24.6% ต่อปี ส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง เกิดการจ้างงานและเพิ่มรายได้ประชาชน โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.1% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.1-4.1%) 

ขณะที่การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามอุปสงค์ในตลาดโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ 4.4% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 3.4-5.4%) ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจทำให้คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 3.5% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 2.5-4.5%) อย่างไรก็ดี การประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2567 ในครั้งนี้ ยังไม่ได้รวมผลกระทบของมาตรการเศรษฐกิจที่อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการโดยเฉพาะนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 2.2% ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ 1.2-3.2%) เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าตามอุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวดี ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 8,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1.5% ของ GDP (ช่วงคาดการณ์ที่ 0.5-2.5% ของ GDP) 

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 

  1. ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป เช่น สถานการณ์สู้รบในอิสราเอลและกาซาที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับตัวสูงขึ้น ความยืดเยื้อของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกและการค้าระหว่างประเทศ จำเป็นต้องติดตามบทบาทและท่าทีของแต่ละประเทศอย่างใกล้ชิด
  2. ความผันผวนของตลาดการเงินโลกจากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของประเทศคู่ค้าหลักและปัญหาสถาบันการเงินในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป
  3. สถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่ประสบปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลต่อการส่งออกและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวของไทย
  4. ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ที่อาจทำให้เกิดภัยแล้งในปี 2567 ส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร

ที่มา – สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา