เมื่อภาคธุรกิจแข่งขันสูง ไม่ว่าใครต้องหันมาเพิ่มมูลค่าสินเค้า แต่ผู้ประกอบการ SME ที่เป็นรายเล็กยังขยับตัวยาก เพราะต้องแก้ปัญหารายวัน ไหนพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป เช่น ธุรกิจอาหารคนรักสุขภาพก็เลือกกินมากขึ้น แล้วธุรกิจอาหารต้องปรับตัวอย่างไร?
กรุงไทยเผยทางรอด SME ธุรกิจอาหารต้องพัฒนา Functional Food
พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย บอกว่า ธุรกิจอาหารเป็นส่วนสำคัญของไทย แต่การแข่งขันภายในธุรกิจนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้ประกอบการต้องพัฒนา Basic Food (อาหารแบบพื้นฐาน) ให้แข่งขันได้มากขึ้น โดยใช้ Functional Food (การเพิ่มสารอาหารลงในอาหาร) เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าดั้งเดิม ปัจจุบันในประเทศไทยตลาด Functional Food มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 68,000 ล้านบาท
“Functional Food คือ การเพิ่มสารอาหารลงในอาหารพื้นฐานเพื่อเสริมสุขภาพเฉพาะด้าน เช่น นม ที่เพิ่มแคลเซียมเพื่อให้กระดูกแข็งแรง หรือ โยเกิร์ตที่เพิ่ม Probiotic ช่วยเรื่องการขับถ่าย ฯลฯ แต่จะไม่ใช่การแปรรูปสารอาหารให้เป็นแบบผง หรือยาแคปซูล โดยกระแส Functional Food น่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ”
ปัจจุบัน Functional Food เห็นได้ในตลาดทั่วไป เช่น นม น้ำผลไม้ ขนมปัง โปรตีนบาร์ ฯลฯ ที่เพิ่มสารอาหาร วิตามินให้ลูกค้าเลือกซื้อได้มากขึ้น ต้องยอมรับว่าส่วนมากผู้ประกอบการรายใหญ่ยังศึกษาและผลิต Functional Food มากกว่าผู้ประกอบการรายเล็ก แต่ก็มี SME หลายเจ้าที่สามารถเพิ่มสารอาหารให้สินค้าและเป็นผู้นำในตลาด เช่น Tofusan (โทฟุซัง) นมถั่วเหลืองพาสเจอร์ไรส์ Dairy Home (แดรี่ โฮม) มีสารเมลาโทนินสูงเพื่อให้นอนหลับสบาย DEVER energy เครื่องดื่มเจลให้พลังงานสำหรับนักกีฬา
Functional Food จะเติบโตแค่ไหน ภาครัฐ มหาวิทยาลัยสนับสนุนอย่างไรได้บ้าง?
ธนาคารกรุงไทยมองว่า Functional Food หรือตลาดอาหารที่มีนวัตกรรมในไทยจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าจะโตปีละ 4% และปี 2564 คาดว่าจะมีผู้ประกอบการด้านนี้เพิ่มขึ้นเป็น 9,000 ราย สาเหตุหลักเพราะ
- พฤติกรรมผู้บริโภคในไทยหาอาหารเสริมสุขภาพมากขึ้น จากข้อมูลสถาบันอาหาร (nfi) พบว่า 81% ผู้บริโภคในเมืองใหญ่บริโภคอาหาร Functional Food อย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ และข้อมูลจาก Mintel บอกว่า 38% ผู้บริโภคในไทยมองหาอาหารที่บำรุงสมอง
- กำไรจาก Functional Food (ในต่างประเทศ) สูงกว่าอาหารทั่วไปเกือบ 3 เท่า เช่น ผู้ผลิต Basic Food กำไรอยู่ที่ 2.8% แต่ผู้ประกอบการ Functional Food กำไรอยู่ที่ 7.3% สูงกว่าเกือบ 3 เท่า เนื่องจากอาหารกลุ่มนี้ราคาสูงกว่าอาหารทั่วไป 200-400% จะทำตลาดลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche) ได้ดีกว่า
- Functional Food เป็นธุรกิจที่ภาครัฐสนับสนุนให้ลงทุน ดังนั้นสามารถติดต่อภาครัฐเรื่องการทำ R&D และขอทุนได้ เช่น สถาบันอาหาร (nfi) สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
นอกจากนี้ตลาด Functional Food มีช่องว่างตลาดให้ SME ผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองตลาดได้อีกมาก เช่น กลุ่มอาหารให้พลังงาน กลุ่มควบคุมน้ำหนัก กลุ่มเสริมภูมิคุ้มกัน ฯลฯ
จะเริ่มทำ Function Food ได้อย่างไร?
- Functional Food เกิดมาเพื่อตอยสนองลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ดังนั้นผู้ประกอบการต้องศึกษาตลาดความต้องการผู้โภค เช่น ลงพื้นที่ หรือวิจัยความต้องการลูกค้า หรือหาแหล่งข้อมูล อาทิ nutritionaloutlook , Mintel
- ศึกษาสารอาหารที่ตอบสนองผู้บริโภค เช่น หน่วยงานที่ให้ความรู้ด้านสารอาหาร หน่วยงานด้านการวิจัย บริษัทที่ทำวัตถุดิบด้านสารอาหาร
- ทำ R&D โดยขอคำปรึกษาจากหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา ซึ่งบางแห่งจะมีทุนวิจัยช่วยเหลือ SME
สรุป
ผู้ประกอบธุรกิจอาหารต้องปรับตัวให้ทันผู้บริโภคอยู่เสมอ เพราะการแข่งขันสูง ราคาสินค้าเดิมจะขึ้นได้ยาก ก็ต้องเพิ่มมูลค่าเช่น Functional Food อย่างเพิ่มสารอาหารให้ตรงความต้องการผู้บริโภคราคาสินค้าก็เพิ่มขึ้นได้ แม้จะขายในตลาดเล็กลง แต่ถ้าขายได้มากขึ้น รายได้และกำไรบริษัทก็มากขึ้นด้วย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา