กกร. มองเศรษฐกิจไทยปี 66 โตน้อยกว่าคาด-ส่งออกติดลบ ย้ำไทยต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ

วันนี้ (6 ธ.ค. 2566) สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2566 เติบโตได้น้อยกว่าที่คาด 9 เดือนแรกเติบโตได้เพียง 1.9% โดยการส่งออกยังชะลอตัวตามทิศทางประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะจีน การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวอย่างต่อเนื่องและชะลอการผลิตเพื่อเติมสินค้าคงคลัง นอกจากนี้ รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 28 ล้านคน แทนที่จะเป็นราว 30 ล้านคน การใช้จ่ายต่อหัวก็ลดลงเหลือเพียง 43,000 บาท จากที่เคยประมาณการ 45,500 บาท

ทั้งนี้ กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 ของ กกร. ล่าสุด (ณ ธ.ค. 66) คาดว่า

  • GDP ไทยจะอยู่ที่ 2.5-3.0% (GDP ปรับลดลงมาสู่ระดับนี้นับตั้งแต่เดือน ก.ย. โดยเดือน ส.ค. ยังประเมินว่า GDP ไทยจะอยู่ที่ 3.0-3.5%)
  • ส่งออกติดลบที่ -2.0 ถึง -1.0% 
  • เงินเฟ้อ 1.3-1.7%

ขณะที่เศรษฐกิจโลกปี 2567 มีแนวโน้มชะลอตัว ฝั่งสหรัฐฯ และยุโรปชะลอตัวจากภาวะการเงินที่ยังตึงตัวต่อเนื่อง ส่วนเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตไม่ถึง 5% เนื่องจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของเอเชียไม่รวมจีน (อาเซียน-5 เกาหลีใต้ และไต้หวัน) มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้นเฉลี่ยที่อัตรา 3.7% นอกจากนี้ ตะวันออกกลางและอินเดีย มีแนวโน้มเติบโตได้ในระดับสูงที่ประมาณ 3.4% และ 6.3% ตามลำดับ สามารถเป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และอาหาร

ในส่วนของเศรษฐกิจไทย ปี 2567 (ณ ธ.ค. 66) ประเมินว่า GDP จะอยู่ที่ 2.8-3.3% โดยการส่งออกจะเติบโตที่ 2.0-3.0% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 1.7-2.2%

แต่ยังมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะโตต่ำกว่า 3% จากปัจจัยต่างๆ ได้แก่

  • เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว 
  • ปัจจัยความเปราะบางในประเทศ เช่น หนี้ครัวเรือน, หนี้ของภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs, ปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ฯลฯ 

รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น ศักยภาพการเติบโตของประเทศที่ลดลง การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ทั้งด้านเทคโนโลยี, การเพิ่มผลิตภาพของแรงงานรับมือกับสังคมสูงวัย และการก้าวสู่ low carbon society 

ขณะที่ปัจจัยบวกสำหรับปี 2567 ได้แก่ 

  • การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 33 ล้านคน (เพิ่มขึ้นอีก 5 ล้านคนจากปี 2566) 
  • ในกรณีนโยบาย Digital Wallet ดำเนินการได้เต็มวงเงิน 500,000 ล้านบาท ประเมินว่าจะช่วยเพิ่มการเติบโตของ GDP ได้อีกอย่างน้อย 1-1.5%

ปี 2567 มีหลายปัจจัยแปรผันที่กระทบต่อเศรษฐกิจ ประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันเน้นไปที่การเร่งเจรจา FTA ดึงดูดการลงทุนในยุค Decoupling การดูแลต้นทุนราคาพลังงานควบคู่ไปกับการสร้างเสถียรภาพให้เกิดความสมดุล และการเตรียมความพร้อมด้านกำลังคน รวมถึงดึงดูดแรงงานต่างด้าวที่มีทักษะสูง 

นอกจากนี้ ต้องเร่งแก้ปัญหาความเปราะบางในประเทศ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่พบว่าหนี้เสีย (NPL) ในระบบธนาคารพาณิชย์ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 2.68% ณ ไตรมาส 1/2566 เป็น 2.79% ณ ไตรมาส 3/2566 จากทุกผลิตภัณฑ์และสินเชื่อรถยนต์ที่อยู่ใน stage 2 สูงราว 15% 

นอกจากนี้ หนี้นอกระบบเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจากการมี informal economy (เศรษฐกิจนอกระบบ) ขนาดใหญ่ โดยที่ประชุม กกร. เห็นว่ากลไกถัดไปในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบต้องผลักดันให้ลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อในระบบมากขึ้น รวมถึงการปรับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ด้วยการสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

ที่มา การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา