เครือสหพัฒน์ ร่วมญี่ปุ่น เปิดร้านทำสีผม Fufu เจาะกลุ่มพรีเมียม ต่อยอด EasyCut ร้านตัดผมแนวสะดวก

เครือสหพัฒน์ทำธุรกิจหลากหลาย และหนึ่งในนั้นคือธุรกิจเกี่ยวกับทรงผม ไล่ตั้งแต่การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม เช่น Wella Professionals และ BSC Hair Care ไปจนถึง EasyCut ธุรกิจร้านตัดผมที่ชูความสะดวก และราคาประหยัด ซึ่งล่าสุดกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทยเตรียมรุกตลาดร้านทำสีผมในชื่อ Fufu

Fufu คือแบรนด์ร้านทำสีผมจากประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งเมื่อปี 2014 มีสาขาที่นั่นราว 130 แห่ง ราคาเริ่มต้น 3,000 เยน หรือประมาณ 700 บาท ในบริการย้อมโคน จนถึง 5,800 เยน หรือประมาณ 1,300 บาท ในกรณีผมยาวมาก และต้องการย้อมสีผมทั้งหมด (ผมยาวกว่า 60 ซม.)

เบื้องต้น Fufu จะเปิดที่ทองหล่อเป็นสาขาแรกภายในปีนี้ และจะมีกว่า 20 สาขา ภายใน 3 ปี ทั้งหวังขยายไปถึง 100 สาขาในอนาคต ส่วนรายละเอียดของแผนดังกล่าวเป็นอย่างไร และโอกาสในธุรกิจร้านทำผมยังมีอยู่หรือไม่ Brand Inside ได้รวบรวมข้อมูลไว้ให้ดังนี้

Fufu

Fufu กับการบุกตลาดร้านทำผมพรีเมียม

เริ่มต้นที่ Fufu กันก่อน จากที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า Fufu จะเข้ามาให้บริการในประเทศไทยภายในปี 2024 ที่ย่านทองหล่อเป็นสาขาแรก ผ่านความร่วมมือทั้ง 2 บริษัท ราคาให้บริการเบื้องต้นอยู่ราว 1,500-5,000 บาท เน้นไปที่คนรุ่นใหม่ แต่ก็ยังเจาะกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีผมขาวผ่านบริการเติมโคนเช่นเดียวกับที่ให้บริการในประเทศญี่ปุ่น

เคน ทาคาฮาชิ ประธาน และผู้ก่อตั้ง บริษัท ฟาสต์บิวตี้ จำกัด ผู้ให้บริการร้านทำผม Fufu เล่าให้ฟังว่า Fufu คือร้านทำสีผมที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 ในประเทศญี่ปุ่น และนอกจากทำสีผม ยังมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แฮร์แคร์เช่นกัน ส่วนในประเทศไทยจะให้บริการที่รวดเร็ว คุณภาพสูง และราคาคุ้มค่าเช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่น

สำหรับช่างทำผมในร้าน Fufu จะมีการอบรมช่างชาวไทยผ่านทีมงานผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น ถือเป็นการสร้างโอกาสใหม่ให้กับช่างทำผมชาวไทย โดยในปี 2020 สำนักงานสถิติแห่งชาติมีการสำรวจพบว่า ในประเทศไทยมีร้านทำผมราว 1.2 แสนแห่ง คิดเป็นมูลค่าตลาด 60,000 ล้านบาท และรายได้หลัก หรือ 70% มาจากบริการทำสี กับดัดผม

Fufu

ไม่ใช่ครั้งแรกที่เครือสหพัฒน์รุกร้านทำผม

ร้านทำสีผม Fufu ไม่ใช่ครั้งแรกที่เครือสหพัฒน์รุกตลาดเกี่ยวกับร้านทำผม เพราะเมื่อปี 2005 เครือสหพัฒน์ได้ร่วมมือกับ QB Net ธุรกิจร้านตัดผมด่วนในชื่อ QB House จากประเทศญี่ปุ่น มีจุดเด่นคือตัดผมเสร็จภายใน 10 นาที เก็บเงินด้วยเครื่องหยอดธนบัตร ไม่มีบริการสระผม มีราคาเดียวคือ 100 บาท

เวลานั้นเครือสหพัฒน์ และ QB House ตั้งเป้าเปิดสาขาภายในปี 2005 ที่ 15 สาขา ใช้เงินลงทุนราว 25 ล้านบาท แต่ผ่านไป 5 ปี บริษัทจากญี่ปุ่นได้ถอนทุน ทำให้เครือสหพัฒน์ทำการปัดฝุ่นธุรกิจดังกล่าวพร้อมตั้งชื่อใหม่ว่า EasyCut ซึ่งธุรกิจนี้ดำเนินธุรกิจภายใต้ บมจ. โอ ซี ซี โดยเวลานั้นตั้งเป้าขยายเพิ่มปีละ 10 สาขา

พนักงาน EasyCut แจ้งว่า ปัจจุบันมีสาขาให้บริการ 14 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในสถานีรถไฟฟ้า ชูเรื่องความสะดวกเช่นเดิม ส่วนราคานั้นเตรียมปรับขึ้นเป็น 200 บาท แสดงให้เห็นถึงการทำธุรกิจร้านตัดผมในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะขนาดมี QB House ที่ปัจจุบันเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นเป็นเบื้องหลังยังขยายกิจการได้ลำบาก

EasyCut
ภาพจากเฟซบุ๊ก EasyCut

QB Net Holding ร้านตัดผมในตลาดหลักทรัพย์

เมื่อเอ่ยถึง QB House ทาง Brand Inside อยากแนะนำให้รู้จักกับ QB Net Holding ร้านตัดผมจากญี่ปุ่นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว โดยตัวธุรกิจก่อตั้งเมื่อปี 1996 ผ่านการวางตัวเป็นร้านตัดผมที่ตัดผมอย่างเดียว เน้นความสะดวก และราคาเข้าถึงได้ ประหยัดเวลาให้ทุกคนไปใช้ชีวิตได้ดีกว่าเดิม

ปัจจุบัน QB Net Holding ให้บริการร้านตัดผมในชื่อ QB House, QB PREMIUM, FaSS (ร้านตัดผมแนว Salon) และ บริการตัดผมที่บ้าน รวมถึงโรงเรียนสอนตัดผม โดยมีให้บริการในประเทศญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา, ฮ่องกง, สิงคโปร์ และไต้หวัน

ส่วนรายได้ ในปีงบประมาณที่จะสิ้นสุดเดือน มิ.ย. 2024 ช่วง 9 เดือนแรกทำรายได้ 18,247 ล้านเยน หรือราว 4,100 ล้านบาท ผ่านการมีสาขาทั้งหมด 690 แห่ง เป็นในประเทศญี่ปุ่น 561 แห่ง และคาดว่าทั้งปีงบประมาณที่จะสิ้นสุดเดือน มิ.ย. 2024 จะทำรายได้ 24,730 ล้านเยน หรือราว 5,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อน

อ่านเพิ่มเติม: #LetHerGrow แคมเปญดีๆ จาก Dove รณรงค์ยุติกฎการลงโทษตัดผมนักเรียน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา