GameStop หุ้นร้านขายวิดีโอเกมชื่อดัง หุ้นพุ่งขึ้น 685% ใน 1 เดือน หลังนักลงทุนรายย่อยแห่เข้ามาซื้อขาย

เมื่อนักลงทุนรายย่อยได้แห่เข้ามาซื้อหุ้นของ GameStop ร้านขายวิดีโอเกมชื่อดัง ถึงแม้ผลประกอบการจะขาดทุน แต่ผลตอบแทนของราคาหุ้นได้พุ่งขึ้นไปถึง 685% นับตั้งแต่ต้นปี

Gamestop เกมสต็อป
ภาพจาก Shutterstock

ราคาหุ้นของ GameStop ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายวิดีโอเกม รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ได้พุ่งขึ้นนับตั้งแต่ต้นปีถึง 685.46% หลังจากที่นักลงทุนรายย่อยได้แห่เข้ามาซื้อขายหุ้นตัวนี้ แม้ว่านักวิเคราะห์จะมองว่าราคาหุ้นไม่ได้ตอบรับกับสภาพพื้นฐานของบริษัทที่แท้จริงก็ตาม

นอกจากนี้ในช่วงการซื้อขาย หุ้นของ GameStop ยังมีปริมาณการซื้อขายมากถึง 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่า Tesla หรือบริษัทอื่นๆ อย่าง Apple รวมถึง Microsoft ที่มูลค่าของบริษัทเหล่านี้มีขนาดใหญ่กว่า GameStop อย่างมาก

สำหรับความนิยมของ GameStop เกิดจากการโพสต์ถึงหุ้นใน Reddit ห้อง Wallstreetbets ซึ่งเป็นเว็บไซต์เปรียบได้เหมือนกับ Pantip.com ในประเทศไทย ในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา ว่าราคา ณ ตอนนั้นเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ที่บริษัทมีนั้นถือว่าราคาหุ้นถูกมาก ทำให้นักลงทุนรายย่อยแห่เข้ามาซื้อขาย รวมถึงมีการซื้ออนุพันธ์ (Derivatives) ของนักลงทุนรายย่อยในหุ้นของ GameStop ยิ่งทำให้ราคาพุ่งสูงไปอีก

ขณะเดียวกันก็มีกองทุนหลายๆ แห่งได้เข้ามาชอร์ตหุ้น (ยืมหุ้นมาขายก่อน แล้วกลับไปซื้อหุ้นอีกรอบ เพื่อทำส่วนต่าง) หวังให้ราคาหุ้นลดลง แต่พลังของนักลงทุนรายย่อยกลับทำให้หลายๆ กองทุนกลับมีผลขาดทุนถึงหลักหมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยิ่งกองทุนมีชื่อเสียงมากเท่าไหร่ กลับยิ่งทำให้นักลงทุนรายย่อยเข้ามาซื้อหุ้นเพื่อดัดหลังกองทุนเหล่านี้ให้ขาดทุน

นักลงทุนหลายๆ รายโพสต์ใน Reddit ถึงผลตอบแทนจากเงินเริ่มต้นราวๆ 50,000 เหรียญ จนปัจจุบันเม็ดเงินดังกล่าวงอกเงยเป็นเงิน 22 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ดีนักวิเคราะห์หรือสื่อต่างประเทศหลายๆ แห่งมองว่าราคาหุ้นของ GameStop นั้นถือว่าเกินราคาพื้นฐานไปมาก และบริษัทยังมีผลประกอบการที่ขาดทุนยิ่งทำให้มีโอกาสที่หลังจากนี้ราคาหุ้นอาจปรับลดลงมาได้

Note: อัพเดตรายละเอียดเพิ่มเติมกับปรับคำเล็กน้อย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ