เหยื่อค้าปลีกรายล่าสุด ร้านขายเกม GameStop ปิด 150 สาขา ทนกระแสดิจิทัลไม่ไหว

เราเห็นข่าวการล่มสลายลงอย่างช้าๆ ของวงการค้าปลีกที่ต้องมีหน้าร้านจริงๆ หลังโดนร้านในโลกดิจิทัลตีเข้าที่ใจกลางธุรกิจเดิม

ร้านค้าปลีกที่มีสินค้าจับต้องได้อย่างซูเปอร์มาร์เก็ต Walmart หรือ Sears ยังไม่ค่อยรอด แล้วร้านค้าปลีกที่ขายสินค้าดิจิทัลจะไหวหรือ

Photos by Mike Mozart

ร้าน GameStop เป็นหนึ่งใน “เหยื่อ” ของความเปลี่ยนแปลงนี้ GameStop เป็นเชนร้านขายวิดีโอเกมรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา โดยมีขายทั้งเครื่องเล่นวิดีโอเกม และแผ่นเกม ลูกค้าส่วนใหญ่มักเป็นวัยรุ่นชายที่เล่นเกมเป็นงานอดิเรก และต้องไขว่คว้าหาเกมใหม่ๆ มาเล่นกับเพื่อนๆ

ธุรกิจที่ทำรายได้ให้ GameStop เป็นกอบเป็นกำมาโดยตลอดคือ “แผ่นเกมมือสอง” (pre-owned) ที่ลูกค้าซื้อแผ่นเกมใหม่ล่าสุดไปตะลุยเล่นจนจบภายในเวลาไม่กี่วัน จากนั้นนำมาขายกลับให้ GameStop ในราคาไม่แพงมากนัก เพื่อว่า GameStop จะนำไปขายต่อให้ผู้เล่นคนอื่นๆ ที่อยากเล่นเกมเดียวกัน แต่ไม่ต้องการจ่ายราคาเต็มเพื่อเล่นแผ่นมือหนึ่ง

แต่เมื่ออุตสาหกรรมเกมเปลี่ยนไป การซื้อเกมแบบแผ่นเริ่มได้รับความนิยมน้อยลง บริษัทเกมหันมาขายเกมแบบดิจิทัลดาวน์โหลดแบบไม่ต้องมีแผ่นใดๆ กระแสความนิยมนี้เริ่มจากเกมฝั่งพีซีก่อน แต่ปัจจุบัน วิดีโอเกมคอนโซลทั้ง PlayStation และ Xbox ก็หันมาใช้เกมแบบดาวน์โหลดกันมากขึ้น (ยกเว้นกลุ่มที่ต้องการเก็บสะสมแผ่นจริงๆ จังๆ เท่านั้น ซึ่งก็สามารถสั่งซื้อผ่านออนไลน์ได้เช่นกัน ไม่ต้องซื้อจาก GameStop)

ผลประกอบการของ GameStop ในช่วงหลังจึงร่วงกราวรูด ล่าสุดบริษัทประกาศปิดสาขา 150 แห่งทั่วโลก (จากทั้งหมด 7,500 สาขา) หลังแถลงรายได้ในปี 2016 ที่ตกลง 14% จากเดิม

ปกติแล้ว ช่วงที่เกมขายดีที่สุดคือช่วงปลายปี เทศกาลคริสต์มาสซึ่งคนในโลกตะวันตกมักซื้อเกมใหม่ให้เป็นของขวัญ และผู้ขายต่างก็ลดราคาเพื่อกระตุ้นยอดขาย แต่รายได้ของ GameStop ในช่วงคริสต์มาส 2016 ที่ผ่านมา กลับตกหนักถึง 19% จากปีก่อน แสดงให้เห็นชัดเจนว่า แม้ในช่วงที่ GameStop ขายดีที่สุด บริษัทก็ยังมีรายได้ลดลง

สถานการณ์ของ GameStop ยังถือว่าพอไปได้ บริษัทยังมีกำไร (กำไรในปี 2016 คือ 353.2 ล้านดอลลาร์ ลดลงจาก 402.8 ล้านดอลลาร์ในปี 2015)

แน่นอนว่า GameStop ต้องดิ้นรนสุดชีวิต ทางออกที่บริษัทพยายามทำอยู่คือเปิดสาขา collectibles store สำหรับสินค้าของเล่น-ของสะสม รวมถึงเข้าไปบริหารร้านค้าปลีกให้แบรนด์ไอทีบางแบรนด์ (หน้าร้านแปะแบรนด์ของสินค้า แต่ดำเนินงานโดย GameStop) ที่ทั้งสองส่วนนี้มีรายได้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ  แต่มันจะสามารถทดแทนยอดขายจำนวนมากจากสินค้าเกมที่หายไปได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ยังต้องตั้งคำถามกันต่อไป

ที่มา – GameStopEngadget

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา