การีนา มองตลาดเกมในไทยกลับมาโตยั่งยืน หลังปี 2023 มูลค่าตลาดปิดที่ 34,446 ล้านบาท หดตัว 6.76% ย้ำสองเกมเรือธง ROV และ FreeFire ยังแข็งแกร่งเรื่องฐานผู้เล่น และรายได้จากการเติมเกม กางแผนแก้เกมเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ เจ้าของเกมบุกไทยต่อเนื่อง
การีนา มองตลาดเกมในไทยโตยั่งยืน
กฤตย์ พัฒนเตชะ ผู้อำนวยการอาวุโสประจำประเทศไทย บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าให้ฟังว่า ภาพรวมตลาดเกมในประเทศไทยปี 2024 จะกลับมาเติบโตอย่างยั่งยืน หลังเติบโตก้าวกระโดดตั้งแต่โรคโควิด-19 ระบาด และกลับมาหดตัวเล็กน้อยในปี 2023
อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) พบว่า อุตสาหกรรมเกม และอีสปอร์ตในประเทศไทยปี 2023 มีมูลค่า 34,556 ล้านบาท ลดลง 6.76% จากปี 2022 ซึ่งหลังจากนี้ การีนา คาดการณ์การเติบโตอย่างยั่งยืน กล่าวคือเพิ่มขึ้นจากตัวเลขดังกล่าวเล็กน้อย
ส่วนตลาดโลก บริษัทวิจัยนิวซู คาดการณ์ว่า ปี 2023 มูลค่าตลาดเกมอยู่ที่ 1.84 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6.74 ล้านล้านบาท และปี 2026 จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.05 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 7.51 ล้านล้านบาท เพราะผู้คนทั่วโลกเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และสมาร์ตโฟนมากขึ้น รวมถึงเกมถูกใช้เป็นเครื่องมือการทำตลาดของแบรนด์ต่าง ๆ เช่นกัน
ROV และ FreeFire ยังแข็งแกร่ง
สำหรับแผนการเดินหน้าธุรกิจในประเทศไทยของ การีนา ในปี 2024 บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับสองเกมเรือธงประกอบด้วย ROV และ FreeFire โดย ROV ที่แม้จะเปิดให้บริการ 8 ปี แต่ยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่อง เช่น การเป็นเกมมือถือที่ทำรายได้มากที่สุดในไทยในปี 2023 และการแข่งขันอีสปอร์ตระดับมืออาชีพถูกรับชม 700 ล้านครั้ง
ส่วน FreeFire เป็นเกมมือถือที่ทำรายได้สูงที่สุดในอาเซียน และลาตินอเมริกา 11 ไตรมาสติดต่อกัน โดยในไทยจะมีผู้เล่นจากต่างจังหวัดเป็นหลัก โดย ROV และ FreeFire ใช้กลยุทธ์ลดขนาดเกม และลดระยะเวลาดาวน์โหลด เพื่อให้โทรศัพท์มือถือทุกเครื่อง ทุกระบบปฏิบัติการ ตั้งแต่ราคาหลักพันถึงหลักหมื่นสามารถเล่นเกมดังกล่าวได้
ในทางกลับกัน การีนา มีแผนนำเกมใหม่ ๆ เข้ามาให้บริการเพิ่ม โดยจะเน้นประเภทเกมที่สามารถสร้างรายได้จากผู้เล่นทั้งกลุ่มเด็ก และกลุ่มผู้อายุที่มีกำลังซื้อ เช่น ปี 2023 เปิดตัว Black Clover เกมแนว RPG ที่จูงใจผู้เล่นด้วยตัวละครจากอนิเมะชื่อดัง และสามารถเติมเกมเพื่อเพิ่มค่าคุณสมบัติต่าง ๆ ให้กับตัวละครได้
ร่วมมือพาร์ตเนอร์สร้างการเติบโตร่วมกัน
นอกจากรายได้หลักของบริษัทที่มาจากการซื้อไอเทม หรือสกินภายในเกม การีนา ยังเดินหน้าหาพาร์ตเนอร์ทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อใช้เกมเป็นเครื่องมือในการทำตลาดทั้งการสร้างการรับรู้ และสร้างการปฏิสัมพันธ์กับผู้เล่นในเกม เช่น การสนับสนุนการแข่งขัน ROV Pro League และการทำตลาดร่วมกับแบรนด์ KFC เป็นต้น
“ผู้เล่นเกมในประเทศไทยคิดเป็น 50% ของจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยจำนวนผู้เล่นเกมนั้นครึ่งหนึ่งเป็นผู้เล่นที่เล่นอย่างจริงจัง และอีกครึ่งเป็นผู้เล่นแคชชวล ทำให้แบรนด์ หรือหน่วยงานใด ๆ ที่ต้องการทำตลาดกับคนรุ่นใหม่ เกมคืออีกเครื่องมือที่เหมาะสมในการใช้งาน”
กฤตย์ ยอมรับว่า ปัจจุบันเด็กไทยเล่นเกมเร็วขึ้นกว่าในอดีต เช่น FreeFire เด็ก ๆ จะเข้าถึงตั้งแต่อายุเพียงตัวเลขหลักเดียว ส่วนเรื่องการเติมเงินในเกม เด็กไทยอาจเปลี่ยนพฤติกรรมในอดีตที่นำค่าขนมไปซื้อของเล่น มาเป็นการซื้อไอเทมภายในเกมแทน
ทำราคาให้จูงใจ ไม่หวั่นผู้ผลิตเกมรุกตลาดเอง
“เรามีการทำไอเท็มใหม่ ๆ ที่สร้างมาเพื่อตลาดไทยโดยเฉพาะ รวมถึงพัฒนาคุณภาพคอนเทนต์ให้ดีขึ้น เพื่อให้คุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่าย ควบคู่ไปกับการปรับราคาให้เหมาะสมกับสิ่งที่คนไทยพร้อมจ่ายได้ในขณะนี้ โดยรายได้หลักเรายังมาจากการเติมเกมในรูปแบบตกแต่งตัวละคร (คอสเมติก) มากกว่าการเพิ่มค่าพลังตัวละคร”
กฤตย์ ย้ำว่า การเปิดตัวเกมหลังจากนี้จะเน้นเปิดเกมที่ให้บริการได้ระยะหนึ่ง ไม่ใช่เปิดแล้วปิดตัวอย่างรวดเร็ว โดยเกมต้องมีความสนุกในการเล่น และมีสังคมที่เติบโต รวมถึงทำเนื้อหาให้เหมาะสมกับผู้เล่นในประเทศไทย จึงไม่กังวลในการที่ค่ายผู้เล่นเกมจากต่างชาติเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบัน Blizzard Entertainment และ Riot Games สองผู้ผลิตเกมยักษ์ใหญ่ของโลกเริ่มเข้ามาทำตลาดเกมในไทยด้วยตัวเอง แตกต่างกับ การีนา ที่วางตัวเป็นพับลิเชอร์ หรือผู้ให้บริการเกมที่นำเกมจากผู้พัฒนามาให้บริการ โดยมี FreeFire เพียงเกมเดียวที่ การีนา พัฒนาขึ้นเอง จากทั้งหมดที่ให้บริการในไทย 8 เกม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา