Gallup สรุปสถานการณ์สังคมการทำงานระดับโลก
นี่คือยุคสมัยที่คนทำงาน ‘เกือบครึ่ง’ ระบุว่ากำลังเผชิญกับความตึงเครียด นับว่าเป็นตัวเลขที่สูงสุดนับตั้งแต่ Gallup บริษัทวิเคราะห์และให้คำปรึกษาทำจัดทำรายงานชื่อ the State of the Global Workplace นำเสนอภาพสะท้อนคนทำงานในระดับโลก
รายงานฉบับปี 2022 นำเสนอว่า สังคมการทำงานทั่วโลกยังอยู่ในภาวะที่ทุกคนยังต้องแบกรับภาระอันหนักหน่วงจากการระบาดของโควิด-19 โดยรายงานระบุอีกว่า แม้ที่ผ่านมา การกระจายวัคซีนที่ครอบคลุมขึ้นได้มอบความหวังกับเรา แต่บางภูมิภาคก็ยังฟื้นตัวได้แค่บางส่วนเท่านั้น แถมในหลายๆ ภูมิภาค ก็ต้องเจอผลกระทบไล่หลังที่ย่ำแย่กว่าปีแรกของการระบาดเสียอีก
Gallup สรุปข้อค้นพบที่น่าสนใจเกี่ยวกับสังคมการทำงานในระดับโลกในปีนี้ออกมาเป็น 6 ข้อ หนึ่งในนั้นก็คือ คนทำงานกว่า 44% กำลังเผชิญกับความตึงเครียด ซึ่งนับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์
เมื่อคนกว่าครึ่ง กำลังตึงเครียด
ก่อนจะมาถึงวันที่คนทำงานเกือบครึ่งหนึ่งตกอยู่ใต้ความตึงเครียดในช่วงที่ผ่านมา ที่จริงแล้ว Galllup พบว่าในช่วง 4 ปี ที่ผ่านมาคนตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ
- ปี 2018 คนทำงาน 37% บอกว่ากำลังเผชิญกับความเครียด
- ปี 2019 คนทำงาน 38% บอกว่ากำลังเผชิญกับความเครียด
- ปี 2020 คนทำงาน 43% บอกว่ากำลังเผชิญกับความเครียด (โควิดเริ่มระบาด)
- ปี 2021 คนทำงาน 44% บอกว่ากำลังเผชิญกับความเครียด (ปัจจุบัน)
จุดสังเกตก็คือ ความเครียดพุ่งสูงมากเมื่อโควิดเริ่มระบาด ส่วนในปัจจุบันแม้สถานการณ์ด้านการระบาดจะดีขึ้น แต่ผลสำรวจก็ยังบ่งบอกชัดเจนว่าเราไม่ได้เครียดลดลงแต่อย่างใด
รายงานยังระบุอีกว่า ในบรรดาคนทำงานทั่วโลก ความเครียดของผู้หญิงสูงกว่าผู้ชายพอสมควร โดยพบว่าผู้หญิง 54% ระบุว่าตัวเองเครียดในช่วงที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับเพศชาย 47%
อย่างไรก็ตาม แม้ผู้คนจะรู้สึกเครียดเพิ่มขึ้น แต่ก็มีข่าวดีว่าความรู้สึกด้านลบในแง่อื่นของคนทำงานทั่วโลกกลับลดลง ไม่ว่าจะเป็น
- ความกังวล จาก 41% เหลือ 40%
- ความเศร้า จาก 25% เหลือ 23%
- ความโกรธ จาก 24% เหลือ 21%
อาเซียนคือ 1 ใน 2 ภูมิภาคที่คนเครียดน้อยสุด
อีกอย่างที่ Gallup พบคือ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็น 1 ใน 2 ภูมิภาคที่คนทำงานบอกว่าเครียดน้อยที่สุด โดยมีไม่ถึง 1 ใน 3 บอกว่าเครียดในช่วงที่ผ่านมา (ประมาณ 31%) เทียบกับตัวเลขระดับโลกที่คนเครียดกันเกือบครึ่ง
ส่วนในระดับโลก ภูมิภาคที่คนทำงานเครียดที่สุดคือเอเชียตะวันออก (เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง) โดยพบว่าคนมากกว่าครึ่งระบุว่าตนเครียดในช่วงที่ผ่านมา (55%)
ข่าวร้ายก็คือประเทศไทยคืออันดับ 2 ของประเทศที่เครียดที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคนกว่า 41% ระบุว่าตัวเองเครียด ส่วนอันดับ 1 คือ ฟิลิปปินส์ (50%) อันดับ 3 กัมพูชา (38%) อันดับ 4 เมียนมา (37%) อันดับ 5 เวียดนาม (35%) อันดับ 6 สิงคโปร์ (34%) อันดับ 7 ลาว (32%) อันดับ 8 มาเลเซีย (27%) และอันดับ 9 อินโดนีเซีย (20%)
ส่วนข่าวร้ายข้อถัดมาก็คือ ในปีที่ผ่านมาคนไทยเครียดขึ้นมากที่สุด โดยมีจำนวนคนเครียดเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม 5% ภายในเวลาแค่ 1 ปี ส่วนเวียดนามที่คนเครียดขึ้นเป็นอันดับ 2 ก็เพิ่มขึ้นมาแค่ 2% เท่านั้น
สร้างความเป็นอยู่ที่ดี ในโลกที่โหดร้าย คือทางออก
Gallup เสนอว่า เนื่องจากความเครียดอาจส่งผลองค์กรโดยตรง เช่น มีการลาป่วยเพิ่มขึ้น กระทบการทำงาน ทำให้หมดไฟ ไปจนถึงอาจทำให้ลาออก ซึ่งถ้าตีเป็นมูลค่าแล้วอาจกระทบถึงเม็ดเงินในภาพใหญ่กว่า 3 แสนล้านเหรียญ หรือ 11.3 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว
ทั้งนี้ Gallup ระบุถึงทางแก้เอาไว้ว่า บริษัทต้องสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้คนทำงาน เพราะความเป็นอยู่ที่ดี (และความรู้สึกมีส่วนร่วมกับงาน) พนักงานจะรู้สึกเครียดน้อยลง โกรธน้อยลง และมีปัญหาสุขภาพน้อยลง ซึ่งจะให้ผลประโยชน์ต่างตอบแทนกลับมายังองค์กรด้วยการที่พนักงานมีผลงานที่ดีขึ้น
องค์กรจำเป็นต้องปฏิบัติต่อคนทำงานในฐานะมนุษย์คนหนึ่งไม่ใช่แค่เครื่องจักรผลิตงาน คนในระดับสูงจำเป็นต้องมองมาตรการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานเป็นหนึ่งในวาระสำคัญในการทำงานของตนและองค์กร
ที่มา – Gallup
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา