เปิดมุมมอง “วิรไท สันติประภพ” กับเรื่องอนาคตเศรษฐกิจไทย และสกุลเงินดิจิทัล

เป็นการแสดงความเห็นครั้งสำคัญของวงการการเงินในประเทศไทย หลัง “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดใจตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจไทยโตจริงหรือไม่ จนไปถึงการออกกฎหมายกำกับสกุลเงินดิจิทัล

เศรษฐกิจยังไปได้ แม้ตะกุกตะกักบ้าง

แม้ตัวเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวแบบมีคุณาภาพมากกว่าเดิมในทุกทวีป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกิจกรรมต่างๆ ในโลกธุรกิจ, การจ้างงาน และรายได้ครัวเรือน แต่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ยังกังวลในเรื่องความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกอยู่บ้าง แม้ปีนี้จะคาดการณ์ GDP เติบโตประเทศไทยเติบโตที่ 3.9% ก็ตาม

“ปัญหาบางเรื่องไม่สามารถก้ด้วยนโยบายทางการเงินได้ เพราะว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง และยิ่งเศรษฐกิจไทยค่อนข้างพึ่งพาเศรษฐโลกเป็นอย่างมาก ผ่านการเน้นส่งออกสินค้า ซึ่งก่อนหน้านี้ก็อยู่แต่ในมือบริษัทใหญ่ๆ แต่ปัจจุบันก็เริ่มกระจายตัวมากขึ้น ทำให้หลากหลายอุตสาหกรรมเริ่มทำการส่งออกได้ดีกว่าเดิม” วิรไท กล่าว

ขณะเดียวกันภาพรวมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว สังเกตจากการที่ชาวต่างชาติเริ่มขยับตัวเข้ามาที่หัวเมืองรองบ้างแล้ว ดังนั้นกลไกเศรษฐกิจสำคัญทั้งสองตัว หรือการส่งออก และการท่องเที่ยวที่ต่างก็ดีขึ้น ทำให้ตัวภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2561 อยู่ในระยะปลอดภัย และเติบโตได้

ตัดจบหลายฝ่ายมองเศรษฐกิจโตไม่จริง

“การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยช่วงที่ผ่านมายังกระจายตัวไม่ได้มาก ไม่เหมือนในอดีต โดยเฉพาะปัญหาในชนบท เช่นเรื่องนโยบายการพยุงสินค้าทางการเกษตรเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา จนเกิดความต้องการเทียมขึ้นมา และตามมาด้วยหนี้สินของประชาชน ประกอบกับเรื่องปัญหาภัยแล้งที่หนักที่สุดในรอบ 40 ปี ก็ทำให้บางกลุ่มมองว่าเศรษฐกิจไม่โต”

แรงงานชาวไทย // ภาพจาก Shutterstock

ทั้งนี้การที่เศรษฐกิจเหมือนจะไม่เติบโตในสายตาหลายๆ คนนั้นอาจมาจากความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตร และราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ทำให้หนี้เพิ่มขึ้น จนการอัตราการจับจ่ายบริโภคของกลุ่มนี้ยังชะลอตัว แต่ภาพรวมยังคงเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม และการปรับตัวให้ได้คือหัวใจสำคัญในตอนนี้

มากกว่านั้นคือประเทศไทยอยู่ในสังคมผู้สูงอายุช่วงแรก ทำให้โอกาสที่รายได้ได้จะเข้าสู่ครัวเรือนลดลง พร้อมกับค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ทำให้ครอบครัวที่ไม่เตรียมพร้อมก็จะเกิดปัญหาในทันที ประกอบกับภาคอุตสาหกรรมเริ่มหันไปใช้เครื่องจักรมากกว่าเดิม จนแรงงานในโรงงานต่างๆ ต้องย้ายไปอยู่ในภาคบริการ ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอนเหมือนที่เก่า

ค้าปลีกในประเทศไทย // ภาพจาก Shutterstock

เร่งดูแลค่าเงิน-ห่วงแชร์เงินดิจิทัลระบาด

สำหรับปัญหาเรื่องค่าเงินบาทนั้น ทางธปท. มองว่าด้วยความไม่มั่นคงของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนลดลงโดยอัตโนมัติ ประกอบกับเศรษฐกิจประเทศฮื่นเริ่มแข็งแรงมากขึ้น เม็ดเงินไหลก็ไปตามที่ต่างๆ จนค่าเงินประเทศเหล่านั้นแข็งค่าขึ้นทันที ยิ่งไทยใช้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว เมื่อเงินไหลเข้าเยอะค่าเงินแข็งเป็นธรรมชาติ

ส่วนฝั่งเงินเฟ้อนั้น ราคาน้ำมันที่ต่ำ กับภัยแล้ง รวมถึงเรื่องการเติบโตของ E-Commerce ทำให้เงินเฟ้อในประเทศไทยยังต่ำอยู่ แต่ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยก็ยังมีอยู่ เช่นเรื่องความผันผวนในสินทรัพย์ต่างๆ เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาเป็นเวลานาน เช่นปีก่อนมีปัญหาเรื่อง B/E หรือการใช้ตราสารผิดประเภทด้วย

Bitcoin // ภาพ pixabay.com

ส่วนเรื่องสกุลเงินดิจิทัลนั้น ปัจจุบันยังมีความเข้าใจผิดของไทยจำนวนมาก เช่นเรื่องสกุลดิจิทัลไม่ใช่เงิน แต่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล และถึงแตะละสกุลจะมีจำนวนจำกัด แต่ด้วยการเกิดสกุลใหม่ขึ้นตลอดทำให้มีความเสี่ยงสูงกว่าเดิม ดังนั้นธปท. จะมีการออกกฎหมายมาคุมเรื่องนี้ เพราะค่อนข้างกังวลเรื่องการหลอกลวงในเชิงแชร์ลูกโซ่เช่นกัน

สรุป

จากการเปิดใจของ “วิรไท สันติประภพ” ชี้ให้เห็นว่าธปท. ยังมองเรื่องเศรษฐกิจไทย และสถาบันทางการเงินยังแข็งแกร่งอยู่ และน่าจะผ่านพ้นความเสี่ยงในเศรษฐกิจโลกไปได้ด้วยดี แต่ทั้งหมดนี้ต้องอยู่ที่การปรับตัวของภาคประชาชน และภาคธุรกิจด้วย จะให้พึ่งแต่ธปท. ก็คงไม่ได้

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Content Writer ที่สนใจในเรื่องของตลาดทุนทั้งในและต่างประเทศ กลุ่ม TMT (Technology, Media, Telecom) การควบรวมกิจการ (M&A) นโยบายทางเศรษฐกิจของไทยและต่างประเทศ รวมถึงสิ่งละอันพันละน้อยทางธุรกิจที่น่าสนใจ