ก่อนหน้านี้ Brand Inside ได้เล่าประวัติ Garmin บริษัทเทคโนโลยีที่เติบโตจากอุปกรณ์ GPS และ Activities Tracker ต่างๆ คราวนี้ก็ลองมาศึกษากลยุทธ์ผ่าน CEO ของ Garmin กันบ้างว่าเขาจะผ่านวิกฤติในอนาคตอย่างไร
บริหารงานในยุคนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย
อย่างที่เคยเล่าไปก่อนหน้านี้ว่า Garmin นั้นมีอายุบริษัท 30 ปีแล้ว ทำให้ผ่านพ้นเหตุการณ์ต่างๆ ในระดับโลกทั้งดีร้ายมามากมาย นอกจากนี้ Clifton Pemble ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนปัจจุบันที่เป็นพนักงานลำดับที่ 6 ของบริษัท รวมถึงถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 2556 ก็ต้องผ่านเรื่องต่างๆ มามากเช่นกัน
“โลกธุรกิจเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว อย่างปัจจุบันตัวสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนก็ส่งผลต่อการวางแผนธุรกิจของ Garmin เช่นกัน แต่เพื่อจะชนะความท้าทายเหล่านี้ได้ Garmin ก็ต้องพัฒนาสินค้าออกมาให้ตรงกับความต้องการของตลาดมากที่สุด แม้ว่าตลาดจะแข่งขันสูงก็ตาม” Clifton Pemble กล่าว
ปัจจุบัน Garmin นั้นมีสัดส่วนรายได้ที่เปลี่ยนไป จากเดิมอยู่กับอุปกรณ์ GPS ก็เปลี่ยนเป็นสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ และการออกกำลังกาย นอกจากนี้ถึงผู้บริโภคทั่วไปจะหันไปใช้บริการฟรีต่างๆ เช่น Google Maps แต่ Garmin ก็ยังรักษาการเติบโตผ่านการทำตลาดแบบ B2B เช่นร่วมมือกับค่ายผู้ผลิตรถยนต์เพื่อติดตั้งระบบนำทางเข้าไปเป็นต้น
เรื่องคนก็จำเป็นในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่
“การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ หรือบริการใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้จริงนั้น เรื่องคนก็มีความจำเป็น เพราะการมีพนักงานระดับคุณภาพสามารถสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ออกมาได้ง่ายกว่าเดิม ยิ่งเรามีโรงงานที่ไต้หวันด้วยแล้ว มันก็ยิ่งพร้อมรับการเติบโตถ้ามีพนักงานที่เก่ง” Pemble เสริม
ทั้งนี้การรักษาพนักงานมากกว่า 13,000 คนให้อยู่กับบริษัทก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นการวางแผนเรื่องความก้าวหน้าในการทำงาน รวมถึงการจะทำอย่างไรให้พนักงานมีความสุขตลอดเวลาคือเรื่องที่ Garmin ให้ความสำคัญ ตรงกับเป้าหมายเรื่องยกระดับชีวิตทุกคนที่เกี่ยวข้องกับ Garmin
“เราไม่ได้เน้นตอบโจทย์แค่ลูกค้า หรือเรื่องผลกำไรเพียงอย่างเดียว เพราะ Garmin ต้องการยกระดับชีวิตของทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท ซึ่งพนักงานก็คือหนึ่งในนั้น และก่อนหน้านี้เราก็เคยทำสินค้าออกมาได้ไม่เป็นที่นิยมนัก แต่การมีพนักงานที่มีคุณภาพ ก็ช่วยให้บริษัทผ่านพ้นวิกฤติดังกล่าวมาได้จนเติบโตอย่างยั่งยืนในตอนนี้” Pemble กล่าว
พาร์ทเนอร์กับองค์กรผู้เชี่ยวชาญคือทางออก
นอกจากนี้กลยุทธ์การเดินเกมแบบพาร์ทเนอร์ของ Garmin ก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นการร่วมกับค่ายผู้ผลิตรถยนต์ในการติดตั้งอุปกรณ์นำทางดังที่กล่าวไว้ข้างต้น รวมถึงการร่วมกับผู้ผลิตเครื่องบินต่างๆ ในการติดตั้งอุปกรณ์นำทาง รวมถึงอุปกรณ์แสดงค่าต่างๆ บนเครื่องบินเช่นกัน
“ถามว่า Garmin จะผลิตรถยนต์ไร้คนขับเลยหรือไม่เพราะเราก็เป็นผู้เชี่ยวชาญในระบบนำทางอยู่แล้ว ผมก็อยากบอกเลยว่ามันเป็นเรื่องยากที่เราจะพัฒนา ผ่านการลงทุนที่สูง ดังนั้นการทำงานในลักษณะพาร์ทเนอร์ก็น่าจะตอบโจทย์บริษัทได้ดีที่สุด และเติบโตไปพร้อมกับพาร์ทเนอร์ของเรามากกว่า” Pemble กล่าว
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้จะทราบว่าความสำเร็จของ Garmin มาจากการสร้างสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค และรองรับการใช้งานได้ทุกแง่มุม ผ่านการนำเทคโนโลยี GPS ของ Garmin มาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ และหลังจากนี้แนวคิดดังกล่าวก็จะถูกใช้งานต่อไปเพื่อสร้างการเติบโตให้กับ Garmin ในอนาคต
สรุป
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่บริษัทเทคโนโลยีจะดำเนินธุรกิจมาได้ 30 ปี แต่มันก็พิสูจน์แล้วว่า Garmin ที่ทั้งองค์กรแทบจะมีแต่วิศวกรสามารถผลิตสินค้าจนผ่านพ้นวิกฤติต่างๆ มาได้ถึงปัจจุบัน และส่วนตัวคิดว่าการนำเทคโนโลยี GPS ที่ Garmin เชี่ยวชาญก็น่าจะทำให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนเช่นเดิม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา