ปี 2020 ใกล้จะจบลงแล้วและกำลังจะเข้าสู่ปี 2021 ท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านคงมีแผนในใจว่าจะเริ่มทำอะไรใหม่ๆ ในปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนาตัวเองทั้งทางด้านความสามารถและสุขภาพ รวมถึง ลด ละ เลิก พฤติกรรมที่เราอาจจะมองว่าเป็นสิ่งที่ทำให้สุขภาพทางการเงินและร่างกายเสื่อมโทรมลง สำหรับคนที่เป็นพ่อแม่ ก็อาจจะกำลังหาแผนในการพัฒนาความรู้และความสามารถของบุตรหลานด้วยเช่นกัน วันนี้ ผู้เขียนจึงอยากนำแนวคิดที่ Warren Buffett อยากจะสื่อสารกับคนที่เป็นพ่อแม่มาฝากกันครับ
คงจะเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลกว่า Warren Buffett คือมนุษย์ที่เข้าใจการลงทุนดีที่สุดคนหนึ่งของโลก โดยตัวของคุณปู่ได้เริ่มลงทุนครั้งแรกเมื่อตอนอายุ 6 ขวบ โดยการลงทุนครั้งแรกของคุณปู่ไม่ได้ลงทุนในตลาดหุ้น แต่เป็นการลงทุนซื้อโค้กแบบแพ็คละ 6 ขวดมาขายปลีก พอโตขึ้นมาหน่อยก็เริ่มมีการขายหมากฝรั่งและนิตยสารไปตามบ้าน เรียกได้ว่าหัวการค้าตั้งแต่เด็ก แต่สิ่งที่ผมอยากจะนำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังในวันนี้ เป็นเรื่องที่ตัวคุณปู่มองว่าพ่อแม่สมัยนี้ทำผิดพลาดกันเป็นส่วนใหญ่
ความผิดพลาดนั้นก็คือ “พ่อแม่ได้เริ่มสอนเรื่องการเงินให้กับลูกๆ ช้าเกินไป”
คุณปู่ได้เล่าให้ฟังว่า “คุณพ่อของผมคือแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุด สิ่งที่ผมเรียนรู้จากเขาตอนที่ผมยังเป็นเด็กคือ การมีลักษณะนิสัยทางการเงินที่ถูกต้องตั้งแต่ยังเป็นเด็ก การออมคือบทเรียนที่สำคัญมากที่สุดที่ผมได้เรียนรู้จากคุณพ่อ”
ท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านคงเคยได้ยินคำว่า “คนที่รวยเขาไม่ได้รวยจากการออม แต่ที่รวยเพราะรายได้เพิ่มขึ้นต่างหาก” ซึ่งก็เป็นคำพูดที่ไม่ได้ผิดอะไร แต่การออมมันคือพื้นฐานที่สำคัญของความร่ำรวย ถ้าพื้นฐานไม่แข็งแรงก็ไม่สามารถรวยได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงได้ ถ้าเรามีรายได้ที่มากขึ้น แต่รายจ่ายกลับเพิ่มมากขึ้นกว่า เราก็คงจะเป็นได้แค่เพียงเศรษฐีระยะสั้นเท่านั้น
กลับมาในสิ่งที่คุณปู่ Warren อยากฝากถึงพ่อแม่ทุกคน โดยสิ่งที่ตัวเขามองว่าพ่อแม่มักจะทำพลาดกันก็คือการสอนเรื่องที่เกี่ยวกับเงินให้กับลูกๆ ช้าเกินไป โดยตัวคุณปู่ได้เน้นในเรื่องนี้ว่า “บางครั้ง พ่อแม่เอาแต่รอให้ลูกๆ โตขึ้นเป็นวัยรุ่นก่อนแล้วค่อยเริ่มสอนวิธีการบริหารจัดการเงินให้ ซึ่งจริงๆ แล้ว พ่อแม่ควรที่จะสอนเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่พวกลูกๆ ยังเป็นเด็ก หรือช่วงก่อนที่พวกเขาจะเข้าโรงเรียนได้เลยยิ่งดี”
ท่านผู้อ่านอาจจะประหลาดใจว่าจะให้สอนเรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินให้กับลูกๆ ในช่วงก่อนเข้าโรงเรียนเลยหรือ แต่คำพูดของคุณปู่นั้นไม่ได้มาแบบเลื่อนลอย เนื่องจากวงการการแพทย์ได้วิจัยแล้วว่า 80% ของสมองมนุษย์จะเติบโตได้ดีในช่วงอายุ 3 ขวบ ดังนั้น ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก ทางด้านมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ของอังกฤษก็มีผลวิจัยที่สอดคล้องไปในทางเดียวกัน โดยพบว่าเด็กอายุ 3 – 4 ขวบสามารถเข้าใจแนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับการเงินได้ และเด็กอายุ 7 ขวบสามารถเข้าใจแนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเงินได้เช่นกัน
ทางด้าน T.Rowe Price บริษัทด้านบริหารจัดการการลงทุนชื่อดังได้มีการทำวิจัยในปี 2018 จากพ่อแม่จำนวน 1,014 คู่ พบว่ามีเพียงแค่ 4% เท่านั้นที่ได้เริ่มสอนลูกๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเงินก่อนที่พวกเขาจะอายุ 5 ขวบ ซึ่งถือว่าน้อยมากๆ อีก 30% จากผู้ตอบแบบสอบถามบอกว่าได้เริ่มสอนตอนลูกๆ อายุ 15 ปีขึ้นไป และ 14% บอกว่าไม่เคยสอนเลยแม้แต่นิดเดียว
จากผลของการทำวิจัย จะเห็นได้ว่ามันไปในทิศทางเดียวกับที่คุณปู่ได้ออกมาเตือนถึงความผิดพลาดที่พ่อแม่มีต่อลูก ๆ อย่างการสอนเรื่องเกี่ยวกับเงินให้กับพวกเขาช้าเกินไป แต่คุณปู่ก็ตระหนักดีว่าที่คุณพ่อคุณแม่สอนเรื่องเงินให้กับลูกช้าเกินไปหรือไม่สอนเลย ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าตัวพ่อแม่เองก็ไม่ได้เข้าใจเรื่องการเงินด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดเพราะแต่ละคนก็มีปัจจัยแวดล้อมไม่เหมือนกันและถูกเลี้ยงมาไม่เหมือนกัน ดังนั้น คุณปู่จึงอยากจะฝากเทคนิคเล็ก ๆ น้อยๆ ให้คุณพ่อคุณแม่นำไปสอนลูกๆ กัน
สอนให้ลูกเป็นคนที่มีความคิดยืดหยุ่น
จุดประสงค์ในหัวข้อนี้คือ ต้องพยายามสอนลูกให้เป็นคนที่ไม่เลิกล้มความตั้งใจอะไรง่าย ๆ และสามารถคิดอะไรนอกกรอบได้ด้วย อย่างเช่น สอนให้ลูกวาดรูปและระบายสีจากสิ่งที่เห็นมา หรือนำสิ่งของเหลือใช้ภายในบ้านมาช่วยกันประดิษฐ์เป็นสิ่งของอะไรสักอย่างเพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขา และยังเป็นการสอนให้เขารู้จักคุณค่าของสิ่งของอีกด้วย
สอนให้รู้จักการออมเงิน
พ่อแม่จะต้องช่วยให้ลูก ๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการเงินและสอนให้เขารู้จักความแตกต่างระหว่างความต้องการกับความจำเป็น เมื่อลูก ๆ สามารถแยกความแตกต่างได้ จะทำให้เขาใช้เงินอย่างมีเหตุมีผลมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เงินที่พ่อแม่ให้ไปเหลือออมมากขึ้นเช่นกัน พ่อแม่อาจจะสอนลูกโดยการให้ลูกดูของจากในอินเตอร์เน็ตแล้วลิสต์รายชื่อของ 10 อย่างที่เขาอยากซื้อและให้เขาบอกความรู้สึกต่อของแต่ละอย่างว่า “มันเป็นแค่ความต้องการ หรือมันเป็นสิ่งที่จำเป็นจริง ๆ”
สอนให้เขารู้จักความต่างระหว่างราคาและมูลค่า
เรื่องนี้อาจจะดูเหมือนยากสักนิดนึง แต่จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้ยากอะไรเลย วิธีง่าย ๆ คือ พาลูก ๆ ไปห้างสรรพสินค้าเพื่อดูสินค้าที่พวกเขาต้องใช้เป็นประจำเช่นรองเท้า หมวก หรือเครื่องเขียน โดยสอนให้เขาเห็นถึงความต่างระหว่างสินค้าแบรนด์ดังกับสินค้าที่ราคาไม่แพงแต่คุณภาพใช้ได้ เพียงแค่มีตราสินค้าที่ไม่ดัง ถึงแม้ว่าสินค้าแบรนด์ดังจะมีรูปร่างหน้าตาหรือหีบห่อที่สวยงามน่าสนใจกว่าก็จริง แต่ราคาก็แพงกว่ามากเช่นกัน ในแง่การใช้งานก็อาจจะไม่ได้แตกต่างอะไรกันมากนักเหมือนกับราคาที่แตกต่างกันอย่างมหาศาล เชื่อว่าพวกเขาจะเห็นภาพได้เลยว่า “ราคากับมูลค่ามันคืออะไร”
สอนให้รู้จักการตัดสินใจที่ดี
จุดประสงค์หลักคือ “สอนให้ลูกสามารถตัดสินใจได้อย่างฉลาด เข้าใจความแตกต่างของแต่ละทางเลือก ซึ่งแต่ละทางเลือกจะส่งผลต่อผลลัพธ์ในอนาคตที่ต่างกัน” อย่างเช่น เราตั้งรางวัลให้กับผลการสอบของลูก ว่าถ้าได้มากกว่า 80% จะให้ของรางวัล 1 อย่างที่มีราคาไม่เกิน 500 บาท เมื่อเขาทำได้ เขาจะเข้าใจถึงรางวัลของความพยายาม สิ่งต่อมาคือ “แล้วตัวพวกเขาจะเลือกอะไรดี” ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้เขาเกิดกระบวนการทางความคิดว่าสิ่งที่เขาจะเลือกจะต้องเป็นสิ่งที่ทำประโยชน์สูงสุดให้กับตัวเขา รวมถึงจะได้เรียนรู้แนวคิด trade off ด้วย ที่จะต้องเลือกอย่างหนึ่งแล้วเสียไปอย่างหนึ่ง ดังนั้น จะต้องตัดสินใจให้ดีที่สุดเพื่อผลประโยชน์สูงสุดต่อตัวเขาเอง
สรุป
การสอนเรื่องเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ ให้กับบุตรหลานตั้งแต่พวกเขายังเป็นเด็กที่ยังไม่เข้าโรงเรียนไม่ใช่เรื่องที่เร็วเกินไป และการสอนเรื่องเงินให้กับพวกเขาตั้งแต่เด็กไม่ได้หมายความว่าเราจะสอนให้พวกเขาเป็นคน “หน้าเงิน” ตั้งแต่เด็ก แต่เป็นการสอนเพื่อให้พวกเขาสามารถบริหารจัดการสิ่งที่จะสร้างความสุขและความทุกข์แบบสุดๆ ในตอนที่พวกเขาเติบโตขึ้นอย่าง “เงิน” ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
ในทางกลับกัน เมื่อพวกเขาเข้าใจเรื่องเงินตั้งแต่ยังเด็ก มันจะช่วยให้พวกเขาเป็นคนที่มีเหตุมีผล สามารถตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้มันไม่ได้ส่งผลดีต่อสุขภาพการเงินของพวกเขาเท่านั้น แต่จะส่งผลดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของพวกเขาอีกด้วยครับ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา