Garmin ส่ง Garmin Health โซลูชันด้านสุขภาพบุกตลาดลูกค้าองค์กร เสริมแกร่งยอดขาย Smartwatch

Garmin เตรียมบุกตลาดลูกค้าองค์กรด้วย Garmin Health โซลูชันด้านสุขภาพที่เชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มของแต่องค์กรต่าง ๆ ได้ ถือเป็นอีกกลยุทธ์ในการดันยอดขาย Smartwatch ในประเทศไทย

garmin

Garmin Health โซลูชันด้านสุขภาพสำหรับองค์กร

หลังจากสำนักงาน พร้อมทีมเพื่อบุกตลาดประเทศไทยด้วยตัวเอง (เดิมให้กลุ่ม CDG เป็นตัวแทน) ตั้งแต่ต้นปี 2021 Garmin มีการเปิดเกมรุกในการทำตลาดผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากขึ้น ล่าสุดคือ Garmin Heath โซลูชันด้านสุขภาพสำหรับลูกค้าองค์กรโดยเฉพาะ

สค็อปเพน ลิน Assistant General Manager ของ Garmin Asia เล่าให้ฟังว่า ไทยถือเป็นที่แรกที่ Garmin เลือกมาทำตลาดในภูมิภาคนี้ เนื่องจากมีการใช้งานของ Smartwatch จำนวนมาก และกระแสการออกกำลังกายยังมีอย่างต่อเนื่อง สังเกตจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่ Garmin จัดมักจะมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากเช่นกัน

Garmin Health คือโซลูชันด้านสุขภาพสำหรับกลุ่มลูกค้าองค์กร โดยแต่ละองค์กรจะเชื่อมต่อข้อมูลกับ Garmin เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในหลากหลายแง่มุม เช่น ธุรกิจประกันที่เชื่อมต่อจะข้อมูลสุขภาพไปใช้ทำโปรโมชันในแผนประกันต่าง ๆ หรือฝ่ายบุคคลของบริษัทชั้นนำสามารถวิเคราะห์ปัญหาสุขภาพของพนักงานในองค์กรได้

ต่อยอดการทำตลาด Smartwatch และสินค้าสุขภาพ

ทั้งนี้การใช้งาน Garmin Health แต่ละองค์กรจำเป็นต้องจูงใจให้พนักงาน หรือลูกค้าใช้งาน Smartwatch หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ของ Garmin ด้วย ไม่สามารถใช้อุปกรณ์ของแบรนด์อื่นได้ ถือเป็นการช่วยเพิ่มยอดขายให้กับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ Garmin จำหน่ายอยู่ในประเทศไทย

“Smartwatch ของเรามีหลากหลายรุ่น ครอบคลุมทุกระดับราคา และมี Garmin Connect เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อข้อมูล ส่วน Garmin Health เราเปิดให้องค์กรต่าง ๆ ที่สนใจสามารถเชื่อมต่อ API กับเราได้ฟรี เพราะต้องการนำโซลูชันสุขภาพนี้ไปยกระดับสุขภาพของทุกคนให้ดีขึ้น”

สำหรับในต่างประเทศ Garmin Health มีการร่วมมือกับ Wondercise แพลตฟอร์มสอนออกกำลังกายที่บ้านเพื่อแทรคข้อมูลการออกกำลังกาย และการเผาผลาญ รวมถึงร่วมมือกับ Firstbeat Sports แพลตฟอร์มบริหารจัดการทีมกีฬา โดยผู้ฝึกสอนสามารถเข้าถึงข้อมูลความฟิตของนักกีฬาทั้งทีมที่สวมใส่อุปกรณ์ของ Garmin ได้

เจาะลึกข้อมูลตลาดสุขภาพในประเทศไทย

จากข้อมูลของ Gamin พบว่า ในภูมิภาคเอเชีย ประเทศไทยคือประเทศเทศที่มีช่วงเวลาออกกำลังกายแบบหนัก หรือ Intensity Minute เฉลี่ยต่ำที่สุด และเพศหญิงในไทยมีการออกกำลังกายแบบนี้เพียง 24 นาที/สัปดาห์ เท่านั้น อยู่ในอันดับท้าย ๆ ของภูมิภาคนี้

เมื่อออกกำลังกายน้อยจึงส่งผลให้อัตราการเผาผลาญแคลอรีจากการออกกำลังกายของคนไทยต่ำที่สุดในเอเชีย และหากไม่แก้ไขอาจส่งผลให้เกิดโรคอ้วน และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาในอนาคต ส่วนในปี 2021 ทั้งภูมิภาคเอเชียมีการเผาผลาญแคลอรีจากการออกกำลังกายลดลงทุกพื้นที่ เพราะโรคโควิด-19 ระบาดทำให้ออกกำลังกายได้ยาก

จากปัญหาข้างต้น และปัจจัยบวกที่คนไทยยังตามกระแสออกกำลังกายที่เริ่มกลับมา ทำให้ Garmin เห็นโอกาสการทำตลาด Garmin Health โดยอยู่ระหว่างเจรจากับพาร์ตเนอร์หลากหลายอุตสาหกรรม คาดว่าจะปิดดีล และส่งผลบวดต่อยอดขาย Smartwatch และอุปกรณ์เกี่ยวกับสุขภาพอื่น ๆ ให้เติบโตภายในปี 2022 ได้

สรุป

Garmin สร้างความแข็งแกร่งในตลาดผู้บริโภคทั่วไปมาโดยตลอด และตอนนี้คงถึงเวลาบุกลูกค้ากลุ่มองค์กรเพื่อเพิ่มช่องทางรายได้ใหม่ ซึ่งน่าสนใจว่าอุตสาหกรรมไหนที่ Garmin จะเริ่มก่อน เพราะเมื่อหลายปีก่อน Fitbit (ปัจจุบัน Google เป็นเจ้าของ) เคยทำตลาดร่วมกับ AIA เพื่อนำข้อมูลสุขภาพมาลดอัตราเบี้ยประกันมาก่อนแล้ว

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา