โลกการทำงานในอนาคต ยุคที่เรียกร้องทักษะใหม่ๆ แล้วเราในฐานะคนทำงานจะคิดและทำเหมือนเดิมได้อย่างไร
หรือถ้ามองภาพองค์กรยุคใหม่ที่เร่งปรับตัวอย่างหนัก คำถามคือ ปรับในเชิงธุรกิจเสร็จแล้ว จะพัฒนาคนในองค์กรอย่างไรให้ตอบโจทย์ หรือผสานคนต่างวัย-ต่างรุ่นให้ทำงานด้วยกันอย่างราบรื่น
Brand Inside สัมภาษณ์ อภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer ของ SCG CBM โดยชวนสนทนาถึงประเด็น Future of Work ไปจนถึงทักษะใหม่ๆ ในการทำงาน และการทำงานของคนต่างเจเนอเรชั่น
ทุกสิ่งต้องเปลี่ยน: SCG อยู่มา 100 ปี วิธีคิดก็ไม่เหมือนเดิม
โลกของเราเข้าสู่โลกยุคที่เป็น Digital Economy ซึ่งต่างจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เน้นผลิตคนป้อนเข้าสู่สานพานโรงงาน เพราะทุกวันนี้บริษัทที่ยิ่งใหญ่อันดับโลกล้วนเป็นบริษัทเทคโนโลยี เป็นบริษัทสายนวัตกรรมทั้งนั้น
ที่บอกว่าในยุคก่อน เราเน้นป้อนคนสู่โรงงาน ดูได้จากชื่อคณะในมหาวิทยาลัยที่สอดคล้องกับชื่อของสายงานหรืออาชีพ เช่น จบวิศวกรรมศาสตร์ทำงานเป็นวิศวกร หรือจบสถาปัตยกรรมศาสตร์ทำงานเป็นสถาปนิก
โลกในอนาคตไม่ต้องการคนเรียนจบมาเฉพาะสายอีกต่อไป ความเป็น Specialist มันไม่ตอบโจทย์ตลาด เพราะสิ่งที่จะมีความสำคัญกับตลาดในอนาคตคือ Generalist หรือคนที่รู้กว้าง มีทักษะมากกว่าด้านใดด้านเดียว
ยกตัวอย่าง SCG ในวันนี้ แม้จะเป็นองค์กรอายุกว่า 100 ปี เราก็ต้องปรับเปลี่ยนอย่างหนัก ในยุคก่อนเราทำปูนซีเมนต์ เรารับแต่คนเรียนจบวิศวะฯ เรารับแต่คนระดับหัวกะทิ เรารับแต่ Specialist พอเข้ามาทำงานก็อยู่กันไปทั้งชีวิต
แต่จุดเปลี่ยนก็คือในช่วง 5 ปีให้หลังมานี้ SCG โดน disrupt อย่างหนัก คนที่เรารับเข้ามาทำงานจึงไม่ได้มีแต่สายเชี่ยวชาญ (expertise worker) เท่านั้น แต่คนที่เราต้องการคือคนที่รู้กว้าง มีทักษะหลากหลาย และมีวิธีคิดการเรียนรู้แบบ T-shape
พูดง่ายๆ คือ “เด็กจบเกียรตินิยมไม่ใช่เป้าหมายของเราแล้ว เพราะวิธีการคัดเลือกคนเข้าทำงานต้องวัดจาก Mindset และ passion ต่องานเป็นหลัก”
ทักษะที่ตอบโจทย์โลกการทำงานอนาคต
เวลาพูดเรื่องทักษะ เราควรแบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ Mindset, Soft Skill และ Hard Skill
- Hard Skill ไม่ใช่รู้อย่างเดียวแล้ว รู้ตัวทีแล้ว ต้องมีเทคสกิลหลายด้าน ความรู้รอบด้าน design business tech ดีไซเนอร์ โปรแกรมเมอร์ ต้องรู้ศาสตร์อื่นด้วย
- Soft Skill ต้องเพิ่มการร่วมมือกับคนอื่น (collaboration) ทักษะนี้สำคัญมากในธุรกิจยุคใหม่ นอกจากนั้นทักษะจำพวก Multidisciplinary, Storytelling, Empathy, ฝึกคิดต่างให้มากขึ้น และต้องเอาตัวเองไปคุยกับคนที่มีพื้นหลัง (background) ต่างจากคุณให้ได้มากๆ
- Mindset ต้องมีวิธีคิดแบบ “เจ้าของกิจการ” คือแม้สิ่งที่ทำมันจะไม่หน้าที่ในการทำงานโดยตรง แต่เขารู้ว่าเขาจะสร้าง impact ให้กับธุรกิจได้อย่าง ต้องมีวิธิคิดที่กว้างไกลและมีเป้าหมาย ยกตัวอย่างเช่น ช่างก่ออิฐฉาบปูนที่ไม่ได้แค่ก่อเรียงอิฐและสร้างกำแพง แต่มีวิธีคิดว่า สิ่งที่ทำคือการสร้างเกาะคุ้มครองและปกป้องผู้คนในเมืองนี้
คนต่างวัยทำงานร่วมกันได้ “อายุ” ไม่เกี่ยวกับความกล้าบ้าบิ่น
ถ้าถามว่าคนต่างวัยทำงานร่วมกันได้หรือไม่ ผมคิดว่า ได้ ผมไม่เชื่อว่า “อายุ” สัมพันธ์ กับความกล้าบ้าบิ่น เพราะคนรุ่นใหม่ในกรอบก็มี คนรุ่นเก่าที่กล้าก็มี
อันที่จริงแล้ว เราจะควรจะแย่งคนออกเป็น 3 กลุ่ม (ไม่สัมพันธ์กับอายุ)
- Early adopter ชอบลองของใหม่ เหมาะกับการนำไปอยู่ในฝ่ายที่พัฒนาธุรกิจใหม่ สามารถตัดสินใจได้เอง มีทีมงานเล็กๆ สร้างขึ้นมาพร้อมกับโปรเจ็กต์มาดึงดูด แล้วใส่ความท้าทาย (challenge )เข้าไปให้แก้ปัญหา คนกลุ่มนี้จะทำได้ดีมากๆ
- Follower กลุ่มนี้รอดูทิศทาง รอดูแรงลม สุดท้ายถ้าเวิร์ค เขาเป็นกลุ่มที่จะเดินตามไป คนกลุ่มนี้เหมาะกับการทำงานที่เป็น Core หรือ Essence ของบริษัท บริษัทจำเป็นต้องรักษาเอาไว้ เพราะหากธุรกิจไปได้ดี คนกลุ่มนี้จะเป็นแรงสำคัญที่เข้าไปสานต่อ
- Comfort zone กลุ่มนี้คือชอบอยู่ที่เดิม เป็นคนประเภท “ไม่เป็นไร อย่ามายุ่งกับฉัน” แน่นอนว่า คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่อยู่มานานในบริษัท และหากเขายังทำงานเดิมได้ดี บริษัทต้องดูแล เพราะเขาคือบ่อน้ำแหล่งเดิมที่สร้างรายได้ให้กับบริษัท และทำให้บริษัทสามารถนำเอา resource ใหม่ๆ ไปพัฒนาธุรกิจใหม่ได้
เพราะฉะนั้น องค์กรยุคใหม่ มีคน 3 แบบแน่ๆ ดังนั้นเวลาพูดถึงธุรกิจใหม่ ทุกบริษัท (โดยเฉพาะบริษัทใหญ่) ต้องมีธุรกิจเดิมที่ต้องเดินต่อไป น้ำบ่อเก่ามันยังเก็บกินได้ เราต้องใช้งานจนหยดสุดท้าย ดังนั้นคนที่อยู่ในธุรกิจเก่า เราก็ต้องรักษาเอาไว้ให้นานที่สุด!
ฝากถึงคนทำงานยุคนี้
ขอให้ทุกคนนึกว่า “สมอง คือ แก้วน้ำ”
เพียงแต่ว่าเราจะแยกแก้วน้ำออกเป็น 3 ส่วน (layers)
- ก้นแก้วคือภูมิปัญญา (Wisdom) ตัวนี้ไม่มีหมดอายุ ใช้ได้ตลอด เพราะมันมาจากการลองผิดลองถูกมา มาจากประสบการณ์ตรงในการทำงาน
- กลางแก้วคือความรู้ (Knowledge) สิ่งนี้ที่ตกตะกอนมาจากการใช้ทักษะต่างๆ มันคือความเชี่ยวชาญที่เราได้มาจากการทำงาน
- ปากแก้วคือทักษะ (Skill) ส่วนนี้เป็นส่วนที่เปลี่ยนแปลงเร็วที่สุด เพราะวันหนึ่งใช้โปรแกรมอะไรสักอย่างเป็น วันหนึ่งโลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน เราก็ต้องเปลี่ยน ตัวนี้หมดอายุไวมาก
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่หรือคนรุ่นก่อน สิ่งที่โลกการทำงานเรียกร้องจากเราคือการเปลี่ยน “ปากแก้ว” ใหม่ตลอดเวลา เพราะทักษะที่ใช้ในการทำงานมันไม่หยุดนิ่ง ในขณะที่ก้นแก้วและกลางแก้วคือสิ่งที่ติดตัว เป็นการสะสมชั่วโมงบินส่วนบุคคล
พบกับ อภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer ของ SCG CBM ได้ที่งาน Brand Inside Forum 2020: New Workforce ในหัวข้อ How to Deal with Cross-gen Workforce ที่เจาะลึกถึงวิธีการทำงานของคนต่างวัยว่าจะมีวิธีการทำงานร่วมกันได้อย่างไร
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา