ทำไมอนาคตของวงการแฟชั่นยุคถัดไป ไม่ใช่ความหรูหรา-เข้าถึงยาก แต่คือความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ผู้บริโภคแฟชั่นยุคต่อไป จะสนใจ “วัฒนธรรม” ที่แบรนด์สื่อสารเป็นอันดับแรก

ในอดีตที่ผ่านมา จุดขายของความเป็นแฟชั่นคือความ Exclusive ซึ่งมาพร้อมกับความหรูหรา ราคาแพง แต่ในยุคหลังมานี้ความหรูหราที่ผูกติดคุณค่ากับสิ่งของมีราคาเริ่มเลือนคุณค่าไปบ้างแล้ว ดูได้จากกระแสการบริโภคของกลุ่มคนร่ำรวยในสหรัฐอเมริกาและจีน

ในวงการแฟชั่นนับจากนี้ไป ภาพของนางแบบ-นายแบบที่มีลักษณะผอมบาง ร่างน้อย หุ่นดี และมีผิวสีขาว จะไม่ใช่มาตรฐานของวงการแฟชั่นในอนาคต เพราะผู้บริโภคแฟชั่นยุคต่อไปจะสนใจความเป็นวัฒนธรรมที่มากับแบรนด์มากขึ้น

งานวิจัยของ Bain & Company บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ ระบุว่า ภายในปี 2025 สิ่งที่ผู้บริโภคสนใจมากที่สุดในการเลือกสินค้าแฟชั่นคือ “คุณค่า” ที่แบรนด์สื่อสารออกไปสู่สาธารณะ เช่น ความหลากหลายทางวัฒนธรรม

  • งานศึกษาถึงกับฟันธงว่า ผู้บริโภคแฟชั่นในยุคถัดไปจะสนใจคุณค่าและวัฒนธรรมของแบรนด์ มากกว่า คุณภาพของสินค้านั้นๆ เสียอีก
  • งานศึกษาคาดการณ์ว่าสินค้าแฟชั่นหรูจะเติบโตเพียง 3-5% เท่านั้น ถือเป็นตัวเลขที่ไม่สูง ต่างกันกับยุค 1990 – 2000 อย่างมากที่กระแสแฟชั่นหรูหรามาแรง และเติบโตแบบก้าวกระโดดหลายสิบเปอร์เซ็นต์ต่อปี
  • ดังนั้น สิ่งที่ชี้ขาดในตลาดแฟชั่นอนาคตไม่ใช่เรื่องของความหรูหรา หากแต่เป็นปัจจัยทางวัฒนธรรมและการเมืองที่แบรนด์ต้องคำนึงถึงมากกว่า
Instagram: themodist
Instagram: themodist

การที่ผู้บริโภคยุคต่อไปจะซื้อเสื้อผ้าสักชิ้น สิ่งที่คำนึงจะไม่ใช่เพียงแค่ “ไลฟ์สไตล์” หรือ “คุณภาพของสินค้า” เท่านั้น

  • เพราะสิ่งสำคัญคือ การจะบริโภคสินค้าสักชิ้นต้องมีที่มาจากพื้นฐานของวัฒนธรรมที่ตนเองยึดถือ ยกตัวอย่างเช่น ความเชื่อทางศาสนา หากสาวมุสลิมต้องการเสื้อผ้าที่สะท้อนถึงจุดนี้ การที่เธอจะเลือกซื้อสินค้าของแบรนด์ใดๆ ก็ตาม จะมาจากการสื่อสารของแบรนด์ที่ส่งมายังเธออย่างตรงใจและตรงตามพื้นฐานของความเชื่อส่วนตัว

ถ้าจะพูดเป็นภาษาฝรั่งก็คงจะได้ว่า ในอนาคตของแฟชั่นนั้น ยุคของ “One size fits all is over”

  • และต้องบอกว่า ไม่ใช่แค่ความหลากหลายทางวัฒนธรรมเท่านั้น เพราะความหลากหลายทางกายภาพก็สำคัญเช่นกัน

งานวิจัยของ Plunkett บริษัทวิจัยการตลาด คาดการณ์ไว้ว่า ในอนาคตแบรนด์แฟชั่นต้องใส่ใจในการออกแบบและคิดค้นเสื้อผ้าที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้หญิงไซส์ใหญ่ (รอบอก 38 นิ้วและเอว 41 นิ้วขึ้นไป) มากขึ้น อย่างในสหรัฐอเมริกาผู้หญิงกลุ่มนี้มีมากถึง 68% ของประชากรหญิงทั้งประเทศ

หนึ่งในประเด็นสำคัญของแบรนด์แฟชั่นที่ลงมาเล่นในตลาดผู้หญิงร่างใหญ่มักไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่ได้ทำความเข้าใจคนกลุ่มนี้จริงๆ ผู้เชี่ยวชาญแฟชั่นมองว่า หากแบรนด์เล็กๆ ต้องการเข้ามาครอบครองตลาดนี้ ยังสามารถทำได้ เพราะยังมีช่องว่างทางธุรกิจสูง แต่ต้องเร่งสร้างอย่างไว เพราะในอนาคตอันใกล้แบรนด์หรูรายใหญ่ๆ จะลงมาเล่นในตลาดนี้อย่างแน่นอน

Instagram: 11honore
Instagram: 11honore

หมดยุคเดินตามใคร เพราะแฟชั่นหรูยุคต่อไปต้องสะท้อนตัวตน

ผู้เชี่ยวชาญในวงการแฟชั่นท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า ถ้ายังนิยามความหรูหราในวงการแฟชั่นแบบเดิมอย่างที่เคยเป็นมาก็นับว่าใกล้ตายเต็มทีแล้ว

Lazaro Hernandez หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ Proenza Schouler แสดงความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า “ความหมายของคำว่าหรูหราได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว … ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญในยุคนี้ไม่ใช่เรื่องความหรูหรา แต่มันคือความเป็นแบรนด์”

ในยุคถัดไป กลุ่มคนที่จะมีพลังในการบริโภคสูงคือกลุ่มคนยุคมิลเลนเนียลและ Gen Z โดยจะคิดเป็น 55% ของกำลังซื้อสินค้าหรูทั่วโลก โดยความต้องการในการบริโภคแฟชั่นของคนกลุ่มนี้ คือความต้องการบ่งบอกถึงตัวตนให้โลกได้รับรู้ พวกเขาต้องการให้แบรนด์มองเห็นพวกเขา และสะท้อนความเป็นตัวตนของพวกเขาออกมาอย่างชัดเจน

ชัดเจนว่าเบื้องหลังของเรื่องนี้ คือการเติบโตของเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดียของคนในยุคนี้ (และยุคถัดไป) ที่มีส่วนผลักดันพลังของการแลกเปลี่ยน โต้ตอบ และแสดงความคิดเห็น จนทำให้เกิดพัฒนาการของความหลากหลายทางแฟชั่นมากขึ้นตามไปนั่นเอง

สรุป

แฟชั่นของหนุ่มสาวทั่วโลกในยุคถัดไปจะเน้นที่ความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากขึ้น ไม่ใช่ความหรูหรา ราคาแพงอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต

การทำสินค้า การทำการตลาดของแบรนด์แฟชั่นจึงจำเป็นต้องสนองตอบต่อคนกลุ่มนี้ จึงจะสามารถครองใจผู้บริโภคแฟชั่นในยุคถัดไปได้

แต่ถึงที่สุด แม้ความหรูหราจะถูกเปลี่ยนนิยามไปตามยุคสมัย แต่ไม่ได้หมายความแบรนด์หรูจะอยู่ไม่รอด เพราะเอาเข้าจริงแบรนด์แฟชั่นหรูสามารถปรับตัวได้ เช่น ออกสินค้าที่สนองตอบต่อตัวตนของลูกค้ามากขึ้น ไม่ว่าจะในทางความเชื่อทางศาสนา วัฒนธรรม หรือไซส์เสื้อผ้าที่หลากหลาย ไม่จำกัดแค่หุ่นนายแบบ-นางแบบที่มีแค่ไม่กี่รูปทรง

แบรนด์หรูหรือไม่หรูจะอยู่รอดได้แน่ ถ้าปรับตัวไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภค

ข้อมูล – Quartz [1][2][3][4]

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา